“ประยุทธ์” ปาฐกถาพิเศษการประชุมทางวิชาการระหว่างประเทศด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริต เน้นย้ำทุกคนต้องเป็นพลังต่อสู้กับการคอร์รัปชัน ย้ำรัฐบาลหวังเปลี่ยนสังคมจากการโกงกินซึ่งหยั่งรากลึก เป็นสังคมโปร่งใสและเป็นธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (17 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมทางวิชาการระหว่างประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ครั้งที่ 3 (The Third Conference on Evidence-Based Anti-Corruption Policies - CEBAP III) ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจาก 12 ประเทศ ประกอบไปด้วย ผู้บริหารระดับสูง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงาน องค์กร สถาบันต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศจำนวนประมาณ 200 คน นับเป็นโอกาสดีที่ทั้งนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานด้านการต่อต้านการทุจริตได้มาร่วมอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายการต่อต้านการทุจริตที่ตั้งอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้จากผลการวิจัยและการสืบสวนสอบสวน
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนานและนับวันจะยิ่งเลวร้ายมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ประเทศต้องสูญเสียโอกาสในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการขาดความเชื่อมั่นจากสายตาของชาวต่างชาติ ทำให้ถูกปิดกั้นการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งยังทำให้ประเทศสูญเสียทรัพยากรแบบสูญเปล่า พวกเราทุกคนล้วนเป็นพลังสำคัญที่จะต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน และสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมการโกงกินที่หยั่งรากลึกมายาวนานให้เป็นสังคมที่โปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจของเราเดินหน้าต่อไปด้วยความเข้มแข็ง มั่นคง สร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศไทย ตลอดจนเป็นแนวทางที่ดีงามให้เยาวชนไทยยึดถือและนำไปปฏิบัติ รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน และกำหนดให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่ในทุกหัวข้อของการปฏิรูปและถือเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้เน้นย้ำมาตลอดว่าการแก้ไขปัญหาทุกด้านจะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันเป็นพลังขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบราชการ ข้าราชการทุกคนต้องนำแนวทางของหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะเป็นรากฐานที่ดีต่อการทำงานทุกระดับ ขั้นตอนการดำเนินงานทุกขั้นตอนต้องมีความโปร่งใส เป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้ ไม่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแม้จะเพียงเล็กน้อย
สำหรับหัวข้อของการประชุมปีนี้ คือ การต่อต้านคอร์รัปชันเชิงระบบ ที่เป็นการคอร์รัปชันที่มีความเชื่อมโยงระหว่างเงินและการเมือง และการครอบงำสถาบันของภาครัฐโดยกลุ่มทุนที่มีอำนาจทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว การยอมรับ เรียกร้อง และขู่เข็ญเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินสินบน การใช้อำนาจในทางที่ผิดผ่านทางระบบอุปถัมภ์และการเล่นพรรคเล่นพวก การยักยอกทรัพย์สินของรัฐ ตลอดจนการเปลี่ยนหรือผันการใช้งบประมาณภาครัฐอย่างไม่ถูกต้องซึ่งเป็นภัยอันตรายที่สามารถทำให้ประเทศเป็นอัมพาตได้
ประเทศไทยต้องสร้างรากฐานเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน ในสถานการณ์ปัจจุบันบางครั้งอาจมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มงวด เพื่อนำไปสู่การมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างแท้จริง แม้จะมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบออกมาบังคับใช้ แต่ทางออกของการแก้ไขปัญหานี้ ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน เปลี่ยนจากการเพิกเฉยและการยอมรับการทุจริตคอร์รัปชันมาเป็นพลังสำคัญในการต่อต้านอย่างจริงจัง และร่วมกันปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นสังคมที่มีบรรยากาศน่าอยู่ มีความชอบธรรมในทุกด้าน นำงบประมาณแผ่นดินที่ต้องสูญเสียไปกับการทุจริตคอร์รัปชันมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศของเราเพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานเรา
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกลไกหรือเครื่องมือที่เพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการภาครัฐแบบเดิม ได้แก่ กลไกด้านความโปร่งใส ด้านความพร้อมรับผิดและตรวจสอบได้ และกลไกการมีส่วนร่วมที่มากขึ้นของกลุ่มต่างๆ เช่นภาคประชาคมระหว่างประเทศ ภาคเอกชนในประเทศ ภาคการเงิน และกลุ่มวิชาชีพต่างๆ หรืออาจมีความจำเป็นที่ต้องใช้กลไกที่เป็นการสั่งการหรือการใช้อำนาจบังคับ
รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน และได้ดำเนินการเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสารโดยได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร การผ่านกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการประกอบธุรกิจ และอยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าร่วมใน Open Government Partnership หรือความร่วมมือรัฐบาลเปิด และการเข้าเป็นสมาชิกในข้อตกลงว่าด้วยการจัดซื้อภาครัฐขององค์การการค้าโลกเพื่อการพัฒนาด้านความโปร่งใส และความมีอิสระในการเข้าถึงของข้อมูลข่าวสารอันเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการต่อสู่กับการคอร์รัปชัน
นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มที่จะเป็นสมาชิกโครงการเพื่อความโปร่งใสในการสกัดทรัพยากรธรรมชาติ (Extractive Industries Transparency Initiative-EITI) ซึ่งเป็นมาตรฐานโลกที่กำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้มีบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเปิดเผยและตรวจสอบได้ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ประเทศผู้สมัครจะต้องปฏิบัติก่อนเพื่อการเป็นสมาชิก EITI ต่อไป รวมทั้งได้จัดทำโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency หรือ CoST) ในโครงการก่อสร้างภาครัฐขนาดใหญ่ และได้โยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดที่มีส่วนพัวพันกับคดีการทุจริตคอร์รัปชันซึ่งคดียังไม่สิ้นสุด เพื่อให้กระบวนการสืบสวนแล้วเสร็จโดยเร็วและสามารถดำเนินไปได้ โดยปราศจากการข่มขู่คุกคาม
การสืบสวนสอบสวนคดีคอร์รัปชันและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบธรรมภิบาลในระดับชาติ ถือเป็นความท้าทายของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยนโยบายที่ดีต้องมาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ และหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ดีมาจากงานวิจัย นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่สำนักงาน ป.ป.ช. ไม่ได้จำกัดตัวเองเพียงการทำงานด้านการสืบสวนสอบสวน หากแต่ยังได้สร้างเสริมสมรรถนะและความสามารถในการดำเนินงานผ่านการวิจัยและการบริหารจัดการข้อมูล
การประชุมทางวิชาการระหว่างประเทศฯ ในครั้งนี้ จึงช่วยสนับสนุนการทำงานที่ท้าทายของสำนักงาน ป.ป.ช. และนายกรัฐมนตรีหวังว่าผลของการประชุมนี้จะนำมาซึ่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมต่อไป รัฐบาลพร้อมที่จะรับฟังและนำไปเป็นข้อมูลเพื่อส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และปราบปรามการทุจริตของชาติให้หมดไป สุดท้ายนี้ ขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในสังคมไทย และได้มุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมที่เราอาศัยอยู่ให้ดีขึ้น