xs
xsm
sm
md
lg

ฤๅจะยอม “เสียของ” คำถามที่คนไทยต้องตอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ถึงเวลานี้ก็ใกล้ครบรอบ 1 ปีที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขันอาสาเข้ามาห้ามเลือดจากบาดแผลความขัดแย้งในบ้านเมืองแล้ว หากมองอย่างผิวเผินต้องถือว่า การขับเคลื่อนประเทศไทยสะสางปัญหา และวางรากฐานของชาติ ของ คสช.และรัฐบาล ภายใต้การนำของ “บิ๊กตู่” ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังติดเครื่องเดินหน้าไป แม้จะมีอุปสรรคขวากหนามบ้างประปราย

แต่หากมองลงลึกไปถึง “แก่น” ของปัญหา ก็ต้องยอมรับว่ายังมีปัญหาให้ คสช.และองคาพยพต้องสะสางอีกบานตะเกียง ตลอดเกือบ 1 ปีที่ คสช.เข้ามาสวมบทกรรมการหย่าศึกความขัดแย้งทางการเมืองก็พูดได้ว่าสอบผ่านแบบเฉียดฉิว สามารถคืนความสุขให้กับคนไทยได้ระดับหนึ่ง แม้จะมีข้อครหาเรื่องฝีมือในการบริหารเศรษฐกิจ แต่อย่างน้อยก็พอจะสร้างบรรยากาศความสงบ ปลอดภัยให้เกิดขึ้นได้อย่างค่อนข้างน่าพึงพอใจ ตาม “โรดแมป” ที่ได้วางเอาไว้ 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 การสร้างบรรยากาศปรองดองสมานฉันท์ให้เร็วที่สุด ระยะที่ 2 การใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว และดำเนินการบริหารราชการแผ่นดิน รวมไปถึงการปฏิรูปแก้ไขปัญหาผ่านองคาพยพที่ขนานนามกันว่า “แม่น้ำ 5 สาย” จนถึง ระยะที่ 3 การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนจะให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์

นับถึงตอนนี้ก็กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินโรดแมปในระยะที่ 2 ค่อนใกล้เข้าสู่ระยะที่ 3 ในช้าไม่นาน ซึ่งตัว พล.อ.ประยุทธ์เคยบอกไว้ว่า โรดแมปแต่ละระยะนั้นไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาตายตัว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และปัจจัยในหลายด้าน โดยในช่วงโรดแมปในระยะที่ 2 ถือเป็นช่วงวัดฝีมือ คสช.และองคาพยพในนาม “แม่น้ำ 5 สาย” ว่าจะนำพาชาติเข้าสู่โรดแมประยะที่ 3 ได้ลุล่วงตามเป้าที่วางเอาไว้หรือไม่

ส่วนเรื่องห้วงเวลานั้นต้องละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า ยังไม่มีใครล่วงรู้ได้แม้กระทั่งตัว “บิ๊กตู่”

มุมหนึ่งอาจถูกมองว่า คสช.หวงอำนาจที่ไม่กำหนดตายตัววัน ว. เวลา น. ว่าจะจบงานปิดจ็อบเมื่อไร แต่อีกมุมหนึ่งก็ต้องเข้าใจว่า 1 ปีของ คสช. และ 7 เดือนของรัฐบาล ยังไม่มีสิ่งใดการันตีให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้เลย จึงยังไม่ใช่เวลาเหมาะสมที่จะส่งสัญญาณมอบอำนาจคืนให้แก่ฝ่ายการเมือง

เหตุเพราะด้านหนึ่งในฐานะฝ่ายบริหารก็ยังต้องรับมือกับปัญหาสารพัดที่รุมเร้ารอคอยวันแก้ไข ทั้งเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ ราคาสินค้าทางการเกษตร ปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ที่ยังมีปัญหา คำเตือนจากยุโรปในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย หรือกระทั่งเรื่องเล็กๆ ที่เอาเข้าจริงไม่เล็ก อย่าง การขายสลากกินแบ่งเกินราคา 80 บาท และอีกหลายเรื่องยังไม่ได้เริ่มแก้ไขเลยด้วยซ้ำ

หลายๆ ปัญหาก็ไม่ได้ง่ายที่อย่างที่คาดการณ์ไว้ การมีอำนาจ “รัฐฏาธิปัตย์” หรือแปรเปลี่ยนมาเป็นมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็ไม่อาจทำให้ทุกเรื่องพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ยิ่ง “บิ๊กตู่” ย้ำแล้วย้ำอีกว่า ต้องใช้อำนาจที่มีในทางสร้างสรรค์แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็อาจเป็นตัวช่วยให้การปรับแก้ไขอะไรหลายๆ อย่างรวดเร็วขึ้น ในทางกลับกันหากเป็นช่วงเวลาปกติ ปัญหาเหล่านี้ก็จะถูกหมักหมมต่อไป เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านอำนาจและกฎหมาย รวมไปถึงผลประโยชน์ต่างๆ มากมาย

ขณะเดียวกัน “โจทย์หิน” เรื่องการปฏิรูปก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงไอเดียที่อยู่ในแผ่นกระดาษเป็นส่วนใหญ่ การขับเคลื่อนผลักดันออกมาเป็นรูปธรรมยังไม่มีให้เห็น นอกจากนี้หลายฝ่ายยังโฟกัสจับตาไปที่ “รัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่ที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯจัดทำเสร็จแล้ว และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเป็นเงื่อนไขและปัจจัยสำคัญที่จะชี้วัดว่า ประเทศไทยจะเดินไปทางไหน

หนำซ้ำไม่ทันไร “ฝ่ายการเมือง” ที่ดูเหมือนจะพยายามสงบนิ่งอยู่ในที่ตั้ง ก็อดรนทนไม่ไหวเรียงแถวกันออกมาเขย่า คสช.และองคาพยพอยู่เป็นระยะๆ โดยเฉพาะประเด็นเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมๆ กับการเรียกร้องให้กำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน และต้องยอมรับประชาชนบางส่วนก็เริ่มอึดอัดกับการคงอยู่ของ คสช. โดยเฉพาะพวกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบต่างๆ ไม่นับกับเสียงเรียกร้องจากนานาชาติอีก

ถามว่าหาก “บิ๊กตู่” บ้าจี้ตามแรงกดดันที่ว่านี้ เลือกที่จะกำหนดเวลาปลดระวางออกจากอำนาจ ทิ้งทุ่นไปแบบครึ่งๆ กลางๆ โดยไม่สนใจว่างานที่ตั้งใจเข้ามาทำสำเร็จลุล่วงไปมากน้อยเพียงไหน สิ่งใดจะเกิดตามมา

แน่นอนว่า “รัฐบาลทหาร” คงไม่ได้อยู่ยั้งยืนยง การกอดอำนาจไว้นานไม่เป็นทั้งผลดีกับตัวเอง และประเทศชาติ อีกไม่นานก็ต้องส่งไม้ต่อให้คนอื่น ซึ่งตามโรดแมปก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็เป็นบรรดานักการเมือง-นักเลือกตั้งที่เฝ้ารอนับถอยหลังถึงวันเลือกตั้ง

เมื่อนักการเมืองได้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง ในขณะที่ปัญหาต่างๆ ยังคงอยู่ กฎหมายยังล้าสมัย ระบบราชการยังไม่ได้สังคายนา และเรื่องต่างๆ ยังไม่ได้รับการปฏิรูป หรือถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยังใช้อำนาจตามอำเภอใจ ประพฤติชั่วร้าย ทุจริตคอร์รัปชั่น เหมือนที่ผ่านมา ความขัดแย้งระลอกใหม่ก็ตามมาในไม่ช้า

หากเป็นเช่นนั้น “บิ๊กตู่” และ คสช.ก็จะถูกตราหน้าว่า “เสียของ” ยิ่งกว่าการรัฐประหารครั้งไหนๆในประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะนอกจากไม่ได้แก้ปัญหา แต่ยังสุมปัญหาไว้อีรุงตุงนัง ที่สุดก็จะกลับไปสู่วังวนเก่า โดย “ผู้เล่น” หน้าเดิมๆ ก็เท่ากับว่านาวาประเทศไทยต้องพายอยู่ในอ่างน้ำแห่งความขัดแย้งต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด

ถึงตอนนี้ก็เหมือนเข้าโค้งวัดใจทั้ง “คสช.” และวัดใจทั้ง “คนไทย” ว่า เลือกแบบไหนระหว่างทนอึดอัด ในยุคที่ คสช.อาสาเข้ามาจัดการปัญหา ผลักดันเรื่องปฏิรูปไปให้สุด หรือเชียร์ให้ คสช.ผละมือจากอำนาจ และทำให้ประเทศไทยย้อนกลับเหมือนก่อนวันที่ 22 พ.ค. 57 อีกครั้ง




กำลังโหลดความคิดเห็น