xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

มติ ก.ศป.6ต่อ0 ปิดคดีจดหมายน้อย ฟัน"หัสวุฒิ"พ้นจากราชการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในที่สุดกรณี "จดหมายน้อยฝากตำรวจ" ก็มีบทสรุปออกมาแล้ว โดยคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) มีมติ 6 ต่อ 0 ให้นายหัสวุฒิ วิทิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ออกจากราชการ และ พ้นจากตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด

โดยที่ประชุม ก.ศป. เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ตั้งแต่ช่วงบ่าย ไปจนถึงประมาณ 21.30 น. จึงได้ข้อสรุปดังกล่าวออกมา

ทั้งนี้ ที่ประชุม ก.ศป.ได้พิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนของ คณะกรรมการสอบสวน นายหัสวุฒิ วิทิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กรณี จดหมายน้อยฝากตำรวจ ที่ก.ศป. มีคำสั่ง ลับ ที่ 7/2558 ลงวันที่ 17 มี.ค. 58 ตั้งขึ้น

โดยที่ประชุมเห็นว่า แม้ไม่ปรากฏชัดว่า นายหัสวุฒิ ได้มีการมอบหมายให้ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง มีหนังสือ 2 ฉบับ แจ้งความประสงค์ของ นายหัสวุฒิ ว่าขอการสนับสนุน พ.ต.ท.ชูธเรศ ยิ่งยงดำรงกุล รอง ผกก.ป.สน.หัวหมาก ให้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้กำกับการ ไปถึง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยอ้างว่า พ.ต.ท.ชูธเรศ เป็นเพื่อนกับหลานชาย นายหัสวุฒิ ปรากฏตามหนังสือของ นายดิเรกฤทธิ์ ลงวันที่ 25 ต.ค. 56 และ วันที่ 7 ม.ค.57

แต่พยานหลักฐาน ก็รับฟังได้ว่า นายหัสวุฒิ มีส่วนรู้เห็นเป็นใจ และรับทราบในการกระทำของนายดิเรกฤทธิ์ อันเป็นการกระทำผิดวินัย ฐานไม่รักษาชื่อเสียงของตน และไม่รักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน มิให้เสื่อมเสีย โดยไม่กระทำการใดๆ อันได้ชื่อว่า เป็นผู้ประพฤติชั่ว ซึ่งถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่สมควร ตามประกาศ ก.ศป. เรื่องวินัยแห่งการเป็นตุลาการศาลปกครอง ลงวันที่ 19 ธ.ค. 44 ก.ศป. จึงมีมติโดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 22 วรรค สอง (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบกับข้อ 20 ของประกาศ ก.ศป. เรื่องวินัยแห่งการเป็นตุลาการศาลปกครอง ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2544 และข้อ 24 วรรคหนึ่ง (2) ของระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ. 2544 ให้ นายหัสวุฒิ ออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ ก.ศป. มีมติ

ทั้งนี้ ที่ประชุมก.ศป. มีการพิจารณาใน 2 ประเด็น คือ 

1. การกระทำของนายหัสวุฒิ มีความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ที่ประชุม ก.ศป.พิจารณาแล้ว มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียง เห็นว่า นายหัสวุฒิ มีความผิดตามข้อ 11 ประกาศ ก.ศป. เรื่องวินัยแห่งการเป็นตุลาการศาลปกครอง ที่ระบุว่า ตุลาการศาลปกครองต้องรักษาชื่อเสียงของตน และรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย โดยไม่กระทำการใดๆ อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว การประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
 
2. การพิจารณาลงโทษ นายหัสวุฒิ ที่ประชุม ก.ศป. ซึ่งขณะนั้นเหลืออยู่เพียง 6 เสียง ได้มีมติเอกฉันท์ 6 ต่อ 0 เสียง ให้นายหัสวุฒิออกจากราชการ และ พ้นจากตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดด้วย แต่ยังคงมีบำเน็จ บำนาญอยู่

ในการพิจารณาเพื่อลงมติในเรื่องนี้ ก.ศป. มีทั้งสิ้น 13 คน แต่เนื่องจาก นายวิษณุ วรัญญู เป็นกรรมการสอบสวนวินัย นายนภดล เฮงเจริญ นายวราวุธ ศิริยุทธวัฒนา เป็นกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวแล้ว จึงไม่ได้ร่วมลงมติ ขณะที่ นายพัลลภ รัตนจันทรา นายสมศักดิ์ ตัณฑเลขา เดินทางไปต่างประเทศ ทำให้ขณะพิจารณาว่า นายหัสวุฒิ ผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ มีกรรมการก.ศป. เหลือเพียง 7 คน และ เมื่อถึงเวลาพิจารณาว่า ควรลงโทษเพียงไร นายวีรวิทย์ วิวัฒนวานิช ติดภารกิจ จึงออกจากการประชุมไปก่อน ทำให้มติลงโทษเป็นเพียง 6 เสียง

ทั้งนี้ ก่อนที่จะได้บทสรุปให้นายหัสวุฒิ ออกจากราชการนั้น ก็มีการพิจารณากันมาต่อเนื่องยาวนาน โดยวันที่ 30 มี.ค. 58 ก.ศป. ได้มีมติ 8 ต่อ 3 ให้สั่งพักราชการนายหัสวุฒิ จากกรณีจดหมายน้อยฝากตำรวจดังกล่าว พร้อมกับสั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง

ต่อมา คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 ว่า นายหัสวุฒิ ไม่ผิด เนื่องจากพยาน หลักฐาน ไม่อาจบ่งชี้ว่า นายหัสวุฒิ มีความผิดตามที่มีการกล่าวหา แต่ ก.ศป. ก็ยังไม่คืนตำแหน่งประธานศาลปกครองให้นายหัสวุฒิ กลับมีความเห็นตามเสียงข้างน้อย ให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม และเรียกให้ นายหัสวุฒิ ไปชี้แจงข้อกล่าวหาอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ยื่นหนังสือร้องเรียนนายหัสวุฒิ เพิ่มเข้ามาอีกเรื่องคือ กรณีการเบิกค่าใช้จ่ายไม่โปร่งใส ในการเดินทางไปเป็นประธานพิธีอัญเชิญยอดฉัตรทองคำลูกแก้วมงคลนิมิต ประดิษฐานบนพระธาตุเจ้าจอมล้านนา วัดพิพัฒน์มงคล ต.ทุ่งเสลี่ยม อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ในช่วงเวลาเดียวกับการไปปฏิบัติราชการที่ จ.พิษณุโลก

เรื่องนี้หลังนี้ ก.ศป. ก็มีมติให้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง นายหัสวุฒิ ขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการฯ

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาของการถูกตั้งกรรมการสอบสวน นายหัสวุฒิ ได้พยายามต่อสู้ เนื่องจากเห็นว่า กระบวนการสอบสวนของ ก.ศป. และคณะกรรมการสอบสวน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีฟ้องร้องดำเนินดดีอาญากรรมการสอบสวนต่อศาลยุติธรรม และให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ซึ่งมีการระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการเมืองภายนอกเข้าแทรกแซงศาลปกครอง มุ่งหวังเพื่อกำจัดตัวเขาให้พ้นจากศาลปกครอง เนื่องจากไปขัดขวางการวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ไม่ให้เป็นไปในแนวทางที่ฝ่ายการเมืองกลุ่มดังกล่าวต้องการ

นายหัสวุฒิ ยังออกมาคาดการณ์ล่วงหน้าก่อนด้วยซ้ำว่า ในการประชุม ก.ศป.วันที่ 23 ก.ย.นั้น ก.ศป. จะมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา เพื่อให้ตัวเขาพ้นจากตำแหน่ง และผลที่ออกมาก็เป็นไปตามนั้น

เพราะการประชุมก.ศป. เพื่อพิจารณาในครั้งล่าสุดนี้ ไม่ได้มีการพูดถึง หรือมีการอิงตามมติเสียงข้างมาก หรือ ข้างน้อย ของคณะกรรมการสอบสวนที่มีมติมาก่อนหน้านั้น แต่เป็นการมีมติ โดย ก.ศป. พิจารณาจากพยานหลักฐาน ในสำนวนการสอบสวนเอง

อย่างไรก็ดี นายหัสวุฒิ ยังคงมีสิทธิในการยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งให้ออกจากราชการได้ ต่อศาลปกครอง ภายใน 90 วัน นับจากมีคำสั่งเป็นทางการ
 
แม้วันนี้ ก.ศป. จะมีมติให้นายหัสวุฒิ ออกจากราชการไปแล้ว แต่กระบวนการสอบวินัยร้ายแรง นายหัสวุฒิ ในคดีที่การเบิกค่าใช้จ่ายไม่โปร่งใสฯ ยังคงดำเนินต่อไป
                 
      เสมือนเป็นดาบสองไว้รอเชือด หากนายหัสวุฒิ ยังฮึดสู้


กำลังโหลดความคิดเห็น