xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เฮียกวง” ปลุกใจ เลิกฝันร้าย นำทัพกู้ “ส่งออก” ติดลบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและและนายออมสิน ชีวพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ตัวเลขการส่งออกเดือนสิงหาคม 2558 ดิ่งเหวชนิดกู่ไม่กลับ ลดลงถึง - 6.69% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 สร้างความตกตะลึงชนิดอกสั่นขวัญแขวนแก่สมาคมผู้ส่งออกฯ อย่างยิ่งเพราะไม่นึกฝันว่าจะดำดิ่งเกินคาดขนาดนี้ ทำให้ อัศวินนาม “เฮียกวง”นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ รีบไสม้าศึกสีขาวประกาศกร้าว สร้างขวัญกำลังใจ อย่าตระหนกเรื่องการส่งออกที่ติดลบ ขอให้เลิกฝันร้ายได้แล้ว ขอให้เชื่อมั่น “เฮียกวง” กะ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)จะนำทัพทะลวงตลาดพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้เฟื่องฟูภายใน 3 ปีนี้อย่างแน่นอน

แต่คำปลุกปลอบขวัญของ “เฮียกวง” จะสะกดความตื่นตระหนกได้สักเพียงไหน มาดูความจริงที่เกิดขึ้นกันก่อน

เมื่อวันที่28 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยในเดือนสิงหาคม 2558 มีมูลค่า 17,669.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง6.69%เป็นการส่งออกติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 นับจากเดือนมกราคม 2558ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 16,948 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.77% โดยเกินดุลการค้ามูลค่า721.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับสาเหตุที่ทำให้การส่งออกลดลง มาจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ทำให้มีการนำเข้าลดลง ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกชะลอตัวต่อเนื่องและไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว ทำให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันส่งออกได้ลดลง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรตลาดโลกก็ปรับตัวลดลงมาก กระทบต่อราคาส่งออกของไทย แม้ปริมาณจะไม่ลดลง

นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการลดค่าเงินของคู่ค้าสำคัญ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งออก โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่า 12.7%ค่าเงินออสเตรเลียดอลลาร์ของออสเตรเลียลดลง 24.6% ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียลดลง33.2% ส่วนไทยลดลง 11.9% ซึ่งน้อยกว่าสกุลเงินอื่น ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ยากและมีราคาแพง แม้ว่าเงินบาทจะอ่อนค่ามาอยู่ที่ 36.28บาทต่อเหรียญสหรัฐก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับจีนที่ได้ลดค่าเงินหยวน ไทยยังคงอ่อนค่ามากกว่า

ทั้งนี้ เมื่อรวมการส่งออกในช่วง 8เดือนของปี 2558 (มกราคม - สิงหาคม) มีมูลค่า 142,747.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง4.92%การนำเข้ามีมูลค่า 137,782.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.18% โดยยังคงเกินดุลการค้ามูลค่า4,964.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

หากแยกหมวดรายประเภท จะพบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรในเดือนสิงหาคม ลดลงต่อเนื่องตามราคาสินค้าเกษตรโลก โดยลดลงถึง 8% จากการลดลงของข้าว 31.1%ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังลด 37.5% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปลด 14% กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูปลด25.5% ผลไม้สดแช่เย็นและแช่แข็งลด 2.4% แต่ยางพารา เพิ่มขึ้น 22.5% น้ำตาล เพิ่ม9.7% ไก่แปรรูป เพิ่ม 4.8% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เพิ่มขึ้น 4.7%

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ยังคงลดลง 3.2%จากการลดลงของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรืออุตสาหกรรมที่มีการใช้วัตถุดิบจากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก แต่รถยนต์และส่วนประกอบ กลับมาเป็นบวกได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเพิ่มขึ้น 6.8% เป็นการเพิ่มขึ้นของรถยนต์นั่ง86.8% ส่วนรถกระบะยังลดลง36.1%จากการเปลี่ยนรุ่น และทองคำกลับมาส่งออกได้เพิ่มมากถึง 973.7%จากการส่งออกเพื่อเก็งกำไร

สำหรับตลาดส่งออก พบว่า ตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน ยังหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยลดลง 1.9% , 6.7% , 2.3%และ 14.9% ตามลำดับ แต่การส่งออกไปยังตลาด CLMV เพิ่มขึ้น 5.5% จากการค้าชายแดน รวมถึงการส่งออกไปยังจีนที่กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง โดยเพิ่มขึ้น 0.4%

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขการส่งออกกับประเทศอื่นๆ ในโลกแล้ว การส่งออกของไทยถือว่าหดตัวต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ สถิติล่าสุดในช่วง7 เดือน ออสเตรเลีย ส่งออกลดลง 21.7% ฝรั่งเศส ลด 14.7% สิงคโปร์ ลดลง 13.1%มาเลเซีย ลดลง 13.1% ญี่ปุ่น ลดลง 8.1% สหรัฐฯ ลด 5.5% เกาหลีใต้ ลด 5.2% และจีน ลด 0.5% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จีนมียอดส่งออกติดลบ แต่เมื่อดูส่วนแบ่งตลาด พบว่า ไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดในประเทศคู่ค้าสำคัญไว้ได้ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย และออสเตรเลีย เป็นต้น

ถึงแม้ตัวเลขการส่งออกจากติดลบต่อเนื่อง แต่นายสมเกียติ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่ติดลบ 3%โดยการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 4 เดือน ต้องทำได้ประมาณเดือนละ 1.9หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หากส่งออกทำได้ต่ำกว่านี้ การส่งออกก็จะติดลบมากขึ้น ซึ่งก็หวังว่าการส่งออกจะไม่ขยายตัวติดลบมากไปกว่านี้ เพราะจากการติดตามตัวเลขการนำเข้า พบว่าเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบในกลุ่มยานยนต์เข้ามามาก น่าจะส่งผลให้มีการส่งออกได้เพิ่มขึ้นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า และน่าจะเป็นตัวฉุดที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง เพราะตัวอื่นๆ อย่างสินค้าเกษตร ยังไม่น่าจะดีขึ้น

หากมองโอกาสที่จะทำเป้าให้ถึงเดือนละ1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายนั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ฟังจากนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ให้สัมภาษณ์สื่อ ก็เห็นเค้าลางว่ายากยิ่งนัก โดยนายนพพร บอกว่า การส่งออกของไทยปีนี้คาดว่าน่าจะเลวร้ายที่สุด หรือติดลบ 4-5% และเชื่อว่าเอกชนไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่านี้แล้ว เพราะไตรมาสที่ 4 เป็นช่วงที่ไม่มีคำสั่งซื้อ

“ผมตกใจมากกับตัวเลขการส่งออกเดือนสิงหาคมตามที่ติดลบเกือบ7% เพราะตอนแรก สรท.ประเมินไว้ว่าเดือนสิงหาคมจะติดลบเพียง 2.5-3%เนื่องจากปกติในช่วงเดือน 7-8 ถือเป็นช่วงพีคของการส่งออก ต่างประเทศจะมีออเดอร์สั่งซื้อสินค้ามากมายเพื่อตุนไว้หน้าหนาว หลังจากนั้นพอเข้าสู่ไตรมาสที่ 4 คำสั่งซื้อจะเหลือน้อยลง ดังนั้น หากขนาดจุดพีคยังติดลบขนาดนี้ ทั้งปีคาดว่าการส่งออกไทยอาจจะติดลบมากกว่า 6%”นายนพพร กล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 58 มีความเสี่ยงที่จะติดลบมากกว่าที่คาดไว้ในเดือนก่อนหน้าที่ประมาณร้อยละ4.0 โดยความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงยุโรป และเอเชียในภาพรวม ตลอดจนการเคลื่อนไหวในระดับต่ำของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันจังหวะการฟื้นตัวของมูลค่าการส่งออกของไทยในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งเท่ากับว่า ไทยอาจบันทึกตัวเลขการส่งออกเป็นตัวเลขติดลบในทุกเดือนของปี 2558ซึ่งจะมีผลทำให้ภาพรวมของการส่งออกในปีนี้ หดตัวในระดับที่ลึกที่สุดในรอบ 6 ปี

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2558 ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ที่ร้อยละ6.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แย่กว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ติดลบร้อยละ 3.0โดยปัจจัยลบสำคัญยังคงมาจากสัญญาณที่อ่อนแอของกำลังซื้อในตลาดส่งออกหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียนเดิม 5 ขณะที่การส่งออกไปจีนนั้น แม้จะพลิกกลับมาขยายตัวอีกครั้ง แต่ก็เป็นอัตราการเพิ่มที่ไม่สูงมากนัก

ขณะเดียวกัน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้แสดงความกังวลในโอกาสที่ไปประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับภาคเอกชน เรื่อง "ความคาดหวังของภาคเอกชนต่อแนวทางและกระบวนการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่12 (พ.ศ.2560-2564)" เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมาว่าถ้าการส่งออกยังติดลบ 3 ปี ติดต่อกันแบบนี้ ปีหน้าจะเป็นปีที่ค่อนข้างวิกฤตสำหรับไทย เพราะรายได้จากการส่งออกอยู่ที่ประมาณ70% ของจีดีพี วันนี้ที่เราอยู่ได้ส่วนหนึ่งเพราะการท่องเที่ยว และคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศปีนี้(จีดีพี) จะโตไม่เกิน 3%

ตัวเลขส่งออกเดือนสิงหาคมซึ่งหดตัวกว่าที่คาดการณ์ถึงเท่าตัวแบบไม่ไว้หน้าหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่เอาเสียเลย ทำให้ “เฮียกวง” ถือโอกาสในวันที่เดินทางไปตรวจเยี่ยมกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ปลุกระดมเรียกความเชื่อมั่นจากเอกชนร่วมทำศึกกู้วิกฤตส่งออก

“อย่าตระหนกเรื่องการส่งออกที่ติดลบ ขอให้เลิกฝันร้ายได้แล้ว เพราะรัฐบาล จะเดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่ ขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลจะสร้างเศรษฐกิจในประเทศสมดุลใน 3 ปี จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจตอนนี้เหลือแต่ภาคเอกชน ที่ต้องมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล และรัฐบาลจะเร่งทำเรื่องการส่งออกให้เต็มที่ โดยได้สั่งการให้มีการเพิ่มทูตพาณิชย์ในประเทศที่มีอำนาจซื้อสูง ทั้งอาเซียน ตะวันออกกลาง ประเทศอิหร่านและสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมให้เจาะตลาดแบบลึกและถี่ยิบ”

นายสมคิด ยังปลุกนายอาคม ตื่นจากฝันร้ายจากการคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยจะติดลบติดต่อกัน 3 ปี ว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นและไม่ควรตื่นตระหนก

“สงสัยอาคมคงเครียด รถไฟขับไม่ไป...ตรงไหนที่บอกว่าส่งออกติดลบต่อเนื่อง 3 ปี ตรงไหน แล้วผมก็โทรศัพท์ถามเขา (อาคม) แล้ว ผมว่าเราจะต้องอย่าตื่นตระหนก เราต้องดูว่าปีที่แล้วทั้งปีก็ไม่ได้ติดลบหมด แต่ลบและบวกสลับกันไป คือ ลบ 6 เดือน บวก 5 เดือน และที่การส่งออกติดลบทั้งปีแค่ร้อยละ 0.43 เท่านั้น แต่ปีนี้การส่งออกติดลบต่อเนื่องจริง แต่เราต้องดูว่าประเทศอื่นๆ ที่เป็นประเทศผู้ส่งออกก็ติดลบเหมือนกัน ไทยเป็นประเทศที่มีการส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก และติดลบแค่ร้อยละ 5ถ้าเรายืนอยู่ที่ติดลบร้อยละ 5 ได้ถือว่าเก่งมาก

“..... ที่บอกว่าการส่งออกของไทยจะติดลบ3 ปีมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เลิกฝันร้ายได้แล้ว ต้องมองโลกในแง่บวกว่าจะสู้กับมันบ้าง” นายสมคิด ปลุกปลอบใจคนกันเอง

นอกจากนั้น ยังยกตัวอย่างสัญญาณบวกของเศรษฐกิจไทยด้วยว่าตัวเลขด้านการท่องเที่ยวของไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยจำนวนนักท่องเที่ยวปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 24.8 ล้านคนและสร้างรายได้ให้ประเทศ 1.6ล้านล้านบาท และปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวสูงถึง 30 ล้านคน จะสร้างรายได้ 2.2ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 คิดเป็นสัดส่วนจีดีพีประมาณร้อยละ 14-15ส่วนในอีก 3 ปีข้างหน้าคาดว่า การเติบโตเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ร้อยละ 20ต่อปี ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2561 จะอยู่ที่ 50 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากการส่งออกติดลบอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลง

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. ระบุว่า ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย เหลือโต 2.7% จากที่คาดว่าจะโต 3%เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนและเอเชียที่ชะลอตัว ซึ่งส่งผลให้การส่งออกลดลง อีกทั้งได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จากเดิม 4.1%เหลือ 3.7% และคาดว่าการส่งออกปีนี้จะติดลบเพิ่มขึ้นจาก ลบ 1.5% เป็น 5%ส่วนปีหน้าจากเดิมที่คาดไว้ 2.5% เหลือเพียง 1.2% แต่หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ผล คาดจะทำให้จีดีพีโตได้เพิ่มอีก 0.1% ซึ่งจะมีการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือน ธันวาคมนี้

ส่วนการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ต่ำกว่าคาด จากเดิม 2% ลดเหลือ 1.9% การลงทุนภาคเอกชนติดลบ 0.5% คาดว่าจะดีขึ้นในปีหน้าเป็น บวก 5.4% โดยหวังว่าการเบิกจ่าย และลงทุนภาครัฐจะทำได้ดีต่อเนื่อง บวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของรัฐบาล ที่หากทำได้เร็ว และได้ผลมากกว่าคาด

ขณะที่เงินเฟ้อนั้นมีแนวโน้มต่ำลงตามต้นทุนและความต้องการซื้อที่ลดลง คาดว่าปีนี้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะลดต่ำกว่าที่คาดไว้เดิมที่ บาร์เรลละ 61.7ดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือเพียง 52.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ เงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจาก0.5% เป็นลบ 0.9% ในปีนี้ และปีหน้า จากเดิมที่คาดไว้ 1.6% เหลือ 1.2%แต่ยืนยันว่า ยังไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด ส่วนช่วงครึ่งปีหลังนี้ ธปท.คาดว่า จีดีพีจะโต 2.5%

แต่อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ยังคงเป้าจีดีพีไว้เช่นเดิม โดยนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สศค.ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สศค.ยังคงเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปีนี้ที่ 3% โดยในเดือนตุลาคม จะมีการปรับประมาณการอีกครั้ง ซึ่งจีดีพี ในปีนี้หากจะให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ในช่วงครึ่งปีหลังจีดีพีจะต้องขยายตัวให้ได้ 3% จากครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 2.9%

“จีดีพีเราคงปรับเดือนหน้า แต่จะเป็นเท่าไหร่นั้นต้องคอยดูตัวเลขอีกครั้ง เนื่องจากในช่วง 2-3สัปดาห์ที่ผ่านมามีมาตรการต่างๆ ออกมา ทั้งกองทุนหมู่บ้าน ที่ล่าสุดมีเงินลงสู่ระบบแล้ว 20,000 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 60,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเงินลงสู่ระบบได้ค่อนข้างเร็ว” นายกฤษฎา กล่าว

สำหรับการลงทุนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการใส่เม็ดเงินลงไปในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน เช่น กองทุนหมู่บ้านแล้ว การดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่25 กันยายนที่ผ่านมา เห็นชอบให้มีการลงเสา 5 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐภายในปี 2558 ภายใต้งบประมาณ2 แสนล้านบาท โดยกระบวนการทั้งหมดทั้งการเชิญชวนภาคเอกชน การทำสัญญาก่อสร้างต่างๆ จะต้องแล้วเสร็จภายในปีนี้

ทั้ง 5 โครงการ ประกอบด้วย1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี มูลค่า 56,725 ล้านบาท 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง มูลค่า 54,768ล้านบาท 3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย มูลค่า 82,494ล้านบาท 4.โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย ของ อบจ.นนทบุรี มูลค่า 4,142ล้านบาท และ 5.โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย ของเทศบาลนครราชสีมา มูลค่า 2,250ล้านบาท

นอกจากนั้น กระทรวงคมนาคม ยังเร่งผลักดัน โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทั้ง 19โครงการ วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ด้วยระบบประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding)จากเดิมมีโครงการลงทุนเพียง 17 โครงการ โดยอีก 2 โครงการที่จะเริ่มดำเนินการในปี2559 คือ รถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง วงเงินลงทุน 44,157 ล้านบาท และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง วงเงินลงทุนประมาณ 31,000 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในช่วงไตรมาสที่1 ปี 2559

โครงการลงทุนทั้ง 5 ด้าน คือ โครงข่ายขนส่งระบบรางระหว่างเมือง, โครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล,โครงข่ายถนน, การขนส่งทางน้ำ และการขนส่งทางอากาศ ซึ่งประกอบด้วย 19 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์3 สาย คือ พัทยา-มาบตาพุด, บางปะอิน-นครราชสีมา, บางใหญ่-กาญจนบุรี,โครงการรถไฟทางคู่ 5 ช่วง คือ คลอง 19-แก่งคอย, จิระ-ขอนแก่น,มาบกระเบา-จิระ, นครปฐม-หัวหิน และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร,
โครงการไฟความเร็วสูง 2 สาย คือ กรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-จีน และกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น, โครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล5 สาย คือ สายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ), สายสีชมพู(แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี), สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง), สีแดงเข้ม(บางซื่อ-หัวหมาก)/แดงอ่อน (พญาไท-ดอนเมือง), สีส้ม(ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี), โครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่สอง และโครงการขยายท่าเรือแหลมฉบัง

โครงการในฝันเหล่านี้ จะปลุกปั้นให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ราวไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ตามที่นายอาคม ตั้งเป้าหมายไว้

ขาเศรษฐกิจทั้งสองข้าง หนึ่งคือการส่งออกและหนึ่งคือการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจพ้นวิกฤตดังคำปลอบประโลมของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจหรือไม่ โปรดติดตามกันต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น