xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! สรุปผล “โครงการตำบลละ 5 ล้าน” ฉบับผู้ตรวจสำนักนายกฯ พบ “ช่องโหว่” เพียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อึ้ง! สรุปผล “โครงการตำบลละ 5 ล้าน” ฉบับผู้ตรวจ สปน. พบหลายโครงการขาดความต่อเนื่องยั่งยืน ขาดการบริหารจัดการที่ดี ขาดองค์ความรู้ เผยบางตำบลหารเฉลี่ยงบประมาณทำโครงการเล็กแต่ปริมาณมากเกินความจำเป็น พบ “ซ่อมแซมศาลาประชาคม” มาอันดับหนึ่ง แต่อีกหลายตำบลเข้าใจปัญหา เน้นใช้งบพัฒนา “เศรษฐกิจพอเพียง-ซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก” เผย สตง.พบปัญหาโครงการที่ใช้วิธีการจ้างเหมา (งบลงทุน) ไม่มีการจ้างแรงงานในพื้นที่ ทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่ได้รับการช่วยเหลือตามวัตถุประสงค์ของมาตรการ

วันนี้ (9 ก.พ.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้เผยแพร่เอกสารรายงานผลการตรวจราชการแบบบูรณาการของผู้ตรวจราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ : มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล หรือ โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท จำนวน 43 หน้า

อ่านฉบับเต็ม http://www.opm.go.th/opmportal/multimedia/grichin/Documents/AIR/2016/air2016_stimulus.pdf

โดยตอนหนึ่งของรายงาน คณะผู้ตรวจราชการพบข้อสังเกตที่เป็นประเด็นสำคัญ พบว่า 1. ชาวบ้านบางกลุ่มไม่มีประสบการณ์ในการประกอบอาชีพที่ได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมทั้งด้านการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาด ซึ่งอาจทำให้โครงการไม่ประสบผลสำเร็จหรือไม่ยั่งยืน จำเป็นที่ หน่วยงานต่างๆ จะต้องเข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้ทั้งด้านวิชาการ การบริหารจัดการ และการตลาดเพิ่มเติม

2. หลายโครงการมีลักษณะเป็นการแจกจ่ายปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น หากขาดการบริหารจัดการที่ดี อาจทำให้โครงการไม่ประสบผลสำเร็จ เกิดประโยชน์เพียงระยะเวลาหนึ่ง ขาดความต่อเนื่องยั่งยืน

3. การดำเนินโครงการที่มีลักษณะการผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคยังขาดองค์ความรู้ในเรื่องมาตรฐานการผลิต เช่น การผลิตน้ำดื่มในภาชนะที่ปิดสนิท และการผลิตอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย เป็นต้น ซึ่งลักษณะผลิตภัณฑ์จะต้องดำเนินการผลิตให้ได้มาตรฐาน Primary GMP ต้องดำเนินการขออนุญาต หรือดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ระเบียบข้อกำหนด หรือกฎหมาย

4. การดำเนินมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท หลายตำบล ใช้วิธีการหารเฉลี่ยงบประมาณให้กับแต่ละหมู่บ้าน ผลที่เกิดขึ้น คือ โครงการมีขนาดเล็ก มีจำนวนโครงการมาก ส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านสิ่งก่อสร้างที่ไม่ส่งผลให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพโดยตรง และเป็นโครงการใหม่ ขาดความพร้อมในการดำเนินการ ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินโครงการ ตั้งแต่การจัดทำแบบรูปรายการละเอียด การประมาณราคาค่าก่อสร้าง และการดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อปริมาณโครงการที่มีจำนวนมาก และการขออนุญาตใช้พื้นที่ดำเนินโครงการ เนื่องจากขั้นตอนการขออนุญาตต้องใช้ระยะเวลานาน ประกอบกับ บางตำบล/อำเภอ พื้นที่ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ป่า หรือพื้นที่อุทยาน

5. บางตำบลมีการจัดทำโครงการลักษณะเดียวกันหลายโครงการ ที่อาจไม่ใช่ปัญหาสำคัญเร่งด่วนในพื้นที่ เช่น การปรับปรุงซ่อมแซมศาลาประชาคม เป็นต้น ส่งผลให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่คุ้มค่า

ทั้งนี้ จากผลการตรวจติดตาม และปัญหาอุปสรรคที่พบ คณะผู้ตรวจราชการได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบและหน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปพิจารณาดำเนินการ โดยมีผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะ ดังนี้

1. การจัดทำโครงการภายใต้มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท หลายตำบลใช้วิธีการหารเฉลี่ยงบประมาณตามจำนวนหมู่บ้าน ส่งผลให้โครงการมีขนาดเล็ก มีจำนวนโครงการมาก โครงการใหม่ขาดความพร้อมในการดำเนินการ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินโครงการ ดังนั้น การสนับสนุนงบประมาณควรเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้แผนหมู่บ้าน/ชุมชน/ตำบล และมีความพร้อม ดำเนินการได้ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพร้อมในเรื่องของพื้นที่ดำเนินการ ในเรื่องนี้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ได้แจ้งให้อำเภอเน้นย้ำคณะกรรมการหมู่บ้าน/คณะกรรมการชุมชน ร่วมกันพิจารณาปัญหาของหมู่บ้าน และจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของปัญหาให้ชัดเจนแน่นอน

2. การดำเนินโครงการภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรเน้นให้จัดทำโครงการที่มีผลให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ ไม่เป็นโครงการที่เป็นสิ่งก่อสร้าง ยกเว้นสิ่งก่อสร้างนั้นจะมีผลต่อการเพิ่มรายได้ของประชาชนอย่างชัดเจน เนื่องจากการสร้างงานสร้างอาชีพมีผลต่อการเพิ่มรายได้ และกำลังซื้อในระยะยาว ขณะที่โครงการที่เป็นสิ่งก่อสร้างต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ทำให้ การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า และประชาชนมีรายได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งสิ่งก่อสร้างที่เป็นบริการสาธารณะเป็นภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว ในเรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครองได้เสนอตัวอย่างลักษณะโครงการที่สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นสำหรับเป็นแนวทางการจัดทำโครงการ เช่น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเพื่อแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำตามแนวทางของมูลนิธิปิดทองหลังพระ การขยายโครงการพระราชดำริเกษตรผสมผสาน ทำนาหนึ่งไร่ได้หนึ่งแสน แก้มลิง ปลูกพืช 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เกษตรอาหารกลางวันตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี การปรับปรุงแหล่งน้ำ หรือสร้างภาชนะเก็บกักน้ำ ขยายระบบประปาหมู่บ้าน การพัฒนาหมู่บ้านชุมชนให้เป็น แหล่งท่องเที่ยว การจัดตลาดนัดชุมชน พัฒนา/ต่อยอดสินค้า OTOP เส้นทางขนส่งเพื่อน าสินค้าหรือผลิตผล ทางการเกษตรออกสู่ตลาด

3. การพิจารณาอนุมัติงบประมาณควรนำข้อเท็จจริงด้านราคาในแต่ละพื้นที่มาประกอบการ พิจารณาด้วย เนื่องจากในข้อเท็จจริงแม้จะเป็นจังหวัดเดียวกัน ต่างอำเภอ ต่างตำบล ความห่างไกลและความลำบากในการขนส่งย่อมมีความแตกต่างกัน เช่น พื้นที่ชายฝั่งและพื้นที่เกาะ พื้นที่ราบและพื้นที่ภูเขาสูง พื้นที่ในตัวจังหวัดและพื้นที่ห่างไกลจากตัวจังหวัด เป็นต้น ทำให้ต้องมีการปรับคุณลักษณะเฉพาะของวัสดุ ครุภัณฑ์ที่สามารถจัดหาได้ภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับซึ่งอาจส่งผลให้โครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์

ในเรื่องนี้ สำนักงบประมาณได้นำราคาตามบัญชีราคารายจังหวัดของสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ค่าแรงตามบัญชี ค่าแรงสำนักมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมบัญชีกลาง บัญชี ราคามาตรฐานครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง และอัตราราคางานต่อหน่วยของสำนักงบประมาณ ราคาที่สำนัก งบประมาณเคยอนุมัติ หรือราคาที่สืบจากท้องตลาด เว็บไซต์ต่างๆ เป็นราคาอ้างอิง รวมทั้งพิจารณาตามคุณ ลักษณะเฉพาะของวัสดุครุภัณฑ์ และระยะทางในการขนส่งที่จังหวัดส่งมาประกอบการพิจารณา อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่บางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่พิเศษ เช่น พื้นที่ชายฝั่ง พื้นที่เกาะ พื้นที่ภูเขาสูง เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถจัดหาหรือ ดำเนินโครงการได้ภายในวงเงินที่สำนักงบประมาณอนุมัติ จังหวัดสามารถชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมส่ง รายละเอียดโครงการเพิ่มเติม เพื่อให้สำนักงบประมารณพิจารณาทบทวนอนุมัติความเหมาะสมของราคาได้

4. การติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ควรเน้นการตรวจติดตามเชิงบวก โดยการให้คำแนะนำแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่เจ้าหน้าที่ตั้งแต่ก่อนเริ่มและระหว่างการดำเนินโครงการจะช่วยป้องกันมิให้เกิดข้อผิดพลาด และการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนมิต้องมาแก้ไขในภายหลังซึ่งจะทำให้การดำเนินโครงการต้องล่าช้าออกไป

ในเรื่องนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบ ป้องปรามโดยแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับอำเภอให้ปฏิบัติงานในการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามขั้นตอน หลักเกณฑ์ แนวทางปฏิบัติ และระเบียบแบบแผนของราชการ รวมทั้งให้ติดตามการดำเนินการ โครงการก่อนการเบิกจ่ายเงิน เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้บริหารระดับจังหวัดให้ความสำคัญกับโครงการและ มีส่วนร่วมในการควบคุม สำหรับระหว่างดำเนินโครงการเมื่อตรวจสอบพบว่าโครงการไม่สอดคล้องกับ วัตถุประสงค์ของมาตรการหรือขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะเสนอรายงานทันทีเพื่อให้ผู้รับผิดชอบโครงการทบทวน ซึ่งผู้รับผิดชอบได้ขอยกเลิกหลายโครงการ หรือปรับเปลี่ยนโครงการใหม่ รวมทั้งได้นำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินโครงการทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ข้อสังเกตบางส่วนที่ตรวจพบเช่นเดียวกับ ผลการตรวจติดตามของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเงินงบประมาณ ได้แจ้งให้กระทรวงมหาดไทยกำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินงาน เพื่อจำกัดจุดอ่อนในการดำเนิน โครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล อาทิ โครงการที่ใช้วิธีการจ้างเหมา (งบลงทุน) ไม่มีการจ้างแรงงานในพื้นที่ ทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่ได้รับการช่วยเหลือตามวัตถุประสงค์ของมาตรการ โครงการของแต่ละอำเภอมีจำนวนมาก และต้องเร่งรีบดำเนินการ แต่มีข้าราชการจำนวนจำกัด จึงมีการแต่งตั้งผู้ที่ไม่มีความชำนาญมาปฏิบัติงานในโครงการ เช่น แต่งตั้งหัวหน้าป้องกันและรักษาความสงบเป็นประธานกรรมการกำหนดราคากลาง เป็นต้น บางโครงการไม่ได้มาจากความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่มีลักษณะผลประโยชน์แอบแฝง เช่น

เสนอโครงการขุดลอกสระน้ำทั้งที่ไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำ แต่คณะกรรมการหมู่บ้านเสนอโครงการเพื่อเป็น ประโยชน์กับหมู่บ้านใกล้เคียง เป็นต้น การใช้วัตถุดิบประเภทผงปรุงรสและผงเติมรสในโครงการส่งเสริมอาชีพ การท าอาหารมากเกินความจำเป็นและน่าจะมีผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน เอกสารสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ไม่กำหนดขอบเขตงานจ้าง ไม่มีรูปแบบรายการ งานไม่แล้วเสร็จตามสัญญาและไม่มีค่าปรับ และกำหนด ระยะเวลาการรับประกันความชำรุดบกพร่องต่ำกว่า 2 ปี สำหรับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้จัดอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้าง แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและมีแนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้าง ให้เป็นไปโดยชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย

5. ตามระเบียบหรือกฎที่เกี่ยวข้องกับการพัสดุ กำหนดให้ทรัพย์สินของส่วนราชการเจ้าของงบประมาณ รวมทั้งผลผลิตและรายได้ที่เกิดขึ้นจากการใช้วัสดุครุภัณฑ์ของโครงการ (ถ้ามี) ด้วย ซึ่งอาจทำให้โครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยควรกำหนดเงื่อนไขไว้ตั้งแต่เริ่มดำเนินมาตรการให้ชัดเจนว่า วัสดุครุภัณฑ์ที่จัดหาตลอดจนผลผลิตต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการเป็นกรรมสิทธิ์ของกลุ่มเป้าหมายโครงการ เพื่อไม่ให้เกิดภาระในการบริหารจัดการของส่วนราชการเจ้าของงบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพย์สินที่ต้องมีการดูแลบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง หรืออาจเกิดความชำรุดบกพร่องได้ง่าย ในเรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยได้รวบรวมและประมวลปัญหาอุปสรรคจากการติดตามประเมินผลการตรวจราชการ โดยได้ให้ความสำคัญและคำนึงถึงปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการมาพิจารณาในการกำหนดแผนงานโครงการ การสั่งการ การปฏิบัติให้ถูกต้องตามแนวทาง ที่ผู้บังคับบัญชากำหนด แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่องกันหลายหน่วยงาน จะได้มีการบูรณาการร่วมกันในระดับส่วนกลางก่อน เพื่อกำหนดหลักในการปฏิบัติให้ชัดเจน และไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการพิจารณาสั่งการในพื้นที่จังหวัด และมีเวทีให้ส่วนกลางที่มีแผนงานร่วมกันได้ปรึกษาหารือกัน ในประเด็นต่างๆ ด้วย ในการตรวจราชการแบบบูรณาการของคณะผู้ตรวจราชการได้มีข้อเสนอแนะ/คำแนะนำ แก่กลุ่มเกษตรกร/ชุมชน ในกระบวนการจัดการและดูแลทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ซึ่งช่วยให้การดำเนินโครงการเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น