รองประธาน สปท.เผยหลักสูตรการทำงาน สปท. พรุ่งนี้ตั้ง กมธ.ร่างข้อบังคับประชุม กมธ.ปฏิรูป 11 ด้าน 20 ต.ค.ประชุมความเห็นสมาชิกก่อนสรุปสู่แม่น้ำ 5 สาย ก่อนใช้ 1 เดือนกรองจัดลำดับปฏิรูป อีก 18 เดือนสรุปวิธีปฏิรูป ตั้ง กก.ปรองดองสานต่อชุด “เอนก” ยันคุมสภาได้ แม้มีคู่ขัดแย้งร่วม โต้ไร้โควตาตำแหน่งประธาน กมธ.
วันนี้ (18 ต.ค.) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยสูตรการทำงานของ สปท. 1+1+18 ภายใต้การทำงาน 20 เดือนว่า ระยะแรก 1 เดือนนับจากวันพรุ่งนี้ (19 ต.ค.) คือ การยกร่างกลไก ทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม และตั้งคณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านซึ่งจะใช้เวลา 1 เดือน โดยในวันที่ 20 ต.ค.เวลา 09.00 น.จะเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างความปรองดอง ก่อนนำข้อสรุปเข้าสู่การพิจารณาของการประชุมแม่น้ำ 5 สายในวันที่ 28 ต.ค.นี้ นอกจากนี้ ในวันที่ 20 ต.ค.จะมีการเปิดศูนย์สื่อสาร สปท.ที่รัฐสภา เพื่อเปิดช่องทางให้ประชาชนได้ส่งวิธีการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ระยะที่ 2 สปท.จะใช้เวลา 1 เดือนกลั่นกรอง 37 วาระการปฏิรูป และ 8 วาระการพัฒนา ของ สปช. เพื่อจัดลำดับความสำคัญ ก่อนจะใช้เวลา 18 เดือน ดำเนินการสรุปวิธีการปฏิรูปทั้งหมดส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนร่างกฎหมายจะส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
นอกจากนี้ นายอลงกรณ์ยังกล่าวถึงแนวทางการสร้างความปรองดองว่า ขึ้นอยู่กับข้อบังคับการประชุมที่จะร่างขึ้น และนโยบายของ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. แต่จากการหารือร่วมกันระหว่างประธานและรองประธาน เห็นว่า ประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญและมีความจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการสร้างความปรองดอง สานต่อแนวทางของคณะกรรมการชุดของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. ทั้งนี้ มั่นใจว่า จะสามารถควบคุมบรรยากาศการประชุมได้ แม้ว่าส่วนประกอบของ สปท.จะมีทั้งพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองคู่ขัดแย้งร่วมด้วย โดยจะทำให้ สปท.เป็นสัญลักษณ์และจุดเริ่มต้นของการปรองดอง ยอมรับว่าอาจเป็นเรื่องลำบากที่จะประสานแนวคิดทุกกลุ่มให้เป็นเอกภาพ แต่ยังมั่นใจว่าทุกฝ่ายมีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยนอกรอบระหว่างสมาชิกมากขึ้น
รองประธาน สปท.ยืนยันว่า ไม่มีการจัดสรรโควตาในตำแหน่งประธานและรองประธานแต่ละคณะกรรมาธิการอย่างเด็ดขาด เพราะทุกตำแหน่งจะมีคณะกรรมการกลั่นกรองบุคคลที่เหมาะสมเข้าทำหน้าที่ ไม่เหมือนกับสภาการเมือง ดังนั้นขอให้ลืมรูปแบบเดิมเรื่องการจับจองโควตาในอดีต