xs
xsm
sm
md
lg

"มีชัย"นั่งประธานร่างรธน.เปิดใจ"เพื่อแทนคุณแผ่นดิน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คสช.เผยรายชื่อ" 21กรธ.-200สปท." มติเอกฉันท์ส่ง "มีชัย" นั่งประธานกรธ. นายกฯย้ำร่างรธน. ตามกรอบ 6-4,6-4 ตามที่ได้ประกาศบนเวทียูเอ็น "มีชัย"เปิดใจ ตอบรับนั่งปธ.กรธ. เพื่อทดแทนบุญคุณแผ่นดิน เผยวางกรอบ 5 ประการ ในการยกร่าง "ต้องสากล-มีกลไกปฏิรูปปรองดองให้เกิด-กันนักการเมืองใช้เงินอ่อยเหยื่อปชช .-ขจัดทุจริต - สร้างกลไกปชช.ร่วมป้องผลประโยชน์ประเทศ" พร้อมย้ำต้องมีประชามติ ยึดเสียงผู้ออกมาใช้สิทธิ เริ่มประชุมนัดแรกบ่ายวันนี้ ขณะที่รายชื่อ 200 สปท. อดีตข้าราชการเพียบ

เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (5 ต.ค.) ที่อาคารรับรองเกษะโกมล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุม คสช. เพื่อคัดเลือกรายชื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จำนวน 21 คน และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จำนวน 200 คน โดยมีสมาชิกคสช.เข้าประชุมพร้อมเพรียง

หลังการประชุม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คสช.มีมติเป็นเอกฉันท์ ในการแต่งตั้งกรธ. จำนวน 21 คน ประกอบด้วย 1. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างกฎหมาย สำนักงานกฤษฎีกา เป็นประธานกรธ. ส่วนกรรมการกรธ.อีก 20 คน ประกอบด้วย

1. นางกีระณา สุมาวงศ์ อดีตนายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย อดีตสมาชิก สนช. และอดีตสมาชิกวุฒิสภา 2. นางจุรี วิจิตรวาทการ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อดีต สปช. 3. นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และอดีตสมาชิกสปช. 4.นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรรมการร่างกฎหมายประจำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 5. นายธิติพันธ์ เชื้อบุญชัย อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

6. นายเธียรชัย ณ นคร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเมือง 7.นายนรชิต สิงหเสนี อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ และอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ 8. พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม และ สมาชิกสนช. 9.นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 10.นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตอัยการ และอดีต กกต.

11. นายภัทระ คำพิทักษ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 12. นายภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีต ผ.อ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ 13. พล.ต. วิระ โรจนวาศ อดีต ผอ.สำนักงานพระธรรมนูญทหารบก 14. นายศุภชัย ยาวะประภาส อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีต สปช. 15. นายสุพจน์ ไข่มุกต์ อดีตเอกอัครราชฑูตและอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

16. นายอมร วาณิชวิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 17. นายอภิชาต สุขัคคานนท์ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และอดีตประธาน กกต. 18. นายอุดม รัฐอมฤต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 19. นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อดีตประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และอดีตกรรมาธิการร่างรธน.ปี 2550 และ 20. พล.อ.อัฎฐพร เจริญพาณิช อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม และกรรมการกฤษฎีกา โดยจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

นายวิษณุ กล่าวว่า จำนวนรายชื่อกรธ. ทั้ง 21 คน แบ่งออกเป็น ผู้ที่จบปริญญาเอก 6 คน จบปริญญาโท 9 คน จบปริญญาตรี 5 คน เนติบัณฑิตอังกฤษ 1คน และทั้ง 21 คน เป็นผู้ที่มี่ประสบการณ์ด้านกฎหมาย 13 คน การเมืองรัฐศาสตร์ 3 คน ทางด้านสังคมไทย 1 คน ด้านการต่างประเทศและการทูต 2 คน ด้านนิเทศศาสตร์ 1 คน และความมั่นคง 1 คน

ทั้งนี้ กรธ.ทั้ง 21 คน จะเห็นว่า ไม่มีผู้ที่เคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดก่อนที่สิ้นสุดลงแม้แต่คนเดียว และ ไม่มีผู้ใดที่เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ในส่วนของสนช. มีเพียงคนเดียวเท่านั้น คือ พล.อ.นิวัติ เพื่อเป็นช่องทางในการประสานเตรียมแนวทางการออกกฎหมายลูก ซึ่ง หัวหน้าคสช. ได้ลงนามแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น นับแต่บัดนี้ไปก็สามารถทำงานได้ ทั้งนี้ ในวันอังคารที่ 6 ต.ค. เวลา 13.30 น. มีการนัดประชุมกรธ. ทั้ง 21 คน ที่ห้องพิจารณางบประมาณ อาคาร 3 รัฐสภา

สำหรับสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จำนวน 200 คน นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรี ลงนามประกาศแต่งตั้งทั้ง 200 คนเรียบร้อยแล้ว และจะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาในวันนี้ ซึ่งแบ่งออกเป็น สุภาพสตรี 17 คน สุภาพบุรุษ 183 คน โดยคัดเลือกจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มา 61 คน มีทั้งผู้ที่ลงมติเห็นชอบ และไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องโควต้า หรือรางวัลแต่อย่างใด และ มีข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว จำนวน 25 คน ข้าราชการที่ยังอยู่ในราชการ 23 คน ข้าราชการตำรวจ ทหาร ทั้งที่เกษียณและไม่เกษียณ จำนวน 49 คน นักวิชาการ 13 คน นักการเมือง หรือกลุ่มมวลชนทางการเมือง 10 คน ผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ 19 คน

ทั้งนี้ ในการประชุมคสช. หัวหน้าคสช.ได้ย้ำโรดแมปของคสช. โดยเฉพาะเรื่อง 6-4 ,6-4 ขอให้รักษากรอบเวลานี้ และเป็นไปได้ ทำให้กระชับ สั้นลง หรือน้อยกว่านี้ เพราะโรดแมปนี้ได้นำไปแจ้งต่อที่ประชุมสหประชาชาติแล้ว นอกจากนี้ หัวหน้าคสช.ได้ย้ำเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ขอให้มีความหลากหลาย รับฟังกว้างขวาง ซึ่งตรงกับแนวทางกรธ. อยู่แล้ว

นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุมคสช.ได้ระบุว่า กรธ. สามารถแต่งตั้งทีมที่ปรึกษาได้ไม่เกิน 9 คน โดยให้พยายามเชิญบุคคลที่เคยร่างรัฐธรรมนูญ ปี 40 , ปี 50 และ ปี 58 เข้ามาร่วมเป็นที่ปรึกษา ส่วนประธานสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และ สมาชิก สปท. จะคัดเลือกกันเอง

"มีชัย"เผยรับงานเพื่อชาติเดินหน้าได้

ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. ในฐานะประธาน กรธ. แถลงว่า มีคนถามมาก และสงสัยว่าตนจะรับหรือไม่รับ ด้วยเหตุผลอะไร เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา นายกฯได้เชิญตนไปพบ และบอกอยากชวนมาทำงานในฐานะเป็นกรรมการกรธ. จึงเรียนถามนายกฯว่า มันมีความจำเป็นขนาดไหน ที่จะต้องให้ตนมาทำ ท่านตอบว่ามีความจำเป็นอย่างมาก ไม่อาจเลี่ยงได้ ในฐานะนายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด และเป็นผู้ที่เสี่ยงเข้ามาเพื่อตั้งใจแก้ปัญหาของบ้านเมืองให้ลุล่วงไป ยืนยันว่า มันมีความจำเป็น ตนก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปซักไซร้ให้มากไปกว่านี้ ก็ต้องเชื่อดุลพินิจของท่าน

"ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่ต้องให้ความร่วมมือตามกำลังความสามารถ ผมจึงไม่อาจจะเห็นแก่ความสุข ความสบาย ที่ชักจะเริ่มเคยตัว และไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิเสธได้ มิฉะนั้นก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่รู้จักทดแทนบุญคุณของแผ่นดิน ก็รู้อยู่ว่างานครั้งนี้ไม่ใช่ง่าย และคงมีอุปสรรคไม่น้อย แต่เมื่อนึกว่าทุกคนก็ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ในการทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ ผมก็ต้องอดทน และก็ทำ และตั้งใจทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะได้"

นายมีชัย กล่าวว่า เหตุที่ต้องรอถึงวันนี้ถึงจะเปิดเผย เพราะมีขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 57 กำหนด ซึ่งผู้ที่จะแต่งตั้งคือคสช. ดังนั้นต้องรอคสช.ท่านนายกฯ ก็ดีทำตามพิธีการ เมื่อประชุมคสช.ก็ถามอีกครั้งหนึ่งว่า "ผมรับได้ไหม" ตนก็ต้องเรียนกับท่านว่า "ตกลงรับได้"

ร่าง รธน.ตามกรอบ 5 ประการ

นายมีชัย กล่าวอีกว่า ปัญหาที่สอง ที่คนมักจะสงสัยคาดเดากันไปต่างๆ นานาว่า ในที่สุด "ผมก็คงไม่เป็นตัวของตัวเอง แล้วก็คงต้องร่างไปตามที่มีผู้สั่ง

"เรื่องนี้ต้องเรียนตามตรงว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญมันไม่มีใครร่างตามใจปราถนาของตัวเองได้ อย่างที่เรียกว่าเป็นตัวของตัวเอง เพราะไม่ได้ร่างเก็บไว้ใช้ในบ้าน แต่เป็นการร่าง เพื่อนำไปใช้กับคนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นจะต้องมีกรอบการร่างรัฐธรรมนูญ คือ กรอบที่กำหนดไว้ตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 บังคับอยู่ว่า คณะกรรมการกรธ. จะต้องร่างให้เป็นไปตามนั้น ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ กรอบที่ 2 คือ คสช. ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ และภารกิจที่สำคัญ คือ ต้องทำให้มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎ กติกา ของบ้านเมือง ผมก็ต้องถามไถ่ว่า แล้ว คสช.มีกรอบ หรือมีความคิดอย่างไร ซึ่งเมื่อคุยกันแล้วสรุปได้ 5 ประการ "

ประการที่ 1 ให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับนับถือของสากล แต่ขณะเดียวกันต้องสอดคล้องกับสภาพปัญหา ประเพณี วัฒนธรรม และ วิถีชีวิตของประเทศและคนไทยที่มีอยู่หรือเป็นอยู่

ประการที่ 2 ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปฏิรูป และสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นให้ได้

ประการที่ 3 ให้มีมาตรการป้องกัน ไม่ให้การเมืองใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง โดยใช้เงินแผ่นดินไปอ่อยเหยื่อกับประชาชน เพื่อสร้างความชอบธรรม โดยมิได้มุ่งหมายให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขในระยะยาว จนเกิดความเสียหายแก่ประเทศอย่างร้ายแรง และเกิดวิกฤตที่หาทางออกไม่ได้

ประการที่ 4 มีแนวทางการขจัดการทุจริต และประพฤติมิชอบอย่างได้ผล

ประการที่ 5 ให้สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนในอันที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และร่วมกันรับรู้ และรับผิดชอบต่อความเจริญ และการพัฒนาประเทศและสังคมโดยรวม

สำหรับการคัดเลือกกรรมการกรธ. ทั้ง 20 คน รัฐบาล และคสช. ได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือก แล้วให้ตนดู ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาอะไร มีเพียงตนคิดว่า น่ามีคนอื่นเข้ามาแซม เพื่อให้ครบถ้วนทุกองค์ประกอบ ซึ่งทาง คสช. และรัฐบาลก็ไม่ได้ขัดข้อง ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ แต่อย่าถามว่าใคร เพราะจะกระทบกระเทือนกับคนอื่นที่ออกไป ซึ่งไม่ใช่เพราะเขาไม่ดี แต่องค์ประกอบจะซ้ำๆ กันเกินไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะนำร่างเดิมมาพิจารณาหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า คงต้องไปหารือกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทั้งหมดก่อน เพราะถ้าตนตัดสินใจไปก่อน ก็จะเป็นการผูกมัด ซึ่งกรรมการร่างฯ แต่ละท่านก็คงจะมีแนวคิดของตัวเองอยู่ ทั้งนี้ ตนจะนัดประชุม กรธ.ครั้งแรกในวันที่ 6 ต.ค. นี้ เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา และคงจะมีการประชุมกันทุกวัน เนื่องจากระยะเวลามันสั้นมาก และไม่ใช่แค่คิด และร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย

เมื่อถามว่าจะร่างตามกำหนดเวลา 180 วัน หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ความจริงต้องร่างให้เสร็จก่อน 180 วัน เพราะจะต้องส่งให้เขาดู และรับฟังความคิดเห็นด้วย

ยันร่างรธน.ต้องทำประชามติ

นายมีชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับความเห็นที่แตกต่างในบางประเด็น ที่เคยมีการถกเถียงกัน โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) นั้น ทางกรธ. คงจะมีการระดมความเห็น และทำเป็นตุ๊กตาขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงจะหาหนทางที่จะไปรับฟังว่า คนอื่นเขาคิดกันอย่างไร แล้วมาหารือใน กรธ.

"การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ผมคิดว่า การทำประชามติ ก็ยังคงต้องมี เพราะเมื่อกรธ.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว มันไม่มีองค์กรใดมารองรับ ไม่เหมือนครั้งที่แล้ว เขายังมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โหวตว่า จะรับ หรือไม่รับ แต่ 21 คนปัจจุบันนี้ ตัดหางปล่อยวัดเลย และถ้าขืนเอามาใช้เลย ก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นผมคิดว่าการทำประชามติ ยังเป็นของจำเป็น เพื่อที่จะทำให้ประชาชนได้รับรู้ เพราะต่อไปนี้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายทั้งปวง จะต้องปฏิบัติตามกันอย่างเคร่งครัด และการที่จะให้คนปฏิบัติตามได้นั้น ก็ต้องสร้างความรับรู้ และคนส่วนใหญ่ก็ต้องเห็นดี เห็นงามด้วย ถึงจะทำได้ และการทำประชามตินั้น คงต้องใช้คะแนนของคนที่มาออกเสียงเป็นเกณฑ์ ใครที่ไม่มาออกเสียง ก็ถือว่าสละสิทธิ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่คนที่ไม่มาออกเสียง หรือไม่กล้าออกเสียง ผมเรียกว่า โมฆะบุรุษ คือ ไม่มาใช้สิทธิเฉยๆ " นายมีชัย กล่าว

เมื่อถามว่า คิดว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะมีข้อแตกต่างจากของเดิมอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องของแรงกดดันต่างๆ นายมีชัย กล่าวว่า แนวคิดของประชาชนเปลี่ยนไปมาก ช่องทางการสื่อสารของประชาชนก็เปลี่ยนไปมาก ซึ่งความคิดต่างๆ อาจจะหลั่งไหลมาในหลายรูปแบบ ดังนั้น การที่จะร่างรัฐธรรมนูญให้ถูกใจคนทุกคนนั้น คงยาก แต่สิ่งที่ยากกว่าในการร่างรัฐธรรมนูญคือ ทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้าไปได้ และพอรับกันได้ในทุกฝ่าย

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นห่วงหรือไม่ว่า อาจจะมีคนมองว่าท่านเป็นคนรุ่นเก่า แต่แนวทางใหม่นี้ ท่านจะไปได้หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า "ผมเป็นคนรุ่นเก่าที่ค่อนข้างทันสมัย เพราะผมใช้เว็บไซต์ มาตั้งแต่พวกคุณยังไม่ใช้กันด้วยซ้ำ ผมว่าคนรุ่นไหนไม่สำคัญหรอก สำคัญที่ว่าคุณเปิดใจกว้างรับฟังคนอื่นหรือไม่ คนบางคนดูเหมือนรุ่นใหม่ ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตย แต่ใครมีความเห็นแย้งหน่อย จะถูกด่าเสียคนเลย แต่ผมไม่เป็นอย่างนั้น ใครจะบอกอะไรก็ได้ ผมก็เอากลับไปคิด ถ้าดีก็เอาไปทำ แต่ถ้าไม่ดี มีช่วงโหว่ ช่องว่าง การฟังคนอื่นเสนอแนะ ไม่ใช่เป็นเรื่องเสียหาย เป็นเรื่องดี การพูดมาก ๆ เสียอีก ที่ไม่ดี "นายมีชัย กล่าว

เปิดรายชื่อ 200 สปท.อดีตขรก.เพียบ

ในวันเดียวกันนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยระบุว่า ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 มาตรา 39/2 วรรคสอง บัญญัติให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ประกอบด้วยสมาชิกจํานวนไม่เกินสองร้อยคน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง นายกรัฐมนตรี จึงแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ดังต่อไปนี้

พล.ท.กมล สุวภาพ, นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ, พล.ท.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์, นายกลินท์ สารสิน, นายกษิดิ์เดชธนทัต เสกขุนทด, นายกษิดิศ อาชวคุณ, นายกษิต ภิรมย์ , นางกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา, นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล, นายกิตติ กิตติโชควัฒนา, นายกิตติ พิทักษ์นิตินันท์, นายเกรียงยศ สุดลาภา

พล.ร.อ.ไกรวุธ วัฒนธรรม, นายขวัญชัย ดวงสถาพร, พล.อ.อ.ขวัญชัย เอี่ยมรักษา, นายเข็มชัย ชุติวงศ์, พล.ท.คณิต แจ่มจันทรา, พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร, พล.อ.คณิต อุทิตสาร , นายคณิสสร นาวานุเคราะห์, พล.อ.อ.คธาทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา, นายคํานูณ สิทธิสมาน, นายคุรุจิต นาครทรรพ, ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์, พล.อ.จารุเกียรติ ชัยวงษ์, นายจินดา วงศ์สวัสดิ์, พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์, พล.ร.อ.จีรพัฒน์ ปานสกุณ, นายจุมพล สุขมั่น, นางจุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์, พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม , นายเฉลิมพล ประทีปะวณิช, นายเฉลิมศักดิ์ อบสุวรรณ, พล.ร.อ.ชนินทร์ ชุณหรัชพันธุ์, นายชัย ชิดชอบ, พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล, นายชาญวิทย์ ผลชีวิน , นายชาลี เอียดสกุล

พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์, นายชูชัย ศุภวงศ์, นายชูชาติ อินสว่าง, นายชูศักดิ์ เกวี, พล.อ.ชูศักดิ์ เมฆสุวรรณ์, พล.อ.ชูศักดิ์ สันติวรวุฒิ, พล.อ.ชูศิลป์ คุณาไทย, นายฐาปบุตร ชมเสวี, พล.อ.ฐิติวัจน์ กําลังเอก, นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์, พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง, พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์, นายณัฏฐ์ ชพานนท์, นายดํารงค์ พิเดช, นายดุ สิต เครืองาม , นายดุสิต ลีลาภัทรพันธุ์, พล.ต.ท.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา, นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา, นายตระกูล วินิจนัยภาค, พล.ต.ท.ตรีทศ รณฤทธิวิชัย, นายต่อพงศ์ เสลานนท์, พล.ต.อ.ไตรรัตน์ อมาตยกุล, นางถวิลวดี บุรีกุล, พล.อ.อ.ทวิเดนศ อังศุสิงห์, นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล, ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ, นายธงชัย ลืออดุลย์

พล.ท.ธงชัย สาระสุข, พ.อ.ธนศักดิ์มิตรภานนท์, นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์, นายธรรมศักดิ์ พงศ์พิชญามาตย์, พล.อ.ธวัช จารุกลัส, นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย, นายธวัชชัย ฟักอังกูร, พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร, นายธานินทร์ ผะเอม, พล.ต.ท.ธีรจิตร์ อุตมะ, พล.อ.อ.ธีระภาพ เสนะวงษ์, พล.อ.นคร สุขประเสริฐ, นางนรรัตน์ พิมเสน, นายนิกร จํานง, นางนินนาท ชลิตานนท์, พล.อ.อ.นิรันดร์ ยิ้มสรวล, นายบวรเวท รุ่งรุจี, นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์, พล.ท.บัญชา สิทธิวรยศ, นางเบญจวรรณ สร่างนิทร, พล.ร.อ.ประดิษฐ์ ศิริคุปต์, นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด, นายประภาศ คงเอียด, นายประมนต์ สุธีวงศ์, ร.อ.ประยุทธ เสาวคนธ์, นายประยูร เชี่ยววัฒนา, นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์

พล.อ.ปราการ ชลยุทธ, นายปรีชา บุตรศรี, พล.อ.อ.ปรีชา ประดับมุข, นางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล, นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ, น.ส.ปิยะธิดา ประดิษฐบาทุกา, นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา, พล.อ.อ.เผด็จ วงษ์ปิ่นแก้ว, นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์, นายพนม ศรศิลป์, นายพรชัย ตระกูลวรานนท์, พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, นางพรพันธุ์บุณยรัตพันธุ์, พล.อ.พหล สง่าเนตร, พล.อ.พอพล มณีรินทร์, พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป, พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์, นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต, นายไพฑูรย์ หลิมวัฒนา, พล.อ.ภิญโญ แก้วปลั่ง, พล.อ.ภูดิศ ทัตติยโชติ, พล.อ.อ.มนัส รูปขจร, นายมนู เลียวไพโรจน์, นางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์, นางเมธินี เทพมณี, พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ

พล.ร.อ.ยุทธนา เกิดด้วยบุญ, พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา, นางรวีวรรณ ภูริเดช, นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์, พล.อ.รัชกฤต กาญจนวัฒน์, พล.ต.อ.เรืองศักดิ์ จริตเอก, นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต, พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช, นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ, พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา, นายวรรณธรรม กาญจนสุวรรณ, พล.อ.วรวิทย์ พรรณสมัย, นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา, พล.ท.วราห์ บุญญะสิทธิ์, น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ, พล.อ.วัฒนา สรรพานิช, พล.อ.อ.วัธน มณีนัย, นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย, นายวันชัย สอนศิริ , นายวัลลภ พริ้งพงษ์, พล.อ.วิชิต ยาทิพย์, นายวิเชียร ชวลิต, พล.อ.วิเชียร ศิริสุนทร, นายวิทยา แก้วภราดัย, นายวินัย ดะห์ลัน, นายวิบูลย์ สงวนพงศ์, นายวิรัช ชินวินิจกุล

นายวิวัฒน์ ศัลยกําธร, นายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร, พล.อ.วุฒินันท์ ลีลายุทธ, นายไวกูณฑ์ ทองอร่าม, พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล, นายศานิตย์ นาคสุขศรี, นายศิริชัย ไม้งาม , นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์, นายสมชัย เจริญชัยฤทธิ์, นายสมชัย ฤชุพันธุ์, นายสมชาย พฤฒิกัลป์, พล.ท.สมชาย ลิ้นประเสริฐ, นายสมเดช นิลพันธุ์, นายสมพงษ์ สระกวี, นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์, พล.อ.สราวุฒิ ชลออยู่, พล.ท.สสิน ทองภักดี, นายสังศิต พิริยะรังสรรค์, นายสันตศักย์ จรูญ งามพิเชษฐ์, พ.อ.สิรวิชญ์ นาคทอง, นายสุชน ชาลีเครือ, พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล, นายสุนชัย คํานูณเศรษฐ์, นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล, พล.ท.สุรเดช เฟื่องเจริญ, นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์

พล.ร.อ.สุรินทร์ เริงอารมณ์, นายสุวัฒน์ จิราพันธุ์, พล.ต.ท.สุวิระ ทรงเมตตา, นายเสรี สุวรรณภานนท์, นายเสรี อติภัทธะ, นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์, พล.อ.อ.อนาวิล ภิรมย์รัตน์, พล.ร.อ.อนุทัย รัตตะรังสี, นายอนุสรณ์ จิรพงศ์, นายอนุสิษฐ คุณากร, นายอภิชาต จงสกุล, พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ, นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์, พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ, นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม, นายอรุณ จิรชวาลา, นายอลงกรณ์ พลบุตร, นายอิศรา ศานติศาสน์, นายอัครินทร์ เลิศกิจชัยศิริ, นายอับดุลฮาลิม มินซาร์, พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงศ์, พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย, พล.ต.ท.อํานวย นิ่มมะโน, นายอําพล จินดาวัฒนะ, นายอุทัย เลาหวิเชียร , พล.อ.เอกชัย จันทร์ศรี
กำลังโหลดความคิดเห็น