กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ลั่นเปิดมิติใหม่ สลัดทิ้งคราบกรุเก็บ “ผลงานวิจัย” ก้าวสู่บริบทกลไก “ส่งเสริมภาคการผลิต” ช่วยปรุงสินค้าคุณภาพเสิร์ฟขึ้น “SHELF” วางขายในห้างฯ พร้อมร่วมขบวนทัพรัฐบาลดัน “เศรษฐกิจชาติ” หลุดบ่วงความจน มุ่งพัฒนาคนสร้างนวัตกรรมขับเคลื่อน SMEs ไทยสู่อาเซียน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ปรับทิศทางการทำงานใหม่ให้สอดรับตามนโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจภายใต้การดูแลของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ปรับกลุ่มการทำงานใหม่ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจมีบทบาทเช่นเดียวกับ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะเพิ่มบทบาทเข้าไปมีส่วนสำคัญในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ในเชิงพาณิชย์ให้กับภาคเอกชนและประชาชนทุกกลุ่ม มุ่งเน้นส่งเสริมสนับสนุนแนะนำแนวทางในการนำผลงานการวิจัยจากห้องทดลอง (LAB) ไปสู่การพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพหลากหลายในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ และผลักดันให้เกิดการผลิตสินค้าระดับมาตรฐานสากล จนสามารถเป็นผลิตภัณฑ์บนชั้นวางขาย (SHELF) ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำหรือแข่งขันในตลาดใหญ่ระดับอาเซียนได้มากขึ้น
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงต่างมีกระบวนการผลิตความน่าเชื่อถือสูงโดยอาศัยผลงานการวิจัยต่างๆ จากการคิดค้นของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และแพทย์แขนงต่างๆ จากห้องแล็บก่อนจะถูกนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ทางการค้าในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ยกตัวอย่าง เครื่องสำอาง เครื่องกรองน้ำ ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ สมุนไพร ที่นับวันจะสร้างมูลค่าตลาดให้กับประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้วยข้อมูลจากอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยปี 2557 ระบุว่า สามารถสร้างยอดขายได้ถึง 2.1 แสนล้านบาท ซึ่งมีการขยายตัว 10% จากปี 2556 และคาดว่าหลังปี 2558ที่มีการเปิดประตูเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) น่าจะขยายยอดขายโตถึง15-20 % ขณะที่อุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายเครื่องกรองน้ำสำหรับใช้ในครัวเรือนในปี 2556 มีมูลค่าตลาดรวม 5,500 ล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมดังกล่าวจะเติบโตตามทิศทางการขยายตัวของการใช้น้ำประปาในครัวเรือนและการเติบโตของที่อยู่อาศัยในประเทศ และเชื่อว่าระยะต่อไปของอุตสาหกรรมนี้ก็จะสามารถขยายตลาดไปประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนได้เช่นกัน นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีในประเทศไทยที่ผ่านมาก็สร้างมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท โดยคาดว่าในปี 2558 นี้จะเติบโต 20% เพราะความต้องการใช้นาโนเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมมีมากขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและยา เป็นต้น
สำหรับแนวทางปฏิบัติที่จะผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ จากห้องทดลองตามโครงการต่างๆ ภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไปสู่ภาคการผลิตของเอกชนและประชาชนนั้น ดร.พิเชฐ กล่าวว่า จะเน้นให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและเอกชนที่มีศักยภาพทั้ง ภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรมการผลิต การเงิน การลงทุน และส่งออกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถผลักดันผลงานทางวิทยาศาสตร์ไปแปรเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่สร้างรายได้ให้คนไทยตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับชาติได้โดยเร็วที่สุด
“เราจะมุ่งส่งเสริมให้ SMEs หันมาใช้วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมากขึ้น และกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ขาดบุคลากรในปัจจุบันเราจะจัดเจ้าหน้าที่จากภาครัฐให้เข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันทำได้แล้วโดยไม่ผิดกฎหมาย”
สำหรับการที่รัฐบาลได้เพิ่มมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายด้านงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม จาก 200% เป็น 300% ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีความสำคัญต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยและเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ประการสำคัญ การพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ผลักดันและขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะทำให้ผลงานวิจัยในภาครัฐรองรับความต้องการเชิงพาณิชย์ที่แท้จริงแล้ว ยังเชื่อมโยงการวิจัยกับภาคเอกชนเพื่อให้มีนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ดีมีคุณภาพ เป็นที่น่าเชื่อถือ เพื่อการส่งออกและบริโภคภายในประเทศและต่างประเทศ
ทั้งนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังให้ความสำคัญยิ่งกับการทำหน้าที่เป็นข้อต่อให้กระทรวงต่างๆ โดยมุ่งเป้าหมายให้บริษัทขนาดใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี และผลิตภัณฑ์ชุมชน ได้เพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์จากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น สอดรับกับนโยบายพัฒนากำลังคนด้านการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อให้การพัฒนาฯ เป็นไปอย่างเต็มศักยภาพอีกด้วย