คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองมีมติให้ “หัสวุฒิ” ออกจากราชการ-พ้นตำแหน่ง ปธ.ศาลปกครองสูงสุด ชี้พยานหลักฐานในสำนวนฟังได้ว่ารู้เห็นเป็นใจกรณีให้เลขาฯ ฝากเลื่อนขั้นตำรวจ ถือว่าผิดวินัยร้ายแรง เป็นผู้ประพฤติชั่ว ไม่อิงตามมติคณะกรรมการสอบสวนเสียงข้างมากที่เห็นว่าไม่มีมูลความผิด
วันนี้ (23 ก.ย.) สำนักงานศาลปกครองได้เผยแพร่เอกสารข่าวระบุผลการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ซึ่งได้มีการประชุมเมื่อช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ (23 ก.ย.) ว่าที่ประชุม ก.ศป.ได้พิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กรณีปมจดหมายน้อย ที่ ก.ศป.มีคำสั่งลับ ที่ 7/2558 ลงวันที่ 17 มี.ค. 58 แล้วเห็นว่า แม้ไม่ปรากฏชัดว่านายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ได้มีการมอบหมายให้นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง มีหนังสือ 2 ฉบับ แจ้งความประสงค์ของนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ว่าจะสนับสนุน พ.ต.ท.ชูธเรศ ยิ่งยงดำรงกุล รอง ผกก.ป.สน.หัวหมาก ให้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้กำกับการต่อรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามลำดับ ปรากฏตามหนังสือของนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ลงวันที่ 25 ตุลาคม 56 และวันที่ 7 มกราคม 57 แต่พยานหลักฐานก็รับฟังได้ว่านายหัสวุฒิมีส่วนรู้เห็นเป็นใจและรับทราบในกรณีที่นายดิเรกฤทธิ์กระทำการดังกล่าว อันเป็นการกระทำผิดวินัย ฐานไม่รักษาชื่อเสียงของตน และไม่รักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน มิให้เสื่อมเสีย โดยไม่กระทำการใดๆ อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ซึ่งถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่สมควร ตามข้อ 5 และข้อ 11 วรรคหนึ่ง ของประกาศ ก.ศป. เรื่องวินัยแห่งการเป็นตุลาการศาลปกครอง ลงวันที่ 19 ธ.ค. 44 ก.ศป. จึงมีมติโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 22 วรรคสอง (1) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบกับข้อ 20 ของประกาศ ก.ศป. เรื่องวินัยแห่งการเป็นตุลาการศาลปกครอง ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2544 และข้อ 24 วรรคหนึ่ง (2) ของระเบียบ ก.ศป.ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครอง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ. 2544 ให้นายหัสวุฒิออกจากราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ก.ศป.มีมติ
นอกจากนี้ มีรายงานว่า มติ ก.ศป.ดังกล่าวเป็นการลงมติ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการลงมติว่าเห็นว่านายหัสวุฒิมีความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ซึ่ง ก.ศป.มีมติ 7 ต่อ 0 เห็นว่า มีความผิดและครั้งที่สองเป็นการลงมติว่าควรลงโทษเพียงไร ซึ่ง ก.ศป.มีมติ 6 ต่อ 0 ให้นายหัสวุฒิออกจากราชการ อย่างไรก็ตาม ก.ศป.มีทั้งสิ้น 13 คน แต่เนื่องจากนายวิษณุ วรัญญู เป็นกรรมการสอบสวนวินัย นายนภดล เฮงเจริญ นายวราวุธ ศิริยุทธวัฒนา เป็นกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวแล้วจึงไม่ได้ร่วมมติ ขณะที่นายพัลลภ รัตนจันทรา นายสมศักดิ์ ตัณฑเลขา เดินทางไปต่างประเทศ ทำให้ขณะพิจารณาว่านายหัสวุฒิผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ มีกรรมการ ก.ศป.เหลือเพียง 7 คน และเมื่อพิจารณาว่าควรลงโทษเพียงไร นายวีรวิทย์ วิวัฒนวานิช ติดภารกิจจึงออกจากการประชุมไปก่อน ทำให้มติลงโทษเป็นเพียง 6 เสียง
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 มี.ค. ก.ศป.ได้มีมติ 8 ต่อ 3 ให้สั่งพักราชการนายหัสวุฒิ จากกรณีนายนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง จัดทำหนังสือจำนวน 2 ฉบับถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยอ้างว่านายหัสวุฒิมีความประสงค์ที่จะสนับสนุน พ.ต.ท.ชูธเรศ ยิ่งยงดำรงกุล รอง ผกก.ป.สน.หัวหมาก ในขณะนั้น ซึ่งเป็นเพื่อนกับหลานชายให้ได้รับการเลื่อนขั้นดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น พร้อมกับสั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง แม้คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงจะมีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 ว่าจากพยานหลักฐานไม่อาจบ่งชี้ว่านายหัสวุฒิมีความผิดตามที่มีการกล่าวหา แต่จากการประชุม ก.ศป.ตามเอกสารข่าวจะพบว่าไม่ได้เป็นการอิงตามมติเสียงข้างมาก หรือข้างน้อยของคณะกรรมกรรสอบสวน แต่เป็นการมีมติโดย ก ศป.พิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนเอง อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาของการถูกตั้งกรรมการสอบสวน นายหัสวุฒิได้พยายามต่อสู้ เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการสอบสวนของ ก.ศป.และคณะกรรมการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีฟ้องร้องดำเนินดดีอาญากรรมการสอบสวนต่อศาลยุติธรรม และให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนซึ่งมีการระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการเมืองภายนอกเข้าแทรกแซงศาลปกครองมุ่งหวังเพื่อกำจัดตนเองให้พ้นจากศาลปกครองเนื่องจากไปขัดขวางการวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับความมั่นคงไม่ให้เป็นไปในแนวทางที่ฝ่ายการเมืองกลุ่มดังกล่าวต้องการ รวมทั้งออกมาคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ในการประชุม ก.ศป.วันนี้ ก.ศป.จะมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งให้ตนเองพ้นจากตำแหน่ง และแม้วันนี้ ก.ศป.จะมีมติให้ออกจากราชการ แต่นายหัสวุฒิจะยังต้องถูกสอบวินัยร้ายแรงในคดีที่การเบิกค่าใช้จ่ายไม่โปร่งใสในการเดินทางไปเป็นประธานพิธีอัญเชิญยอดฉัตรทองคำลูกแก้วมงคลนิมิต ประดิษฐานบนพระธาตุเจ้าจอมล้านนา วัดพิพัฒน์มงคล ต.ทุ่งเสลี่ยม อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ในช่วงเวลาเดียวกับการไปปฏิบัติราชการที่ จ.พิษณุโลก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง