xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พักโทษ “2 แกนนำพูโล” อย่าทำ “เสียของ” อีกล่ะ?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ เข้าพบ พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาค 4 ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เพื่อหารือแนวทางป้องกันและช่วยเหลือเยาวชนที่ติดยาเสพติดในชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2558
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถ้าวันนี้ไม่มีข่าวปล่อยแบบสับสนอลหม่านชนิดจับแพะชนแกะ อย่างกรณีตำรวจมาเลเซียจับกุมผู้ต้องสงสัยร่วมแก๊งระเบิดราชประสงค์ไว้ได้ 8 คน เป็นชาวเสื้อเหลือง 4 คนกับชาวจีนสัญชาติอุยกูร์ 4 คน เชื่อว่าข่าวการปล่อยตัว “หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ” หรือ “ดาโอ๊ะ มะเซ็ง” เมื่อ 20 กันยายนที่ผ่านมา ข่าวนี้จะต้องอยู่ในความสนใจของประชาชน และสื่อมวลชนก็คงไม่นำเสนอเพียงวันเดียวแล้วเงียบหายไป

เช่นเดียวกับข่าวการปล่อยตัว “หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ” หรือ “สะมะแอ สะอะ” เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ครั้งนั้นก็ถูกข่าวระเบิดและ การเมืองในส่วนกลางกลบกลืน จนเป็นเพียงข่าวที่สื่อกระแสหลักรายงานเพื่อไม่ให้ตกข่าวเท่านั้น

ทั้งที่ในเชิงสัญลักษณ์นั้น การปล่อยตัวอดีต 2 ผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดน “พูโล” หรือ องค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี (Patani United Liberation Organization : PULO) ซึ่งเคยเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีความสำคัญระดับต้นๆ เคลื่อนไหวและปฏิบัติการอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยมีอิทธิพลและมีกองกำลังติดอาวุธที่จัดว่าใหญ่ที่สุด ซึ่งเคยได้สร้างความสูญเสียให้กับหน่วยงานของรัฐมาอย่างมหาศาล

ที่สำคัญพูโลเคยเป็นองค์กรนำที่มีมวลชนชาวมลายูให้การสนับสนุนมากสุด โดยเฉพาะด้านการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแบ่งแยกให้แผ่นดินปลายด้ามขวานได้ให้เป็น “รัฐปัตตานี”

ในยุคที่พูโลเกิดการแตกแยกและเสื่อมทรุดที่สุด สมาชิกของขบวนการนี้ที่ติดอาวุธอยู่ในชายแดนใต้เหลือเพียงกว่า 70 คน โดยแปรสภาพจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีอิทธิพลไปเป็นโจรเรียกค่าคุ้มครอง ซึ่งชาวสวนยางรายใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรม และนายทุนธุรกิจต่างๆ รู้ถึงกิตติศัพท์ของการต้องจ่ายค่าคุ้มครองเป็นอย่างดี

ขบวนการพูโลก่อตั้งโดย “เต็งกูบีรอ ตอกอนีลอ” หรือ “หะยีเต็งกูบีรอ ตอกอนีลอ” หรือ “นายอดุลย์ ณ วังคราม” บัณฑิตจากอินเดีย (เสียชีวิตแล้ว) ได้รวมตัวกับ “หะยีอับดุลเราะห์มาน” หรือ “นายกาบีร์ อับดุลเราะห์มาน” และเพื่อนๆ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2511 ที่ประเทศอินเดีย แล้วไปตั้งฐานอยู่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย การดำเนินงานในระยะแรกเน้นการปลุกระดมมวลชนโดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ผู้นำศาสนาและผู้นำท้องถิ่น โดยมีแนวทางในการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของรัฐปัตตานี

พูโลจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธสำเร็จเมื่อปี 2519 ผู้นำกองกำลังที่สำคัญมีหลายคน เช่น หะยียูโซะ ปากีสถาน และ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ มีการส่งเยาวชนไปฝึกวิชาทหารและการก่อวินาศกรรมที่ลิเบียและซีเรีย องค์กรเริ่มมีปัญหาจากการปราบปรามของรัฐและนโยบายใต้ร่มเย็นในช่วงหลัง จนปี 2525 จนนำไปสู่การแตกแยกภายในองค์กร

พูโลไม่เหมือนกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนอื่นๆ โดยเฉพาะขบวนการ บีเอ็นพีพี (BNPP) หรือ กลุ่มแนวร่วมปลอดปล่อยแห่งชาติปัตตานี ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2502 โดย เต็กกูยะลา นาเซร์ หรือ นายอดุลย์ ณ สายบุรี และไม่เหมือนกับขบวนการ บีอาร์อาร์เอ็น (BRRN) หรือ กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาลายู เป็นต้น

โดยพูโลเน้นในแนวทางยึดหลักการศาสนา วิถีชีวิตแบบมาลายูมาตุภูมิ สิทธิมนุษยชน การปลูกจิตสำนึกทางการเมือง และยกระดับการศึกษาให้กับมวลชนในชายแดนใต้ ซึ่งในครั้งนั้นได้รับการตอบรับจากมวลชนชาวมาลายูอย่างคึกคัก เนื่องจากนโยบายแก้ปัญหาไฟใต้ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และเกิดการกดขี่ข่มเหงคนมลายูจากเจ้าหน้าที่รัฐ

ในอดีตพูโลและขบวนการแบ่งแยกดินแดนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น บีเอ็นพีพี (BNPP) หรือ บีอาร์เอ็น (BRN) จะปฏิบัติการทางทหารกับเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ตำรวจ ทหารและอื่นๆ เป็นด้านหลัก โดยจะปฏิบัติการต่อประชาชนเฉพาะที่เป็น “สายลับ” หรือ “สายข่าว” เท่านั้น หากมีการฆ่าหรือจับครูไปเป็นตัวประกันก็เพื่อ “ต่อรอง” กับเจ้าหน้าที่ให้ปล่อยตัวคนของขบวนการที่ถูกจับกุม และที่สำคัญคือการเรียกค่าคุ้มครองจากเจ้าของธุรกิจและสวนยางก็เพื่อนำไปใช้ในการเคลื่อนไหว

การก่อการร้ายในไทยที่เป็นฝีมือของพูโลที่ใหญ่ที่สุดคือ การลอบวางระเบิดสนามบินดอนเมืองเมื่อเดือนมิถุนายน 2519 หรืออย่างการวางระเบิดสถานทูตอิสราเอล (แต่ไม่สำเร็จ) เมื่อปี 2527 และการวางระเบิดสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ เป็นต้น

แต่พูโลก็มีชะตากรรมเฉกเช่นเดียวกับขบวนการบีเอ็นพีพีและอื่นๆ นั่นคือ เมื่อเกิดความเป็นปึกแผ่นและมีความเข็มแข็งได้ระยะหนึ่ง ก็จะเกิดความแตกแยกทางความคิด หรืออุดมการณ์ที่ไม่ตรงกัน เป็นไปในลักษณะสนิมเกิดแต่เนื้อในตน สุดท้ายคือความตกต่ำขององค์กรได้ทำให้เกิดการแตกกระสานซ่านเซ็น มีการเปลี่ยนผู้นำและมีการตั้งสาขาขึ้นมาใหม่

ในปี 2528 หะยีอับดุลเราะห์มาน หรือที่หน่วยข่าวของไทยรู้จักกันในนามของ “อารง มูเร็ง” หรือ “อารง อเมริกา” ก็แยกตัวออกมาตั้งขบวนการใหม่ในชื่อ “นิว พูโล” มีการจัดตั้งสภาติดอาวุธเพื่อก่อการร้าย จนกลายเป็นว่ามี 2 พูโลที่ทางการไทยเรียกว่า “พูโลเก่า” และ “พูโลใหม่”

ในขณะที่ หะยีเต็งกูบีรอ ตอกอนีลอ ซึ่งเป็นประธานขบวนการพูโลเก่า และ หะยีอับดุลเราะห์มาน เป็นประธานขบวนการพูโลใหม่ ตั้งสำนักงานเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศย่านตะวันออกกลาง ในพื้นที่ชายแดนใต้ก็มีผู้ที่รับผิดชอบกองกำลังของขบวนการในการปฏิบัติการทางการเมืองและการทหาร

“หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ” คือหัวหน้าขบวนการพูโลเก่า และ “หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ” คือหัวหน้าขบวนการพูโลใหม่

และที่ทั้ง 2 หะยีต่างมีสร้อยห้อยท้ายชื่อว่า “ท่าน้ำ” เนื่องจากคนทั้ง 2 มีมาตุภูมิอยู่ที่บ้านท่าน้ำ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งในอดีตนั้นหน่วยข่าวกรองจะตั้งฉายาโจรก่อการร้ายตามภูมิลำเนา เช่น “วาซอ จำปากอ” หมายถึง นายวาซอ แห่งบ้านจำปากอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เป็นต้น

ภายใต้การนำของหัวหน้าพูโลแห่งบ้านท่าน้ำ ทั้ง 2 คนนี้ได้สร้างความสูญเสีย บาดเจ็บและล้มตายให้กับเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะตำรวจเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันกลุ่มโจรก็เสียชีวิตจำนวนมากจากปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น ติดตามและทลายค่ายพักบนเทือกเขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทือกเขาบูโด เทือกเขาเมาะแต และเทือกเขากูนุงจอนอง

นายตำรวจที่เป็นคู่ขับเคี่ยวกับ 2 ผู้นำขบวนการแห่งบ้านท่าน้ำที่นักข่าวรุ่น เก่ายังจำชื่อได้ดีคือ “พล.ต.ท.สาโรจน์ จินตวิโรจน์” และ “พล.ต.ท.กัมปนาท จินตวิโรจน์” รวมทั้ง “จ่าเพียร ข่าเหล็ก” หรือ “พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา” อดีต ผกก.สภ.บันนังสตา จ.ยะลา

ปี 2540-2541 เป็นปีที่ทั้งพูโลเก่าและพูโลใหม่ตกต่ำอย่างสุดขีด จิตวิญญาณ ในการต่อสู้เพื่อมาตุภูมิและการเมืองเกือบจะไม่เหลือ มีการแตกแยกเป็นกลุ่มเป็นก๊กของกองกำลังติดอาวุธ หาผลประโยชน์จากการเรียกค่าคุ้มครองและอื่นๆ รวมทั้งการจับคนเรียกค่าไถ่ มวลชนที่สนับสนุนเริ่มถอยห่าง ประกอบกับงานด้านการปราบปรามและพัฒนาทั้งของตำรวจ ทหาร และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รวมถึงปฏิบัติการของกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 (พตท.43) เริ่มได้ผล

สุดท้ายทั้ง “หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ” และ “หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ” ก็ตัดสินใจทิ้งที่มั่นใน จ.นราธิวาส และ จ.ปัตตานี ไปอาศัยอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

ต่อมาในครั้งที่ พล.ต.ท.บุญเพ็ญ บำเพ็ญบุญ นั่งเป็น ผบช.ภ.9 “หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ” กับ “หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ” และ “หะยีบือโด เบตง” ทั้งหมดคือแกนนำพูโลก็ถูกจับกุมดำเนินคดีได้จากที่พักในกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยความร่วมมือในทางลับระหว่างตำรวจไทยกับตำรวจสันติบาลของมาเลเซีย และนำตัวมาส่งให้ตำรวจไทยที่ริมแม่น้ำสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ถือเป็นการปิดฉากบทบาทของ 2 ผู้นำขบวนการพูโล

ทั้ง หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ และ หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ ถูกตัดสินโทษตลอดชีวิต โดยถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษบางขวาง ซึ่งตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่นจะมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง เข้าไปพูดคุยขอความร่วมมือในการแก้ปัญหาไฟใต้เป็นระยะๆ โดยเกือบทุกคนจะได้ “จดหมายน้อย” ติดมือออกมาจากเรือนจำ เพื่อนำไปส่งให้ถึงบุคคลที่ 3 จนในที่สุดทั้ง 2 คนก็กลายเป็น “นักโทษดีเด่น”

ในยุคที่นายภาณุ อุทัยรัตน์ นั่งเป็น ผอ.ศอ.บต. ต่อเนื่องด้วยก้าวขึ้นเป็น เลขาธิการ ศอ.บต. ได้มีการดำเนินกุศโลบายทางการเมืองเพื่อลดอุณหภูมิความร้อนของไฟใต้ ด้วยการเคลื่อนย้าย หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ และ หะยีบือโด เบตง ได้ถูกย้ายสถานที่ควบคุมตัวมาอยู่ที่เรือนจำกลาง จ.สงขลา เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับญาติและมิตรของคนทั้ง 3 ในการเยี่ยมเยือน

และเมื่อครั้ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ย้ายไปนั่งเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.ต่อจากนายภาณุ อุทัยรัตน์ ก็ได้สานต่อด้วยการประสานกับกรมราชทัณฑ์ในการแก้กฎระเบียบของเรือนจำในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สามารถคุมขังนักโทษที่มีโทษหนักได้ โดยไม่ต้องถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษบางขวาง จึงมีการย้ายแกนนำพูโลทั้ง 3 ไป ควบคุมตัวที่เรือนจำ จ.ปัตตานี

พร้อมทั้งมีการสานต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องการดำเนินการให้มีการปล่อยตัว “หะยีสะมาแอ ท่าน้ำ” และ “หะยีอาโอ๊ะ ท่าน้ำ” ก่อนกำหนด หรือที่เรียกว่าให้มีการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งมีวาระของการเมืองว่าด้วยเรื่องของสันติสุขไฟใต้เป็นฉากหลัง

แม้ว่าทั้ง 2 หะยีแห่งบ้านท่าน้ำจะถูกจองจำเป็นเวลานับกว่า 10 ปี แต่ “ชื่อของคน เงาของไม้” ยังมีความสำคัญกับคนส่วนหนึ่งในชายแดนใต้ แม้ว่า “แนวร่วม” ขบวนการบีอาร์เอ็นที่เวลานี้ถือเป็นตัวจริงเสียงจริงที่ก่อเหตุรุนแรงอยู่อาจจะไม่รู้จักว่าใครคือ “สะมะแอ” หรือใครคือ “ดาโอ๊ะ” แต่ในกลุ่มองค์กรนำรุ่นใหญ่ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่างยังรู้จัก และที่สำคัญสามารถที่จะเชื่อมต่อกับอดีตผู้นำพูโลทั้ง 2 คนได้เป็นอย่างดี

ประกอบกับในการ “พูดคุยสันติสุข” ระหว่าง พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะตัวแทนของรัฐไทย กับ “มารา ปาตานี” ที่เกิดจากการรวมตัวของ 6 กลุ่มครั้งล่าสุดที่เพิ่งผ่านมา ในเวทีก็ยังมีตัวแทนของพูโลถึง 3 กลุ่ม นั่นหมายถึงมีเสียงถึง 3 ใน 6 คะแนนทีเดียว

ดังนี้แล้ว การพักโทษ “หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ” และ “หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ” จึงมีเลศนัยที่สำคัญไม่น้อย

ย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวของพูโลหลังการสูเสีย 2 ผู้นำให้ต้องไปอยู่ในเรือนจำ สถานะของขบวนการเกือบจะหยุดการเคลื่อนไหว เกือบจะไม่มีส่วนในเหตุการณ์ความไม่สงบในระยะ 11 ปีที่ผ่านมา

แต่ถ้าใครได้ไปดู “แฟ้มข่าว” ของหน่วยข่าวความมั่นคงก็พบว่า เมื่อปี 2548-2550 ทั้งพูโลเก่าและพูโลใหม่ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง และมีความเคลื่อนไหวในทางการเมืองอย่างผิดสังเกต

โดยเฉพาะมีการตั้งข้อสงสัยว่า การก่อเหตุร้ายหลายครั้งในห้วงเดือนรอมฎอนปี 2556 ที่ขบวนการบีอาร์เอ็นในฐานะแก่นแกนฝ่ายเห็นต่างรัฐไทยรับปากในเวที “พูดคุยสันติภาพ” ในสมัยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และมี พล.ท.ภราดร พัฒนาถาบุตร เลขาธิการ สมช.เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ปฏิบัติการความรุนแรงในชายแดนใต้ช่วงนั้นเป็นฝีมือของพูโล ทั้งนี้ก็เพื่อดิสเครดิตบีอาร์เอ็นที่ไม่มีการจัดที่นั่งในเวทีพูดคุยสันติภาพให้กับพูโลนั่นเอง

จึงหวังว่าการพักโทษ 2 แกนนำพูโลในห้วงเวลานี้ นอกจากจะนำไปสู่การได้ผลในเชิงของสังคมจิตวิทยามวลชน ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงคาดหวังว่าทั้ง 2 คนจะช่วยสานสร้างความสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้นั้น

สิ่งนี้จะไม่เป็นการ “เสียของ” เหมือนดั่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่กำลังดังขึ้นเรื่อยๆ


หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ เปิดบ้านให้ญาติและผู้คนเข้าเยี่ยม รวมถึงให้สัมภาษณ์สื่อหลังได้รับอิสรภาพ
หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ เข้าพบและยื่นหนังสือขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้ดำเนินการให้พักโทษผ่าน นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. ขณะเดียวกันก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ประสานงานด้านเศรษฐกิจและการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จาก ศอ.บต.ด้วย เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2558
หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ ลุกขึ้นต้อนรับแขกที่ไปร่วมแสดงความยินดีหลังสู่อิสรภาพได้ 1 วัน เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2558
 ภาพ 10. หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ ในวันที่ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2558
“มารา ปาตานี” ที่เกิดจากการรวมตัวของ 6 กลุ่มครั้งล่าสุดที่เพิ่งผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น