ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อหวังผลระยะสั้น โดยเฉพาะ “โครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล” ด้วยการสนับสนุนเงินลงทุนตำบลละ 5 ล้านบาท ให้กับ 7,255 ตำบล รวมวงเงิน 36,275 ล้านบาท ของรัฐบาลที่เพิ่งคิกออฟเดินหน้า
โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีการจัดคณะทำงานทั้งระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย หรือปลัดกระทรวงมหาดไทย รวมถึงอธิบดีกรมการปกครอง เรียกประชุมทางไกลหรือวีดีโอคอเฟอเร้นท์หลายครั้ง รวมถึงมีคำสั่งเป็นหนังสือหลายฉบับ และคำสั่งทางวิทยุต่อโครงการนี้ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประทศ ทั้งเป็นการชี้แจงประชาสัมพันธ์โครงการ รวมทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
อย่างมติ ครม.เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ได้มีมติเพื่อออกมาป้องกันความความเข้าใจที่สับสน ที่ชาวบ้านบางตำบลไปคิดว่าจะได้รับงบประมาณไม่ครบ 5 ล้านบาท ครม.ก็สั่งให้ขยายเวลาในการยื่นคำร้องขอรับเงินสนับสนุน จากเส้นตายเดิมในวันที่ 30 กันยายน ออกไปอีก 15 วัน เป็นจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา
รัฐบาลประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อหลายแขนง รวมถึงกระทรวงมหาดไทยก็สั่งการให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ไปทำการประชาสัมพันธ์ ทั้งการจัดทำป้าย ต่าง ๆ ในกรณีที่บางตำบลไปเข้าใจว่า จะได้งบประมาณไม่ครบ 5 ล้านบาท เพราะต้องไปหักเงินจากที่ได้รับจาก “นโยบายมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ตามมติครม. เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม จำนวน 4,966 โครงการ รวมวงเงิน 6,541 ล้านบาท
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการด่วน ให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ไปบอกกับประชาชนว่า “ทั้ง 2 โครงการเป็นคนละส่วนกัน เพราะมีวัตถุประสงค์โครงการแตกต่างกัน”
โดย “มาตรการสนับสนุนตำบลละ 5 ล้านบาท” เห็นได้จากการกำหนดให้ดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน 3 เดือนสุดท้ายของปี 2558 (ต่อมาขยายไปถึง 31 ม.ค.59) และ “โครงการช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ที่ใช้งบ 6,541 ล้านบาท เป็นการส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อสร้างงาน ซึ่งจะส่งผลในระยะยาว
รัฐบาลยืนยันว่า ทุกตำบลจะได้เงินสนับสนุน 5 ล้านบาท เท่ากันหมด เพียงแต่โครงการที่ยื่นของบประมาณจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่ยื่นไว้เดิม ทำให้ความสับสบว่า ถูกหักเงินบ้าง ข่าวลือว่าจะได้เงินไม่ครบบ้าง ได้ซาลงไปบ้างแล้ว
อีกประเด็น ล่าสุด การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ก็มีมติครม.ให้แก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน และขออนุมัติงบบริหารจัดการ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
โดย ครม.อนุมัติให้ “ขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณ” ให้แล้วเสร็จจาก “ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558” เป็น “ภายในวันที่ 31 มกราคม 2559”
เห็นชอบให้ “ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ” อาศัยอำนาจการบริหารตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 บูรณาการการบริหารจัดการการดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐในพื้นที่จังหวัดหรืออำเภอ โดยให้กระทรวง กรม ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐในพื้นที่จังหวัดหรืออำเภอ เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ทั้งด้านวัสดุ อุปกรณ์ บุคลากร หรือด้านอื่น ๆ ตามที่ได้รับการร้องขอจากผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ
อนุมัติในหลักการกรอบงบประมาณเพื่อการบริหารจัดการโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ของกระทรวงมหาดไทย จังหวัด กรมการปกครอง (ที่ทำการปกครองอำเภอ และตำบล) จำนวน 187,187,530 บาท จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และ/หรือ 2559 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ การติดตามตรวจสอบการดำเนินงานตามโครงการ การประชาสัมพันธ์ และอื่น ๆ โดยให้กระทรวงมหาดไทยประสานรายละเอียดงบประมาณกับสำนักงบประมาณ
แทนมติ ครม. เมื่อวันที่ 1 กันยายน เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณไปอีก 1 ปีให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558” เป็น “ภายในวันที่ 31 มกราคม 2559” โล่งใจแทน ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย
เมื่อวันก่อนกระทรวงมหาดไทย ก็ได้จัดประชุมซักซ้อมการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ให้แก่ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัดทุกจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นการเน้นย้ำ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเดินหน้าโครงการตำบลละ 5 ล้านบาทภายหลังได้ขยายระยะเวลาการดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณ
เชื่อว่าขณะนี้หลายจังหวัด ได้เริ่มประชุมบูรณาการกลั่นกรองโครงการนี้แล้วอย่างต่อเนื่อง และเสนอโครงการต่อกระทรวงมหาดไทยมาครบแล้ว
ขณะที่ สำนักงบประมาณ ก็แจ้งว่า ทุกตำบลได้ยื่นคำร้องขอรับเงินสนับสนุนจากงบที่ได้รับตำบลละ 5 ล้านบาท ครบทั้ง 7,255 ตำบลแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่การเสนอมายัง สำนักงบประมาณเขตพื้นที่ เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานีเสนอจำนวน 1,687 โครงการ วงเงิน 619,186,265 บาท จังหวัดลำพูน เสนอโครงการ ขออนุมัติเบื้องต้น รวม 729 โครงการ เป็นเงิน 235.6 ล้านบาทเศษ จังหวัดพะเยา ขอจำนวน 615 โครงการ เป็นเงิน 210,098,810 บาท เป็นต้น
ทราบว่าขณะนี้ สำนักงบประมาณ ก็กำลังตรวจสอบว่า มีคำร้องขอรับเงินสนับสนุนใดที่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่ใช้งบ 6,541 ล้านบาทบ้าง เห็นว่าเบื้องต้นมีประมาณ 400-500 ล้านบาท ซึ่งได้ตีกลับไปให้ตำบลดังกล่าวทำคำร้องขอรับเงินสนับสนุนเข้ามาใหม่ แต่ต้องเป็นโครงการอื่นที่ไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการเดิม
อย่าง คณะกรรมการกลั่นกรองระดับอำเภอ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีข่าวว่า ได้รวบรวมเอกสารโครงการที่หมู่บ้านตำบลเสนอของบประมาณในโครงการดังกล่าวที่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองระดับจังหวัดแล้ว พบว่า มีเพียง 5 อำเภอ มี อ.พลับพลาชัย บ้านใหม่ไชยพจน์ สตึก ปะคำ และ อ.ชำนิ จากทั้งจังหวัดมี 23 อำเภอ
ส่วนที่เหลืออีก 18 อำเภอถูกตีกลับไปแก้ไขเนื่องจากยังติดปัญหาเรื่องแบบแปลนโครงการ และแบบประเมินราคาไม่ครบถ้วน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องครบถ้วน
เป็นส่วนหนึ่งของความคืบหน้าและปัญหาของ “โครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล” ด้วยการสนับสนุนเงินลงทุนตำบลละ 5 ล้านบาท ที่รัฐบาลเห็นชอบให้มีการขยายเวลาเบิกงบประมาณนั้นเอง