xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“สสส.” ส.ไหน...ให้ทุนเฟร่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส.
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในบรรดาองค์กร “ตระกูล ส” ทั้งหลาย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ถือเป็นองค์กรที่มีงบประมาณจำนวนมหาศาลและถูกจับตามองมากที่สุดองค์กรหนึ่ง

กล่าวคือจากเดิมช่วงก่อตั้งเมื่อปี 2544 ได้รับงบประมาณจากภาษีสุรายาสูบประมาณ 1,500ล้านบาท จนล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาทแล้ว ถือเป็นแหล่งทุนชั้นดีให้แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ที่แห่เข้ามาของบประมาณจัดทำโครงการ งานวิจัย กิจกรรมต่างๆ มากมาย

ที่ผ่านมา สสส.ถูกเพ่งเล็งเรื่องการใช้งบประมาณมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นองค์กรที่มี พ.ร.บ.เฉพาะของตัวเอง แหล่งที่มาของงบประมาณก็ไม่ได้มาจากระบบปกติ ขณะที่การอนุมัติงบประมาณต่างๆ ก็ไม่อยู่ในแผนงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล เพราะสามารถดำเนินการอนุมัติได้เอง ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการแผน ผู้จัดการ สสส. และบอร์ด สสส.

ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ให้ทุนแต่กลุ่มก๊วนหน้าเดิมๆ เรียกได้ว่าแทบ “ผูกขาด”กับ “เจ้าประจำ” กันแทบทุกปี

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกที่ช่วงยุคปฏิรูป ภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) องค์กร “คนดี” อย่าง สสส.จะถูกล็อกเป้าหมายสแกนการใช้งบประมาณ โดยคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ซึ่ง พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธาน คตร.ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า พบการใช้จ่ายงบประมาณส่วนหนึ่งที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544และการอนุมัติกองทุนก็ไม่ได้ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงโดยชัดเจน ซึ่งได้รายงานผลการตรวจสอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.รับทราบแล้ว

“พบการใช้งบประมาณส่วนหนึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน มีการเบิกจ่ายให้บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรต่างๆ ซึ่งไม่ได้ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงโดยชัดเจน ที่สำคัญยังเป็นภาษีจากเหล้าและบุหรี่ ทั้งที่วัตถุประสงค์ของกองทุนนี้คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนงดการสูบบุหรี่และงดดื่มเหล้า เพื่อทำให้สุขภาพแข็งแรง แต่บางกิจกรรมกลับไม่ส่งผลโดยตรงให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี”ประธานคตร.แจกแจงรายละเอียด

“บิ๊กตู่”จึงได้มีคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สธ.ตั้งคณะกรรมการเข้าไปกำกับดูแลกำหนดทิศทางการทำงานของ สสส.ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยมี นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษา รมว.สธ.เป็นประธาน ซึ่งเป็นการทบทวนการทำงานของ สสส.ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ พ.ร.บ.สสส.หรือไม่ และควรจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร มีระยะเวลากำหนดการทำงาน 3 เดือน ซึ่งเพิ่งมีการประชุมนัดแรกไปเมื่อวันที่ 13ต.ค.ที่ผ่านมา

เรื่องนี้หลายคนในแวดวงสาธารณสุขต่างก็แปลกใจ และตั้งข้อสงสัย เพราะผลตรวจสอบคือ พบการใช้งบประมาณไม่ตรงวัตถุประสงค์ เช่นเดียวกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) บิ๊กตระกูล ส.อีกองค์กรที่ถูกเอกซเรย์ไปก่อนหน้านี้ จนทำให้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.ต้องถูกปรับย้ายโดยอาศัยอำนาจของมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557ในที่สุด แต่ผู้จัดการ สสส.ยังไม่ถูกปรับย้าย เป็นเพราะมีการใช้พลังภายในอะไรกันหรือไม่

สำหรับการให้ทุนของ สสส.ที่เข้าข่ายไม่ตรงตามวัตถุประสงค์มีเป็นจำนวนมาก ทั้งงานสวดมนต์ข้ามปี ที่ควรเป็นงานของกระทรวงวัฒนธรรม การตั้งศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ที่เป็นบทบาทของกระทรวงคมนาคม นอกจากนี้ ยังพบการให้ทุนสนับสนุนในงานด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และศิลปวัฒนธรรมด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ทุนด้านการเมือง ในโครงการสำรวจภูมิทัศน์การเมืองไทย ที่พบว่าเน้นศึกษาเรื่องของความขัดแย้งทางการเมือง กลุ่มคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง ความเหลื่อมล้ำทางฐานะ เศรษฐกิจ เรียกว่า เป็นความขัดแย้งทางการเมืองของการกระจายทรัพยากร รวมไปถึงเรื่องของพลเมืองใหม่ ที่ให้การสนับสนุนการเลือกตั้ง ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ และข้อโต้แย้งต่อมุมมองของการศึกษา สังคมการเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส.จะออกมาให้สัมภาษณ์แล้วว่าโครงการดังกล่าวเป็นเพียง 1 ใน 14 เรื่องย่อย ของ 12 เรื่องใหญ่นโยบายสาธารณะที่จะนำเป็นข้อมูลไปใช้ในการวางแผนด้านสุขภาพ แต่จากตัวสรุปผลโครงการสำรวจภูมิทัศน์การเมืองไทย ก็มิได้มีส่วนใดที่บ่งบอกชัดเจนว่าข้อมูลการศึกษาดังกล่าวจะนำมาไปใช้วางแผนงานด้านสุขภาพอย่างไร ซึ่งเป็นส่วนที่ สสส.ต้องตอบคำถามสังคมให้ชัดเจน

นอกจากนี้ ยังพบโครงการที่ดูไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอีกหลายเรื่อง เช่น ปฏิรูปประเทศไทยระบบการคลังปิโตรเลียม : ประสิทธิภาพและความเป็นธรรม ของคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดทำโดยแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี(นสธ.) สนับสนุนโดย สสส.

ที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ก็คือ จากการตรวจสอบรายงานฉบับเต็มของโครงการทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย พบว่า คณะผู้วิจัยประกอบด้วย นายอภิชาต สถิตนิรามัย นายยุกติ มุกดาวิจิตร และนายนิติ ภวัครพันธุ์ โดยในส่วนของบทสรุปของโครงการดังกล่าว ไม่ได้มีส่วนใดที่กล่าวถึงเรื่องของสุขภาพ แต่พูดถึงเรื่องของความขัดแย้งทางการเมือง ที่มีรากฐานจากความขัดแย้งเชิงกลุ่ม - ชนชั้นทางเศรษฐกิจ คือ ระหว่างชนชั้นกลางระดับล่าง และชนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป หรือกลุ่มเสื้อแดง และเสื้อเหลือง เรียกว่า เป็นความขัดแย้งทางการเมืองของการกระจายทรัพยากร รวมไปถึงเรื่องของพลเมืองใหม่ ที่ให้การสนับสนุนการเลือกตั้ง ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ และข้อโต้แย้งต่อมุมมองของการศึกษา สังคมการเมืองไทย แต่ไม่มีส่วนใดที่ระบุถึงเรื่องของสุขภาพ

หรือโครงการวิจัยเรื่องการยกระดับขีดความสามารถและนัยยะต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมในระดับจังหวัด: กรณีศึกษาอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ งานวิจัยการประเมินศักยภาพของอาจารย์และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ทำอย่างไรมหาวิทยาลัยจะเป็นหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทพ.กฤษดา ตั้งโต๊ะแถลงข่าวย้ำชัดถึงการทำงานของ สสส.ที่ตรงวัตถุประสงค์ 6 ข้อคือ 1. ส่งเสริมสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ 2. สร้างความตระหนักของประชาชนเพื่อลดความเสี่ยง ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ 3. สนับสนุนการรณรงค์เพื่อลดการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4. สนับสนุนการวิจัยที่ทำให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพ 5.พัฒนาความสามารถของชุมชน องค์กรเอกชน องค์การสาธารณประโยชน์ และหน่วยงานภาครัฐ และ 6. สนับสนุนการจัดกิจกรรมและสื่อเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ นอกจากนี้ ยังดำเนินการตามกฎบัตรออตตาวาชาร์เตอร์ เพื่อสนับสนุนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะปัจจัยเสี่ยงเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดเป็นคำถามที่คาใจผู้คนอย่างมาก ถึงการตีความคำว่า “สุขภาพ” ที่ สสส.ดูเหมือนจะโยงทุกเรื่องให้กลายเป็นสุขภาพไปเสียหมด จึงกลายเป็นการให้ทุนที่เวอร์เกินไปหรือไม่ เพราะแม้แต่นายกรัฐมนตรี ยังพูดชัดเจนว่า การทำงานที่กว้างขวางเกินไป แล้วผูกโยงมาเรื่องสุขภาพ มันไกลเกินไปหรือไม่ที่จะเอาเงินไปใช้อย่างนั้น

“ผลการตรวจสอบของ คตร.ที่เสนอมา ไม่ได้ชี้ว่าผิดหรือถูก เพราะข้อกฎหมายที่เขียนไว้เดิม หรือระเบียบแต่ละอันของกองทุนต่างๆ เขียนไม่ชัดเจน ส่งผลให้การพิจารณากว้างขวางเกิน ไม่ได้ตีกรอบว่าต้องทำแค่ไหน ซึ่งการใช้งบไปไกลขนาดนั้นอาจจะไม่ผิดก็ได้ เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมายกำลังพิจารณาระเบียบใหม่ ซึ่งต้องทำให้ถูกต้อง ส่วนในเชิงบริหารต้องมีมาตรการลงโทษปรับเปลี่ยนในทางการปกครอง ถ้าทำงานไม่ได้ผลก็ต้องปรับย้ายออก ถ้าเจอสิ่งที่ผิดกฎหมาย มีผลประโยชน์อะไร ก็ไปฟ้องร้องเอา โดยส่งศาล”พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เช่นเดียวกับ นพ.ปิยะสกล ที่มองว่า การโยงทุกเรื่องเข้ามาเป็นเรื่องสุขภาพเช่นนี้ ทำให้ดูเหมือนไม่มีจุดสิ้นสุด ซึ่งแนวทางที่จะให้ คกก.กำหนดทิศทาง สสส.ดำเนินการคือ ต้องตีกรอบการทำงานด้านสุขภาพให้ชัดเจน โดยยึดตาม พ.ร.บ.สสส.ก่อน

แม้แต่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ยังให้ข้อมูลในทำนองเดียวกันว่า หากเป็นเรื่องของสุขภาวะก็จะโยงทุกสิ่งทุกเรื่องเข้ามาเกี่ยวข้องได้ทั้งหมด แต่อำนาจของ สสส.คือเรื่องสุขภาพ การทำงานมองว่าต้องทำให้ชัดเจนตามกฎหมายที่มี เพราะการทำงานที่กว้างจนเกินไป ทำให้มองว่าการดำเนินงานของ สสส.ดูไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพ ดังนั้น การเข้าไปสนับสนุนโครงการต่างๆ ของ สสส.ก็ต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน และอธิบายได้ชัดเจนว่าให้ผลลัพธ์ทางสุขภาพอย่างไร

ยกตัวอย่าง เรื่องสิ่งแวดล้อมบางเรื่องก็เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ เช่น อากาศเป็นพิษจากโรงงาน ส่งผลต่อทางเดินหายใจ แร่โลหะหนักจากเหมืองทองคำในน้ำ มลภาวะที่ก่อให้เกิดเชื้อโรค เป็นต้น แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ดังนั้น องค์ประกอบของบอร์ด สสส. ผู้อนุมัติแผนงานโครงการต่างๆ ต้องมีองค์ความรู้พิจารณาอย่างรอบคอบ ทุกอย่างก็จะชัดเจน แต่หาก สสส.มั่นใจว่าดำเนินการถูกต้อง ก็สามารถชี้แจง อธิบายต่อ คตร.ได้

ประเด็นสำคัญคือ การตีความเรื่องสุขภาพที่กว้างเกินไปของ สสส.เป็นเพราะที่ผ่านมาไม่เคยถูกตรวจสอบเลยว่า ลักษณะใดทำได้หรือทำไม่ได้ เป็นไปตามวัตถุประสงค์จริงหรือไม่ ทำให้เกิดความเคยชินว่าสิ่งที่ตัวเองทำมาตลอดนั้นถูกต้อง

นพ.เจตน์ กล่าวว่า สสส.ถูกตรวจสอบหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ผู้ตรวจสอบภายใน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ซึ่งดูแค่เรื่องของการเบิกจ่ายเงินว่าถูกต้องหรือไม่เพียงอย่างเดียว และถูกตรวจสอบขั้นสุดท้ายโดยสภา ซึ่งการตรวจสอบในชั้นนี้ก็ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด ซึ่งที่จริงแล้วองค์กรที่มี พ.ร.บ.เฉพาะเช่นนี้ควรถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นรอบด้าน ทั้งเรื่องของความโปร่งใส บัญชี และธรรมาภิบาล เช่นเดียวกับบริษัทในต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล แต่ประเทศไทยไม่มีองค์กรตรวจสอบที่เป็นกิจจะลักษณะเช่นนี้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ใน 3 หลักการนี้หรือไม่ สตง.ก็แค่ตรวจสอบด้านบัญชี การเบิกจ่ายงบประมาณเพียงด้านเดียวเท่านั้น ที่สำคัญคือเมื่อไม่ได้ถูกตรวจสอบเช่นนี้ ก็จะเกิดความคิดว่า สิ่งที่ตัวเองทำอยู่ปกติมาตลอดและทำมานานนั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง

ดูจากท่าทีการแถลงข่าวของ สสส.แล้ว ยังคงยืนกรานหัวชนฝาว่า สิ่งที่ตัวเองทำนั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง ถึงเวลาที่ สสส.อาจต้องฟังสังคมรอบข้างบ้างว่ามองการทำงานของ สสส.เป็นอย่างไร และกลับมาทบทวนดูว่า การทำงานทุกวันนี้ ใช่ภารกิจของตัวเองตามที่วัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ที่ตั้งขึ้นมาแต่เดิมหรือไม่ รวมไปถึงการสนับสนุนทุนไปในโครงการ กิจกรรมต่างๆ นั้น ก่อประโยชน์ต่อสุขภาพหรือสุขภาวะอย่างแท้จริง มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าเงินหรือไม่

เพราะหากโครงการต่างๆ ที่ สสส.เข้าไปสนับสนุน มีผลชี้วัดที่ชัดเจนว่าส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ สุขภาวะจริงตามที่แถลงข่าว คตร.คงระบุได้ยากว่า สสส.ใช้งบไม่ตรงตามวัตถุประสงค์

แน่นอน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าไปจัดการ สสส. เพราะต้องไม่ลืมว่า เป็นองค์กรที่มีภาคีเครือข่ายและฐานมวลชนที่พร้อมจะเคลื่อนไหวสนับสนุน ดังเช่นที่ ทพ.กฤษดาเขียนปรามเอาไว้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในทำนองว่า ไม่อยากให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ภาคี สสส.เคลื่อนไหว เพราะไม่อยากให้บ้านเมืองขัดแย้งมากขึ้น และหากจะโดนปลดก็พร้อมยอมรับ

“หลายวันนี้ สสส.โดนกล่าวหาและโจมตี ด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ทั้งที่ สสส.เป็นองค์กรที่มีความโปร่งใส และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศอย่างมากมาย หาก สสส.ถูกปรับเปลี่ยนระบบให้ทำงานไม่ได้แบบเดิม สสส.ก็อาจหมดคุณค่าลงได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม หลายหน่วยงานที่กล่าวหา เพราะความไม่เข้าใจ และมองสุขภาพในแบบที่แคบ หากองค์กรเหล่านี้เปิดโอกาสให้สสส.ได้เข้าไปชี้แจง พูดคุยทำความเข้าใจบ้างก็น่าจะเห็นและเข้าใจสุขภาพแบบที่ สสส.ทำ ว่ามีประโยชน์เพียงใด และได้รับการยอมรับและยกย่องในระดับนานาชาติ จนหลายประเทศได้นำไปเป็นต้นแบบ และองค์การอนามัยโลก ได้นำประเทศต่างๆ มาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา สสส. ยังไม่มีโอกาส แม้แต่จะชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง ใดๆ ให้กับหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบเหล่านี้เลย ข้อสรุปของหน่วยงานเหล่านี้จึงมีขัอมูลที่ไม่ถูกต้อง และทำให้สังคมเข้าใจผิดต่อ สสส.อย่างมาก"ทพ.กฤษดากล่าว

หลังจากนี้คงต้องมาดูฝีมือของคณะกรรมการกำหนดทิศทาง สสส.ว่า จะสามารถตีกรอบการทำงานของ สสส.ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ได้หรือไม่ และระเบียบของกองทุน สสส. ที่ “บิ๊กตู่” จะยกเครื่องใหม่นั้น จะออกมาในรูปแบบใด จะได้ชัดเจนไปเสียทีว่า งานส่งเสริมสุขภาพที่ สสส.จะสนับสนุนส่งเสริมสามารถทำได้แค่ไหนอย่างไร

และเมื่อเห็นจากท่าทีขององค์รัฏฐาธิปัตย์แล้ว ต้องบอกว่า การจัดจารีต สสส.เที่ยวนี้คงไม่ล่มกลางคันเหมือนเมื่อครั้งที่ “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” อดีตรองนายกรัฐมนตรี จะเข้าไปรื้อ 3 องค์กรที่ใช้เงินจาก “ภาษีบาป” หรือภาษีบุหรี่และภาษีเหล้าโดยตรงอย่าง องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ อย่างแน่นอน

เพราะงานนี้เห็นผลชัดเจนแล้วว่า ใช้ คตร.และกระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อน แม้กระทั่งกระทรวงสาธารณสุขเอง ซึ่งเมื่อเห็นตัวละครที่เป็นกำลังและมันสมองในการเข้ามารื้อ สสส.แล้ว บอกได้คำเดียวว่า หนาว.....ถึงขั้วหัวใจ

นพ.วินัย สวัสดิวร แห่ง สปสช.เรียบร้อยไปแล้วหนึ่ง

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์จะโดน ม.44 หรือไม่ อีกไม่นานคงรู้กัน

กระนั้นก็ดี คงต้องจับตาดูว่า องค์กรตระกูล ส.ทั้งหลายจะแก้ไขสถานการณ์ในรูปแบบใด เพราะต้องบอกว่า เครือข่ายของพวกเขา “ไม่ธรรมดา” เช่นกัน



นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
กำลังโหลดความคิดเห็น