ผ่าประเด็นร้อน
งานเข้าต่อเนื่องสำหรับ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ - สสส.” ที่ระยะหลังถูกเพ่งเล็งหมายหัวเป็นพิเศษในเรื่องการจับจ่ายใช้สอยงบประมาณที่ออกแนวทะแม่ง ๆ มานานโข แต่กว่าจะถูกทลายเข้าไปเจาะขุมทรัพย์ได้ ก็ต้องในยุคของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ตั้งแต่ คสช. เข้ามาใหม่ ๆ ก็ได้ตั้ง คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้ามาทำหน้าที่สแกนรีเช็กการถลุงงบประมาณของหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่หลักพันล้านบาท จนมีคำสั่งชะลอและยกเลิกไปเป็นหางว่าว ลดการสิ้นเปลืองเงินแผ่นดินไปนับหมื่นล้าน
ซึ่ง สสส. ก็ถูกล็อกเป้าเข้าไปเอกซเรย์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยที่ “พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์” ยังเป็นประธาน ก่อนอัปเกรดไปเป็นเสนาบดีกระทรวงพลังงาน และส่งไม้ต่อให้ “พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ” เข้ามาทำหน้าที่แทน โดยมีแฟ้มข้อมูลของ สสส. วางรออยู่บนโต๊ะคอยท่าอยู่แล้ว
และเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็มีข่าวลือกระหึ่ม ว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. สั่งลุยตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สสส. แบบละเอียดยิบ และเตรียมสั่ง “ฟรีซ” การเบิกจ่ายงบประมาณสนับสนุนเครือข่ายต่าง ๆ เป็นเวลา 3 เดือน
ซึ่งข่าวลือที่ว่าก็ออกมาจากทางเครือข่าย สสส. ที่ราวกับรู้ชะตากรรม มีการร่อนจดหมายเวียนทั่วสำนักงานฯ ในทำนองปลุกใจทีมงานในสังกัดให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์แทรกแซง ที่อาจจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ รวมทั้งให้ทำใจว่า ช่วง 1 - 2 สัปดาห์นี้ จะมีการโจมตี สสส. อย่างหนักหน่วง ผ่านทางสื่อและสังคมออนไลน์ ซึ่งก็ได้มีการจัดเตรียมชุดข้อมูลไว้สำหรับตอบโต้แล้วด้วย
แต่ไม่ทันไรก็เป็น พล.อ.ชาตอุดม ที่ออกมาคอนเฟิร์มกระแสข่าวว่า ได้รับการสั่งการจาก พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง ในการเข้าไปเอกซเรย์ สสส. ตามที่เป็นข่าวจริงร่วมกับ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และพบการเบิกจ่ายงบไม่ตรงวัตถุประสงค์เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีเบาะแสการทุจริตด้วย
โดยผลสอบดังกล่าวได้ถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกัน ก็มีการเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการคู่ขนานให้ “หมอปิยะสกล สกลสัตยาทร” ตั้งกรรมการเข้าไปกำกับดูแล สสส. เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานในช่วงนี้ ปรับจูนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 โดยมอบให้ “หมอเสรี ตู้จินดา” ประธานที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข เป็นประธานบอร์ดที่ว่า
ชี้ให้เห็นว่าทั้ง คตร.- สตง. เจออะไรดี ๆ เข้าอย่างจัง
ในความเป็นจริงการใช้งบประมาณของ สสส. ถูกมองว่า ไม่สมเหตุสมผลมาโดยตลอด เนื่องจากได้งบประมาณมาจาก “ภาษีบาป” ที่เก็บกับบรรดาบริษัทสุรายาดอง บุหรี่ยาสูบต่าง ๆ ที่สำคัญ การอนุมัติตั้งงบไม่อยู่ในแผนงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย อนุมัติส่งเดชมาอย่างต่อเนื่อง
สสส. เองก็ทำตัวราวกับ “รัฐอิสระ” ไม่ได้แคร์กับเสียงก่นด่าที่ระงม ยังถลุงภาษีบาปที่ว่าอย่างสบายใจเฉิบ และยังออกมาดิ้นทุรนทุราย เมื่อมีความพยายามแก้ไขให้งบประมาณ สสส. ต้องผ่านระบบงบประมาณปกติ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งถูกตีตกไป
ทั้งนี้ ประเด็นที่ คตร. ตรวจพบว่าไม่ได้เข้ากับวัตถุประสงค์ของ สสส. มียาวเป็นหางว่าว นับแล้วมากกว่า 100 โครงการ จากจำนวนหลักพันที่ สสส. เข้าไปเกี่ยวข้อง ไล่ตั้งแต่ งานสวดมนต์ข้ามปี ที่เป็นงานของกระทรวงวัฒนธรรม ตั้งศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ที่เป็นบทบาทของกระทรวงคมนาคม แถมยังกู่ไม่กลับ ถึงขั้นสนับสนุนงานวิจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และ ศิลปวัฒนธรรม โดยอ้างว่ามีปัจจัยเกี่ยวข้องกับสุขภาพ อย่างโครงการทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย และงานวิจัยปฏิรูปประเทศไทยระบบการคลังปิโตรเลียม : ประสิทธิภาพ และความเป็นธรรม ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หรืออย่างโครงการวิจัยที่ดูชื่อแล้วก็นึกไม่ออกว่าเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพตรงไหน อย่างเรื่องการยกระดับขีดความสามารถและนัยยะต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมในระดับจังหวัด งานวิจัยการประเมินศักยภาพของอาจารย์ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ หรือหัวข้อทำอย่างไรมหาวิทยาลัยจะเป็นหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต เป็นต้น
แล้วยังเป็นสปอนซอร์หลักในการสนับสนุนสำนักงานแห่งหนึ่ง ซึ่งมักนำเสนอข้อมูลอย่างมีนัยซ่อนเร้นในหลาย ๆ ประเด็นอีกด้วย
สาเหตุที่ สสส. หว่านงบประมาณสนับสนุนได้อย่างครอบจักรวาล ก็เนื่องมาจาก “ภาษีบาป” มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ส่งผลให้งบประมาณของ สสส. ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จาก 1.5 พันล้านบาท ในปี 2545 ที่ก่อตั้ง จนมาทะลุ 4 พันล้านบาท ในช่วง 2 ปีล่าสุด รวมแล้ว 13 ปีที่ผ่านมา มีงบประมาณผ่านมือ สสส. เหยียบ 4 หมื่นล้านบาท
ในทางกลับกัน ก็มีคำถามว่า หาก สสส. ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นผลเสียจากสิ่งเสพติด เพื่อลดจำนวนนักดื่ม - นักสูบ และสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชน ทำงานได้มีประสิทธิภาพจริง งบประมาณที่มาจากภาษี ควรที่จะลดลงมากกว่าเพิ่มขึ้นเช่นที่ผ่านมา ซึ่ง สสส. เองก็อาจจะอ้างได้ว่า เนื่องจากขยับอัตราภาษีบาปเพิ่มขึ้นหลายครั้ง ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาษีบาป และงบประมาณ สสส. เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
แต่ในสภาพความเป็นจริง “นักดื่ม - นักสูบ” ลดลงหรือไม่ ก็เป็นที่รู้กัน
ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการประกันภัย และการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจ ว่า สสส. เป็นองค์กรที่มีความย้อนแย้งในตัวเอง เพราะสิ่งที่ต้องทำหรือเป้าหมายในการดำเนินงาน คือ การลดสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า กับที่มาของรายได้จากภาษีบุหรี่ สุรา ถือว่าตรงกันข้ามกัน ถ้า สสส. ทำงานมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลจริง สสส. จะต้องไม่เหลือเงินสักบาท และหน่วยงานต้องถูกยุบไปในที่สุด แต่จากที่เห็นคือ สสส. ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นตลอด จากปีแรกที่ตั้ง สสส. ได้รับงบประมาณ 1.5 พันล้านบาท จนถึงขณะนี้งบประมาณราว 4 พันล้านบาท
“ถ้า สสส. แน่จริง ต้องทำให้เหล้า ไวน์ เบียร์ บุหรี่ ขายไม่ได้เลย และไม่มีคนคิดจะผลิต หรือจะนำเข้า บริษัทพวกนี้ทั้งของไทย ของต่างประเทศ ต้องเจ๊ง ขาดทุน ล้มละลายกันหมด ถ้า สสส. ทำได้แบบนั้น ผมถึงจะถือว่า สสส. ประสบความสำเร็จ ทำงานได้ผลจริง อย่าอ้างตัวเลขจากการสำรวจแบบหลอก ที่ทำมาแบบผิด ๆ วิธีการทางสถิติ เพราะสิ้นเปลืองเงิน และไม่ถูกต้อง ไปดูยอดขายเลย ตรงไปตรงมา ไม่ยอกย้อน เหล้ากี่เท บุหรี่กี่ซอง ตัวเลขมันมีอยู่ ไม่ยากเลย” ดร.อานนท์ กล่าว
ขณะที่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็เคยมีรายงานของ สตง. ที่เข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานของ สสส. ระบุไว้ชัดเจนว่า “การใช้จ่ายเงินของ สสส. ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร กรณีอนุมัติให้เงินอุดหนุนจำนวนมากแก่แผนงาน/โครงการที่มีรายละเอียดไม่ชัดเจนเพียงพอ ทำให้มีเงินคงเหลือจากการดำเนินงานเป็นจำนวนมาก และ สสส. เสียโอกาสในการนำเงินดังกล่าวไปใช้ในการอุดหนุนแผนงาน/โครงการที่มีความจำเป็นอื่นๆ”
ถึงนาทีนี้ คงนับหัวได้สำหรับฝ่ายผู้สนับสนุนที่ยังเห็นว่า สสส. เป็นองค์กรที่มีความจำเป็น และมีผลการปฏิบัติงานเป็นที่น่าพอใจ เพราะในทางกลับกันฝ่ายคัดค้านก็ได้ทีออกมารุมสกรัมประชาทัณฑ์กันอย่างเมามัน
ทำให้ สสส. จากบทบาทของหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่กำจัดมะเร็งร้ายภัยสังคม กลายเป็นเป็น “เนื้อร้าย” ที่รอวันถูกกำจัดเสียเอง