xs
xsm
sm
md
lg

เสียงส่วนใหญ่นิด้าโพล หนุนโกงไร้อายุความ ป.ป.ท.-ปปง.รวม ป.ป.ช. ฟ้องผ่าน อสส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โพลนิด้า เผยผลสำรวจเรื่อง ป.ป.ช. และคดีโกง ส่วนใหญ่หนุน ป.ป.ช.ฟ้องผ่าน อสส. เพื่อให้คดีหนักแน่น น่าเชื่อถือ มองคดีโกงไม่ควรมีอายุความ ขรก.ทุกระดับต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน แสดงความโปร่งใส เห็นด้วยรวม ป.ป.ท.-ปปง. ในสังกัด ป.ป.ช. แจงเพื่อลดการทำงานซ้ำซ้อน



วันนี้ (11 ม.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ป.ป.ช. และคดีทุจริตคอร์รัปชัน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5-9 ม.ค. จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับข้อเสนอมาตรการในการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้มีประสิทธิภาพเหมาะสม และสอดคล้องต่อสภาพปัจจุบันในประเด็นต่างๆ

จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการฟ้องร้องคดีทุจริตคอร์รัปชันของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ผ่านอัยการสูงสุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.60 ระบุว่า ป.ป.ช. ต้องฟ้องผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น เพราะควรทำตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทำให้คดีมีความหนักแน่น มีความน่าเชื่อถือ และมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น รองลงมา ร้อยละ 34.72 ระบุว่า ป.ป.ช. ควรมีอำนาจฟ้องตรงได้โดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด เพราะสามารถลดขั้นตอนต่างๆ ทำให้ดำเนินการพิจารณาคดีได้รวดเร็วขึ้น ป้องกันการแทรกแซงจากหน่วยงานอื่น ร้อยละ 13.92 ระบุว่า ป.ป.ช. ต้องฟ้องผ่านอัยการสูงสุดเว้นเสียแต่เกินกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ ก็สามารถให้ ป.ป.ช.ฟ้องโดยตรงเองได้ เพราะเป็นการให้เกียรติแก่อัยการสูงสุด เป็นการทำตามขั้นตอนในเบื้องต้น และร้อยละ 9.76 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดอายุความคดีทุจริตคอร์รัปชัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.24 ระบุว่า ไม่ควรมีการกำหนดอายุความ เพราะสามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้ตลอดเวลา รองลงมา ร้อยละ 25.76 ระบุว่า ควรมีการกำหนดอายุความที่แน่นอน เพราะเป็นการกระตุ้นการทำงานการดำเนินจับตัวผู้ต้องหา หรือจำเลย และไม่ทำให้เสียรูปคดี ขณะที่ ร้อยละ 14.08 ระบุว่า ควรมีการกำหนดอายุความ แต่จะยกเว้นการนับอายุคดีในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ทำการหลบหนี เพราะเป็นการป้องกันผู้ต้องหา หรือจำเลยหลบหนีคดี และร้อยละ 1.92 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินของข้าราชการ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.20 ระบุว่า ข้าราชการทุกระดับควรต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน เพื่อแสดงความโปร่งใสในการทำงานอย่างเท่าเทียมกันของข้าราชการในทุกระดับชั้น รองลงมา ร้อยละ 20.16 ระบุว่า ควรยื่นเฉพาะข้าราชการระดับตั้งแต่ผู้อำนวยการกอง หรือเทียบเท่าขึ้นไป เพราะมีโอกาสที่จะกระทำการทุจริตเช่นเดียวกัน ร้อยละ 17.76 ระบุว่า ควรยื่นเฉพาะข้าราชการเฉพาะระดับตั้งแต่อธิบดีหรือเทียบเท่าขึ้นไป เพราะการทุจริตคอร์รัปชั่นส่วนใหญ่เกิดจากข้าราชการระดับสูงขึ้นไป ร้อยละ 5.28 ระบุว่า ข้าราชการไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน เพราะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล และร้อยละ 1.60 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอให้มีการโอนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ไปเป็นหน่วยงานในสังกัด ป.ป.ช. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.84 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเป็นการลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน จะได้ช่วยกันทำงานให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขิ้น

ขณะที่ ร้อยละ 34.00 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการจำกัดขอบเขตของกฎหมายมากเกินไป อาจทำให้การดำเนินการต่อคดีต่างๆ เกิดความไม่โปร่งใส การทำงานในแต่ละส่วนเป็นคดีเฉพาะทาง และเป็นอิสะต่อกันอยู่แล้ว น่าจะมีความคล่องตัวมากกว่า และร้อยละ 10.16 ไม่ระบุ /ไม่แน่ใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น