ที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เตรียมบรรจุหลักสูตรการศึกษาต่อต้านการทุจริต ให้ส่วนราชการนำหนังสือร้องเรียนที่มีตัวตนไปแก้ไข พร้อมกำหนดท้องถิ่นใช้งบประมาณตามขั้นตอน ติดตามการตั้งศูนย์ ศปท.ในกระทรวงหลังการทำงานไม่ชัดเจน บัญชีข้าราชการทุจริตล็อต 3 เร็วๆ นี้เสร็จเรียบร้อย เตรียมชง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร และ พ.ร.บ.พีอาร์เข้า ครม. ห้ามนักการเมืองหาเสียงแอบแฝง สั่งการนำเว็บศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการลิงก์ทุกหน่วยงาน และเพิ่มพิกัดจุดก่อสร้างในเว็บศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ
วันนี้ (11 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง รายงานข่าวแจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้คณะทำงาน และส่วนราชการทุกหน่วยงานสร้างการรับรู้เรื่องการต่อต้านการทุจริตให้สังคมได้รับรู้อย่างกว้างขวางมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในประเทศให้เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่สถานศึกษาจัดสื่อการเรียนการสอนเรื่อง “โตไปไม่โกง” และกฎหมายที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันมาสอนให้นักเรียนได้มีความรู้เพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน ในส่วนของการสร้างองค์ความรู้การป้องกันการทุจริตและปลูกจิตสำนึกข้าราชการ โดยเฉพาะในส่วนท้องถิ่นให้สร้างเครือข่ายความร่วมมือป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น พร้อมขยายเครือข่ายสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับประชาชนช่วยกันเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้นในชุมชนและท้องถิ่น
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ เป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายและข้อสั่งการของรัฐบาลรวมทั้งมอบหมายให้ ศปท. ติดตามผลการดำเนินการทางวินัยของหน่วยงานในสังกัด และสรุปรายงานให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ทราบ โดยนายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยต่อข้าราชการชั้นผู้น้อยที่กระทำความผิดโดยไม่ได้ตั้งใจให้หามาตรการช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม พร้อมกำชับให้ดำเนินการกับผู้บงการอยู่เบื้องหลังการทำความผิดมาดำเนินการตามกฎหมายให้ได้
สำหรับการรณรงค์ “สำนึกไทย ไม่โกง” ให้จัดทำสปอตโฆษณารณรงค์ พร้อมสติกเกอร์และป้ายประชาสัมพันธ์ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีนติดตามสถานที่สำคัญ สถานที่ราชการ และสถานที่สาธารณะเพื่อปลูกจิตสำนึกสร้างการรับรู้ของประชาชนมากขึ้น
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) ในการเร่งรัดตรากฎหมาย จำนวน 2 ฉบับ คือ 1. ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. ... เพื่อเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสของภาครัฐ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล ช่วยตรวจสอบโครงการของภาครัฐได้อย่างสะดวกมากขึ้น พร้อมกับให้เพิ่มพิกัดของแต่ละโครงการเข้าไปด้วยว่าอยู่พิกัดตรงไหน และ 2. ร่าง พ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ พ.ศ. ... โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ไปทำการศึกษาเพิ่มเติม ก่อนจะนำเรื่องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
จากนั้นเวลา 16.20 น. ที่ตึกนารีสโมสร พล.ท.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) แถลงผลการประชุม โดยมีนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.), นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ ร่วมแถลง
พล.ท.ชาตอุดมกล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของแต่ละอนุกรรมการใน คตช. โดยนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำความสำคัญในการต่อต้านการทุจริต พร้อมการสร้างการรับรู้ให้สังคม โดยเฉพาะในสถานศึกษา ที่จะมีการบรรจุหลักสูตรการศึกษา รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทั่วไป อีกทั้งจะให้ทุกส่วนราชการนำนโยบายในการต่อต้านการทุจริตเพื่อนำไปปรับใช้ให้มากขึ้น
ด้านนายประยงค์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งรัดกรณีที่ ศอตช.จะใช้หนังสือร้องเรียนประชาชนเป็นตัวชี้ ถ้าประชาชนได้รับการเดือดร้อนจากเจ้าหน้าที่รัฐ ศอตช.จะใช้คำสั่งที่ 69 ไปแจ้งให้ส่วนราชการแก้ไขตามข้อร้องเรียน ชั้นแรกจะจัดการ 3 เรื่องนี้ คือ 1. พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก 2. คำสั่ง คสช.ที่ 22/2558 ที่เกี่ยวกับเด็กแว้นและสถานบันเทิง 3. มติคณะรัฐมนตรี 1 ก.ย.กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้งบประมาณตามขั้นตอนกฎระเบียบที่กำหนดไว้ ถ้าไม่ทำตามถือเป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยนายกรัฐมนตรี ขอให้เริ่มดำเนินการทันที จะสามารถปรับให้ภาครัฐเกิดธรรมาภิบาล
นายประยงค์ยังกล่าวถึงการดำเนินการจากข้อสั่งการในการประชุมครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะการใช้มาตรการทางภาษีกับภาคเอกชนที่มาค้าขายกับหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะการซื้อขายเครื่องออกกำลังกายเมื่อปี 2555-2556 ในวงเงินจัดซื้อจัดจ้างกว่า 1,400 ล้านบาท ประกอบด้วย 14 บริษัท 26 สัญญาโดยทาง ศอตช.ได้ประสานกับกรมสรรพากรตรวจสอบพบว่าเบื้องต้นมีบริษัทหนึ่งทำสัญญาซื้อขาย 3 สัญญาวงเงิน 246 ล้านบาท ซึ่งจากการตรวจสอบบริษัทดังกล่าวต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 77 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของกรมสรรพากร
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ในระดับกระทรวงที่มีการตั้งแล้วนั้น ที่ผ่านมาบทบาทการทำงานยังไม่ชัดเจน ซึ่ง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอตช.ให้นำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับ 35 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ ศปท. สามารถช่วยงานได้อย่างเต็มที่ ได้ข้อสรุปว่าจะให้ ศปท.เป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินแก้ไขปัญหาทุจริตในระดับกระทรวง ให้เป็นตามนโยบายและให้เป็นนโยบายขับเคลื่อนการปฏิบัติ การดำเนินการตามมาตรการทางวินัยและปกครอง ซึ่งต้องดำเนินไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่ที่ผ่านมาไม่มีดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด จึงให้ ศปท.เข้าไปติดตามการดำเนินงานในส่วนนี้
นายประยงค์กล่าวต่อว่า คตช.จะได้นำเสนอการดำเนินการตรวจสอบในระดับกระทรวง โดย ศปท.เข้าสู่การพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไปเช่นเดียวกัน ในกรณีที่จะให้ทุกกระทรวงรายงานการดำเนินการทางวินัยที่ค้างอยู่ในปัจจุบัน และให้รายงานเรื่องร้องเรียนที่เข้ามาใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต โดยเฉพาะการร้องเรียนที่มีการระบุชื่อและพฤติกรรมชัดเจนและรายงานมาที่ ศอตช. ขณะที่ ศปท.ก็จะติดตามว่าดำเนินการไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และในส่วนของ ป.ป.ท.ก็จะติดตามหากไม่ดำเนินการตามเงื่อนเวลาที่กฎหมายกำหนด หัวหน้าส่วนราชการต้องมีข้อชี้แจงว่าเหตุใดไม่สามารถทำตามเงื่อนเวลาได้ อย่างไรก็ตาม การนำมาตรการดังกล่าวมาใช้เป็นการสกัดไม่ให้เกิดการทุจริตในกระทรวงนั้นๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบทุกประเด็นที่ ศอตช.เสนอ และจะเสนอต่อ ครม.เพื่อรับทราบให้หน่วยราชการนำไปปฏิบัติต่อไป
เมื่อถามถึงการจัดทำบัญชีข้าราชการทุจริตลอต 3 นายประยงค์กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังรวบรวม ซึ่งคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยในเร็วๆ นี้แน่นอน ทั้งนี้ตนยังไม่เห็นรายชื่อข้าราชการในระดับปลัดกระทรวง เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังรวบรวมอยู่
ขณะที่นายสังศิตกล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้ขอยืนยันว่าเราให้ความสนใจในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล รวมทั้งข้อมูลที่เป็นไปด้วยความโปร่งใส โดยทางคณะกรรมการได้รับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) 2 ฉบับ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ฉบับแรก คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. ... โดยข้อมูลข่าวสารสาธารณะมีกฎหมายฉบับครอบคลุมอยู่ แต่ประชาชนยังเข้าไม่ถึง เนื่องจากมีข้อห้ามจำนวนมาก ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวทำให้สื่อมวลชน และประชาชนที่อยากทราบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานภาครัฐ สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยเน้นเรื่องความโปร่งใส่ของหน่วยงานภาครัฐ
ส่วน พ.ร.บ.อีกฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐ พ.ศ. ... โดยผ่านการพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาแล้วเช่นกัน โดยเนื้อหาสาระนั้น ที่ผ่านมานักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมักจะเอางบจากการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานมาประชาสัมพันธ์ตนเอง เช่น ไปออกทีวี หรือทำเป็นคัตเอาต์ ต่อไปนี้จะทำไม่ได้เด็ดขาด เพราะในมาตรฐานสากลนั้นการหาเสียงจะทำได้หนเดียว คือ ตอนที่มีการจัดการเลือกตั้ง เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วก็ห้ามโฆษณาตนเองอีกต่อไป ต้องทำงานเท่านั้น โดย พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับจะทำให้เกิดความโปร่งใส่ในการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558 รวมถึงการออก พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกที่มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ทั้งสองอย่างนี้จะช่วยให้เกิดชำระกฎหมายต่างๆ ที่ไม่ทันสมัย หรือล้าสมัย ยกเลิกบ้าง ทบทวนบ้าง ดังนั้นกฎหมายต่างๆ จะถูกปรับปรุงให้มีความทันสมัยมากขึ้นและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น
ส่วนนายศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้นำเว็บไซต์ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ www.info.go.th ลิงก์ไปทุกหน่วยงานราชการ เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลของหน่วยงานที่ถูกต้องในการทำธุรกรรมภาครัฐ ทำให้ประชาชนสามารถเรียนรู้การทำธุรกรรมภาครัฐด้วยตนเอง และเป็นการป้องกันผู้ไม่หวังดีด้วย นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าวไว้ใช้งานบนโทรศัพท์มือถือได้สะดวก
ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเรื่องเว็บไซต์ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ www.data.go.th ที่รวบรวมข้อมูลเปิดของภาครัฐ โดยในส่วนของโครงการจัดซื้อจัดจ้าง โครงการทุกหน่วยงานที่กรมบัญชีกลางดูแล ข้อมูลอยู่บนเว็บไซต์ทั้งหมดแล้ว ขาดเพียงพิกัดเล็กน้อย นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้เพิ่มเรื่องพิกัดการก่อสร้าง โดยใน 3 เดือนนี้จะมีการดำเนินการว่าการก่อสร้างอยู่จุดไหน ใช้งบประมาณเท่าไหร่ มีความก้าวหน้าอย่างไร และจะเป็นการสร้างความร่วมมือให้ประชาชนตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐด้วย