9 ปี ป.ป.ช. ยอมรับ “คดีทุจริตรับจำนำข้าว” ทำยากที่สุด - “วิชา” เผย 5 คดีจำนำข้าว ที่ค้างอยู่ “ขายข้าวให้อินโดนีเซีย สมัยกิตติรัตน์ - กรณีระบายข้าวยุคนิวัฒน์ธำรง - กรณี ผอ.อคส. เรียกรับสินบนเอกชน - กรณีจำนำระบายข้าวสมัยบุญทรง และกรณีร้องเรียนคดีมันเส้น ส่วน “คดีปูเยียวยาเสื้อแดง” - “มาร์ค - เทือก” สั่งสลายเสื้อแดง สอบพยานครบทุกปากแล้ว คาดสรุปสำนวนชี้มูลได้เร็ว ๆ นี้ เผย 9 ปี คดีทุจริตเกือบ 3 หมื่นเรื่อง สั่งฟันได้ครึ่งเดียว รับเจ้าหน้าที่รัฐโกง 9 ปี เสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ประธาน ป.ป.ช. ไม่หวั่นถูกมองสองมาตรฐาน
วันนี้ (15 ต.ค.) มีรายงานว่า นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แถลงผลการดำเนินงานครบรอบ 9 ปี ( 6 ตุลาคม 2549 - 30 กันยายน 2558) ว่า จากสถิติการดำเนินงานด้านปราบปรามการทุจริตตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 - 2558 สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ 26,530 เรื่อง จาก 37,578 เรื่อง คงเหลือดำเนินการ 11,048 เรื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง 8,836 เรื่อง อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จ 2,212 เรื่อง มอบหมายพนักงานไต่สวน 1,076 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน 1,086 เรื่อง และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวน 50 เรื่อง
ส่วนคดีเยียวยา ป.ป.ช. เชิญผู้ที่ถูกกล่าวหามาไต่สวนครบถ้วนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ ขณะที่คดีสลายการชุมนุม อยู่ระหว่างรอเอกสารจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพราะกระบวนการไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว
ส่วนการไต่สวนข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดอาญาและร่ำรวยผิดปกติที่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ตั้งแต่ปี 2556 - 2558 พบในหน่วยงานรัฐ 53 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 403,764,834,505.90 บาท หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 30 เรื่อง 121,183,627,791.65 บาท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 110 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 168,820,319.92 บาท รวมมูลค่าความเสียหาย 525,117,282,617.47 บาท
ปี 2550 คดี นายนิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลว่าร่ำรวยผิดปกติ และเพิ่งถูกศาลแพ่งสั่งริบทรัพย์จำนวน 49 ล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ทรัพย์สินตามคำร้องจำนวน 49 ล้านบาท ที่นายนิพัทธ อ้างว่า ได้มาจากการจำหน่ายวัตถุมงคล และการขายที่ดินของภริยา ไม่มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจาก นายนิพัทธ ไม่นำพยานบุคคลผู้ซื้อวัตถุมงคลมาสืบ รวมถึงไม่มีหลักฐานว่าภริยาได้รับเงินค่าขายที่ดินมาอย่างไร พยานหลักฐานของนายนิพัทธ จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานของอัยการ ศาลแพ่งจึงมีคำสั่งให้ทรัพย์สินจำนวน 49 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด นายนิพัทธ ยังสามารถยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาได้ภายใน 30 วัน
ปี 2555 คดี นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลว่าร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 64.7 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 ส่งเรื่องให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลอาญายึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินต่อมา 31 ม.ค. 57 ศาลแพ่ง มีคำสั่งให้ทรัพย์สินของ นายสุพจน์ กับพวก ซึ่งเป็นเครือญาติ 7 คน อาทิ เงินสด เงินฝากในธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ รวม 9 บัญชี เงินฝากในสหกรณ์ออมทรัพย์กรมทางหลวง โฉนดที่ดินย่านต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด บ้านพัก รถยนต์ ห้องชุด รวมมูลค่าทั้งสิ้น 64,998,587 บาท พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดิน
ปี 2557 สองคดี คือ คดี พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ถูก คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลเมื่อ วันที่ 6 ก.พ. 2557 ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 296,323,911 บาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน คดีนี้ล่าสุดอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาลซึ่งต้องรอดูว่าจะมีความผิดตามที่ ป.ป.ช. ชี้มูลหรือไม่ และคดี น.ส.ณฐกมล (นฤมล) นนทะโชติ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลูกสาว พล.อ.สัมฤทธิ์ นนทะโชติ คนสนิท พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายึดทรัพย์ จำนวน 68,104,000 บาท เมื่อ 4 ธ.ค. 57
ปี 2558 คดี นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลร่ำรวยผิดปกติกรณีบ้านเลขที่ 5/5 ตำบลไผ่จำศีล อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ปลูกสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ในช่วงที่ นายสมศักดิ์ ดำรงตำแหน่ง รมช.กระทรวงศึกษาธิการ และมีการก่อสร้างต่อเนื่องในขณะที่นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมาปลูกสร้างแล้วเสร็จ เมื่อปี 2554 ใช้เงินในการปลูกสร้างประมาณ 16 ล้านบาทเศษ ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นศาลฎีกาฯและศาลฎีกาฯนัดฟังคำสั่งในวันที่ 20 ต.ค.นี้
ทั้งนี้ เบ็ดเสร็จคดีมีคดีร่ำรวยผิดปกติทั้ง ข้าราชการและนักการเมืองที่ ศาลพิพากษาให้มีความผิดแล้ว 11 คดี ( เท่าที่ตรวจสอบพบ) รวมวงเงินที่ถูกยึดทรัพย์ประมาณ 46,963.2 ล้านบาท (บางคดียังไม่ถึงที่สุด)
“ส่วนคดีสำคัญที่ยังค้างการพิจารณาและอยู่ในความสนใจของสังคมคือคดีโครงการรับจำนำข้าว 5 เรื่อง กรณีการขายข้าวให้ประเทศอินโดนีเซีย สมัยที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณีการระบายข้าวสมัยนายนิวัฒน์ธํารง บุญทรงไพศาล กรณีผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้าเรียกรับสินบนจากบริษัท เจียเม้ง จำกัด กรณีจำนำและระบายข้าวในสมัยนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกรณีร้องเรียนคดีมันเส้น” นายวิชา กล่าว
นายวิชา กล่าวว่า ส่วนข้อกล่าวหารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีมีมติให้จ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง อยู่ในช่วงการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ส่วนข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กรณีสั่งการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ปี 2553 ขณะนี้สอบปากคำพยานครบทุกปากแล้ว และรวบรวมพยานหลักฐานได้เกือบทั้งหมด เหลือเพียงเอกสารจากดีเอสไอเท่านั้น จะสามารถสรุปสำนวนคดีว่าจะชี้มูลความผิดหรือไม่
“ป.ป.ช. ได้รวบรวม 10 คดีทุจริตรวบรวมเป็นหนังสือ “เปิดแฟ้ม 10 คดีทุจริตบทเรียนราคาแพงของคนไทย” อาทิ คดีทุจริตราคากลางยากระทรวงสาธารณสุข คดีทุจริตจัดซื้อรถเรือดับเพลิง กรุงเทพมหานคร รวมถึงคดีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับคดีความผิดต่อหน้าที่ราชการ (ที่ดินรัชดา) คดีความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญาในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ (คดีออกสลากพิเศษเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว) และคดีทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อนและร่ำรวยผิดปกติ” นายวิชา กล่าว
ทั้งนี้ ป.ป.ช. ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติม ต่อตลอด 9 ปี ที่ผ่านมา คดีใดถือว่ายากที่สุด โดย นายวิชา กล่าวว่า กรรมการ ป.ป.ช. เห็นตรงกันว่า น่าจะเป็นคดีรับจำนำข้าว เพราะมีความซับซ้อน และกรรมการป.ป.ช.หลายคนต้องพบกับสถานการณ์ไม่คาดคิด
เมื่อถามว่า 9 ปีที่ผ่านมา ทำไม ป.ป.ช. จึงก้าวไม่พ้นคำว่า 2 มาตรฐาน นายปานเทพ กล่าวยืนยันการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ผ่านมาได้ยืดถือข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเป็นหลัก ส่วนใครที่คิดว่า ป.ป.ช. ก้าวไม่พ้นคำว่าสองมาตรฐาน ขึ้นอยู่ที่มุมมองของตัวบุคคลและผู้ถูกชี้มูลมากกว่า การดำเนินคดีต้องเป็นไปตามขั้นตอนและพยานหลักฐาน ซึ่งบางคดีอาจล่าช้า และต้องใช้เวลาพอสมควร มากน้อยต่างกัน เช่นเดียวกับการทำงานของ ป.ป.ช. ยึดมั่นภายใต้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หากคดีใดที่ ป.ป.ช. พิจารณาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จะต้องผ่านการตรวจสอบของยูเอ็น ทั้งนี้ ป.ป.ช. ไม่เคยขอเพิ่มอำนาจหน้าที่การทำงาน แต่ต้องการให้การทำงานขององค์กรอิสระมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ปราศจากการครอบงำจากฝ่ายบริหารและทำงานอย่างบูรณาการมากขึ้น.