xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.แฉนักการเมือง-ขรก.โกงแหลก ช่วงปี56-58ชาติเสียหายกว่า5แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (15ต.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมกรรมการ ป.ป.ช. ประกอบด้วย นายวิชา มหาคุณ , นายภักดี โพธิศิริ, นายประสาท พงษ์ศิวาภัย, นายวิชัย วิวิตเสวี, นายปรีชา เลิศกมลมาศ, พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง, นายณรงค์ รัฐอมฤต และน.ส.สุภา ปิยะจิตติ รวมทั้งนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. และผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกันแถลงข่าวผลการดำเนินงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในโอกาสครบรอบ 9 ปี
โดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการ และโฆษก ป.ป.ช. กล่าวถึงสถิติด้านปราบปรามการทุจริตของ ป.ป.ช.ชุดนี้ ตลอด 9 ปี ตั้งแต่ 2550 – 2558 ว่า มีเรื่องค้างสะสมยกมาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดที่ 2 จำนวน 11,578 เรื่อง และเรื่องกล่าวหารับใหม่ 26,000 เรื่อง รวมรับดำเนินการทั้งสิ้น 37,578 เรื่อง ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จ 26,530 เรื่อง คงเหลือดำเนินการ 11,048 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองท้องถิ่นถึง ร้อยละ 50 เจ้าหน้าที่รัฐ ตำแหน่งผู้อำนวยการหรือเทียบเท่าขึ้นไป ร้อยละ 25 เจ้าหน้าที่รัฐตำแหน่งผู้อำนวยการ หรือเทียบเท่าลงมา ร้อยละ 15 ตำแหน่งอธิบดีขึ้นไปร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในองค์กรอิสระ ผู้พิพากษา อัยการ รวมประมาณร้อยละ 5
สำหรับเรื่องคงเหลือดำเนินการ 11,048 เรื่อง แบ่งเป็น เรื่องที่อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง 8,836 เรื่อง เรื่องที่อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง 2,212 เรื่อง ในจำนวนนี้ มอบหมายพนักงานไต่สวน 1,076 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน 1,086 เรื่อง คณะกรรมการป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวน 50 เรื่อง ทั้งนี้ เรื่องไต่สวนข้อเท็จจริงที่กรรมการป.ป.ช. ชี้มูลความผิดอาญาและร่ำรวยผิดปกติที่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหาย ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 – 2558 มูลค่ารวม 525,117,282,617 บาท จาก 193 คดี โดยแบ่งเป็น หน่วยงานรัฐ 403,764,834,505 บาท หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 121,183,627,791 บาท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 168,820,319 บาท
“ โดยความเสียหายจากคดีทุจริตจำนวนกว่า 5 แสนล้านบาท มาจากคดีโครงการรับจำนำข้าวส่วนหนึ่งที่ น.ส.สุภา สมัยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้สรุปตัวเลขความเสียหายในขณะนั้นออกมา แต่ยังไม่ใช่ยอดรวมความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด” นายวิชา ระบุ
นายวิชา กล่าวว่า ส่วนผลงานด้านตรวจสอบทรัพย์สิน ที่ได้ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน หรือยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ รวม 148 คน โดยเป็นกรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ 5 เรื่อง ได้แก่ นายพงศ์เวช เวชชาชีวะ ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เลือกตั้งปี 2554) นายวิชิต ชิตวิเศษ ตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาลเมืองบ้านสวน อ.เมืองฯ จ.ชลบุรี นายสมมิตร ไชยโชติ ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางสวน อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา นางศมานันท์ เหล่าวนิชศิษฐ์ ตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี นายจิรโรจน์ บวรฐิติไพศาล ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสังคม อ.สังคม จ.หนองคาย และ กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีฯ ในระยะเวลาที่กำหนด จำนวน 57 เรื่อง ส่วนกรณีร่ำรวยผิดปกติ 4 เรื่อง ได้แก่ ปี 2550 นายนิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตอธิบดีกรมธนรักษ์ 49 ล้านบาท ปี 2555 นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม 65 ล้านบาท ปี 2557 น.ส.ณัฐกมล นนทะโชติ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 68.5 ล้านบาท พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม 296 ล้านบาท ปี 2558 และนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรมว.ศึกษาธิการ 16 ล้านบาท
ในช่วงท้ายมีการเปิดโอกาสให้ถามตอบ ผู้สื่อข่าวได้ถามว่า ที่ผ่านมา 9 ปี เหตุใดป.ป.ช. ยังไม่สามารถหลุดพ้นข้อครหาเรื่อง 2 มาตรฐานได้ นายปานเทพ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนพูด ถ้าเห็นว่าเราไปตรวจสอบแล้วไปชี้มูล เขาก็หาว่าเราสองมาตรฐาน แต่ยืนยันว่า เราทำงานโดยยึดถือข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมาย ยึดตรงนี้มาตลอด ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ดังนั้น แล้วแต่สังคมจะมองอย่างไร เพราะก็มีบางคนมองว่า ป.ป.ช.ดีก็เยอะ ต่างคนต่างมอง แต่ใจเรารู้ว่าเราทำงาน ยึดตรงนี้ตลอด ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกระดับ

** ป.ป.ช.แค่ขอคงอำนาจเท่ารธน.50

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เข้าให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นั้น นายปานเทพ กล่าวว่า ได้ยืนยันกับ กรธ.ว่า ป.ป.ช.จะต้องเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ปราศจากการแทรกแซง ส่วนเรื่องอำนาจหน้าที่เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง จะต้องคงไว้ซึ่งอำนาจหน้าที่เดิมตามมาตรา 250 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ขณะที่เรื่องปัญหาการทำงานต่างๆ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วจะต้องมีการบูรณาการทำงานร่วมกันขององค์กรอิสระหรือหน่วยงานตรวจสอบที่เป็นอิสระ เพราะมีฐานเรื่องการตรวจสอบทุจริตด้วยกันทั้งนั้น เพื่อจะได้รวดเร็วในการไต่สวน นอกจากนี้ เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย จะต้องสามารถดำเนินการไปตามคำวินิจฉัยของป.ป.ช.ได้ เพราะขณะนี้เกิดความลักหลั่นของหน่วยงานต่างๆ ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดผล ไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ ไม่สามารถทวงคืนสิ่งที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ถูกทุจริตไป ซึ่งกรธ.รับทราบและจะหารือแลกเปลี่ยนกันต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการมองว่า ป.ป.ช. กำลังขอเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง นายวิชา กล่าวตอบว่า อย่ามามโนว่า ป.ป.ช.จะขอเพิ่มอำนาจ ยืนยันว่า ไม่เคยขอเพิ่มอำนาจตัวเอง เราแค่บอกว่า ป.ป.ช.ต้องเป็นอิสระในการทำงาน และขอให้ได้ทำงานเหมือนเดิมเท่านั้น เบื้องต้นกรธ.เห็นว่า ป.ป.ช. ควรได้รับอำนาจดูแลคดีทุจริตทั้งหมด แต่สามารถส่งเรื่องให้หน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้นๆ รับไปดำเนินการในคดีเล็กน้อยได้ รวมทั้งขอให้เขียนในรัฐธรรมนูญว่า คดีใดที่มีความสำคัญและมีผลกระทบกับประชาชนให้ป.ป.ช.หยิบยกมาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนได้ทันที
9 ปี ป.ป.ช.ยอมรับ คดีจำนำข้าวทำยากที่สุด - เผยรอฟันอีก 5 คดี - รับ 9 ปี คนรัฐทำเจ๊ง 5 แสนล้าน
9 ปี ป.ป.ช.ยอมรับ คดีจำนำข้าวทำยากที่สุด - เผยรอฟันอีก 5 คดี - รับ 9 ปี คนรัฐทำเจ๊ง 5 แสนล้าน
9 ปี ป.ป.ช. ยอมรับ “คดีทุจริตรับจำนำข้าว” ทำยากที่สุด - “วิชา” เผย 5 คดีจำนำข้าว ที่ค้างอยู่ “ขายข้าวให้อินโดนีเซีย สมัยกิตติรัตน์ - กรณีระบายข้าวยุคนิวัฒน์ธำรง - กรณี ผอ.อคส. เรียกรับสินบนเอกชน - กรณีจำนำระบายข้าวสมัยบุญทรง และกรณีร้องเรียนคดีมันเส้น ส่วน “คดีปูเยียวยาเสื้อแดง” - “มาร์ค - เทือก” สั่งสลายเสื้อแดง สอบพยานครบทุกปากแล้ว คาดสรุปสำนวนชี้มูลได้เร็ว ๆ นี้ เผย 9 ปี คดีทุจริตเกือบ 3 หมื่นเรื่อง สั่งฟันได้ครึ่งเดียวรับเจ้าหน้าที่รัฐ โกง 9 ปี เสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ประธาน ป.ป.ช. ไม่หวั่นถูกมองสองมาตรฐาน
กำลังโหลดความคิดเห็น