xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ถกแผนจัดเวทีฟังความเห็น สปช. แนะใช้สถานที่รัฐบาล อย่าชี้นำชาวบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
กกต.ประชุมเชิงปฏิบัติการจัดเวทีสาธารณะสภาปฏิรูปฯ ให้ผู้บริหารเสนอปัญหา และแนวทางที่ถูกต้องในการจัดเวที ด้าน ปธ.กมธ.วิฯ มีส่วนร่วม บอกมีงบจำกัดขอให้ใช้สถานที่รัฐบาล วอนอย่าชี้นำ วางแผนดีๆ

วันนี้ (24 ม.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อเวลา 9.30 น. ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการจัดทำเวทีสาธารณะ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.)โดยมีผู้บริหาร ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้การเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่ 1-5 และสมาชิก สปช. “เพื่อสนับสนุนการจัดทำเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ”

โดย นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า กกต.พร้อมสนับสนุนการทำงานของ สปช.ในการปฎิรูป สร้างความปรองดอง และร่างรัฐธรรมนูญในทุกรูปแบบอย่างเต็มที่ จึงอยากให้ กกต.จังหวัดช่วยเสนอแนะปัญหา และสอบถามความชัดเจนเพื่อแนวทางการปฎิบัติที่ถูกต้องสำหรับการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขณะเดียวกัน เมื่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ทำหนังสือสอบถามเกี่ยวกับบทบาทอำนาจหน้าที่ และบทบาทในการจัดการเลือกตั้งของ กกต.มายังคณะกรรมการ กกต. ซึ่ง กกต.ได้มีการประชุมกัน และมีมติเป็นข้อมูลเพื่อเป็นข้อเสนอแนะและความเห็นเพื่อเสนอ สปช.ด้วย

ด้าน นายประชา เตรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สปช. กล่าวว่า ด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดขอให้ใช้สถานที่ของรัฐบาลเป็นสถานที่จัดประชุม และหากจังหวัดใดที่มีปัญหาของให้แจ้งมายังตน ซึ่งจะดูแลให้ ขณะเดียวกัน ในการจัดเวทีขอให้เชิญตัวแทนที่เข้าร่วมให้มีความหลากหลาย เน้นระดมความเห็นเรื่องทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นปัญหาร้ายแรงของประเทศ โดยการระดมความเห็นจะต้องไม่มีการชี้นำ นอกจากนี้ ขอให้วางแผนในการจัดเวทีเสวนาให้ดี ทั้งระยะเวลา และรูปแบบให้สอดคล้องต่องบประมาณ ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่นที่ต้องจัดให้ครอบคลุมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องในการนำมาใช้ในการปฏิรูป

นายประชา กล่าวว่า การจัดเวทีดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่เดือนก.พ.-ก.ย. ซึ่งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นทั้ง 77 จังหวัดจะต้องจัดเวทีจังหวัดละ 11 ครั้ง แบ่งเป็นระดับจังหวัด 1 ครั้ง และระดับอำเภอ 10 ครั้ง เพื่อนำความเห็นเสนอที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) รับทราบ ทั้งนี้ ในการจัดเวทีระดับอำเภอจะกำหนดกรอบรับฟังความเห็น 5 ประเด็น แต่จะมีประเด็นบังคับ 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.แนวทางการแก้ไขทุจริตและคอร์รัปชั่น 2.วิธีการเลือกนักการเมืองที่ดีเข้ามาทำหน้าที่การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม และ 3.การแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ซึ่งที่ผ่านมาไม่พบอุปสรรคในการดำเนินงาน เพียงแต่งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียง 255,000 บาท ในการจัดรับฟังความคิดเห็น 10 เวที ยังถือว่าน้อยมาก

นายประชา กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการจัดเวทีของสปช. เพราะเป็นเรื่องของการปฏิรูปประเทศอีก 20 ปีข้างหน้า อีกทั้งการคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ามาร่วมเวทีนั้น เน้นจากความหลากหลายไม่เน้นเฉพาะการเมือง แต่จะเน้นที่การแก้ไขด้านอื่นๆ ด้วย ดังนั้นในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกจะเป็นเรื่องของเวทีการสร้างความปรองดองที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอานาจักร (กอ.รมน.) เป็นผู้จัด ซึ่งจะมีการชี้ให้เห็นถึงความเที่ยงตรง ให้เห็นถึงหลักนิติรัฐและนิติธรรม เพราะเชื่อว่าคนทำผิดจะไม่ยอมรับว่าตัวเองผิด จึงต้องมีการชี้แจงให้ประชาชนได้เห็นถึงข้อมูลพยานหลักฐานรวมถึงข้อกฎหมาย ซึ่งตรงนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเวทีปฏิรูปและจะไม่นำมาอยู่ในเวทีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น