xs
xsm
sm
md
lg

พักโทษ “2 แกนนำพูโล” อย่าทำ “เสียของ” อีกล่ะ?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ ในวันที่เข้าพบแม่ทัพภาคที่ 4 หลังได้รับอิสรภาพ
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
ถ้าวันนี้ไม่มีข่าวปล่อยแบบสับสนอลหม่านชนิดจับแพะชนแกะ อย่างกรณีตำรวจมาเลเซียจับกุมผู้ต้องสงสัยร่วมแก๊งระเบิดราชประสงค์ไว้ได้8 คน เป็นชาวเสือเหลือง 4 คน กับชาวจีนสัญชาติอุยกูร์ 4 คน เชื่อว่าข่าวการปล่อยตัว “หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ” หรือ “ดาโอ๊ะ มะเซ็ง” เมื่อ 20 กันยายนที่ผ่านมา ข่าวนี้จะต้องอยู่ในความสนใจของประชาชน และสื่อมวลชนก็คงไม่นำเสนอเพียงวันเดียวแล้วเงียบหายไป
 
เช่นเดียวกับข่าวการปล่อยตัว “หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ”หรือ “สะมะแอ สะอะ” เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ครั้งนั้นก็ถูกข่าวระเบิด และการเมืองในส่วนกลางกลบกลืนจนเป็นเพียงข่าวที่สื่อกระแสหลักรายงานเพื่อไม่ให้ตกข่าวเท่านั้น
 
ทั้งที่ในเชิงสัญลักษณ์นั้น การปล่อยตัวอดีต 2 ผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดน “พูโล” หรือ องค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี (Patani United Liberation Organization : PULO) ซึ่งเคยเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีความสำคัญระดับต้นๆ เคลื่อนไหว และปฏิบัติการอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยมีอิทธิพล และมีกองกำลังติดอาวุธที่จัดว่าใหญ่ที่สุด ซึ่งเคยได้สร้างความสูญเสียให้แก่หน่วยงานของรัฐมาอย่างมหาศาล
 
ที่สำคัญพูโลเคยเป็นองค์กรนำที่มีมวลชนชาวมลายูให้การสนับสนุนมากสุด โดยเฉพาะด้านการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแบ่งแยกให้แผ่นดินปลายด้ามขวานได้ ให้เป็น “รัฐปัตตานี
 
ในยุคที่พูโลเกิดการแตกแยก และเสื่อมทรุดที่สุด สมาชิกของขบวนการนี้ที่ติดอาวุธอยู่ในชายแดนใต้เหลือเพียงกว่า 70 คน โดยแปรสภาพจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีอิทธิพลไปเป็นโจรเรียกค่าคุ้มครอง ซึ่งชาวสวนยางรายใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรม และนายทุนธุรกิจต่างๆ รู้ถึงกิตติศัพท์ของการต้องจ่ายค่าคุ้มครองเป็นอย่างดี
 
หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ ในวันเปิดบ้านต้อนรับญาติมิตรหลังได้รับอิสรภาพ
 
ขบวนการพูโลก่อตั้งโดย “เต็งกูบีรอ ตอกอนีลอ” หรือ “หะยีเต็งกูบีรอ ตอกอนีลอ” หรือ “นายอดุลย์ณวังคราม” บัณฑิตจากอินเดีย (เสียชีวิตแล้ว) ได้รวมตัวกับ “หะยีอับดุลเราะห์มาน” หรือ “นายกาบีร์ อับดุลเราะห์มาน” และเพื่อนๆ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2511 ที่ประเทศอินเดีย แล้วไปตั้งฐานอยู่ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย การดำเนินงานในระยะแรกเน้นการปลุกระดมมวลชนโดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ผู้นำศาสนา และผู้นำท้องถิ่นโดยมีแนวทางในการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของรัฐปัตตานี
 
พูโล จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธสำเร็จเมื่อปี 2519 ผู้นำกองกำลังที่สำคัญมีหลายคน เช่น หะยียูโซะ ปากีสถาน และ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ มีการส่งเยาวชนไปฝึกวิชาทหาร และการก่อวินาศกรรมที่ลิเบีย และซีเรีย องค์กรเริ่มมีปัญหาจากการปราบปรามของรัฐ และนโยบายใต้ร่มเย็นในช่วงหลังจนปี 2525 จนนำไปสู่การแตกแยกภายในองค์กร
 
พูโลไม่เหมือนกับขบวนการบ่างแยกดินแดนอื่นๆ โดยเฉพาะขบวนการ บีเอ็นพีพี (BNPP) หรือ กลุ่มแนวร่วมปลอดปล่อยแห่งชาติปัตตานี ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2502 โดย เต็งกูยะลา นาเซร์ หรือ นายอดุลย์ ณ สายบุรี และไม่เหมือนกับ ขบวนการบีอาร์อาร์เอ็น (BRRN)หรือ กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู เป็นต้น
 
โดยพูโลเน้นในแนวทางยึดหลักการศาสนา วิถีชีวิตแบบมลายูมาตุภูมิ สิทธิมนุษยชน การปลุกจิตสำนึกทางการเมือง และยกระดับการศึกษาให้แก่มวลชนในชายแดนใต้ ซึ่งในครั้งนั้นได้รับการตอบรับจากมวลชนชาวมลายูอย่างคึกคัก เนื่องจากนโยบายแก้ปัญหาไฟใต้ไม่สอดคล้องต่อวิถีชีวิต และเกิดการกดขี่ข่มเหงคนมลายูจากเจ้าหน้าที่รัฐ
 
ในอดีตพูโล และขบวนการแบ่งแยกดินแดนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น บีเอ็นพีพี (BNPP) หรือ บีอาร์เอ็น (BRN) จะปฏิบัติการทางทหารต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ตำรวจ ทหาร และอื่นๆ เป็นด้านหลัก โดยจะปฏิบัติการต่อประชาชนเฉพาะที่เป็น “สายลับ” หรือ “สายข่าว” เท่านั้น หากมีการฆ่าหรือจับครูไปเป็นตัวประกันก็เพื่อ “ต่อรอง” กับเจ้าหน้าที่ให้ปล่อยตัวคนของขบวนการที่ถูกจับกุม และที่สำคัญคือ การเรียกค่าคุ้มครองจากเจ้าของธุรกิจ และสวนยางก็เพื่อนำไปใช้ในการเคลื่อนไหว
 
การก่อการร้ายในไทยที่เป็นฝีมือของพูโลที่ใหญ่ที่สุดคือ การลอบวางระเบิดสนามบินดอนเมืองเมื่อเดือนมิถุนายน 2519 หรืออย่างการวางระเบิดสถานทูตอิสราเอล (แต่ไม่สำเร็จ) เมื่อปี 2527 และการวางระเบิดสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ เป็นต้น
 
แต่พูโลก็มีชะตากรรมเฉกเช่นเดียวกับขบวนการบีเอ็นพีพี และอื่นๆ นั่นคือ เมื่อเกิดความเป็นปึกแผ่น และมีความเข้มแข็งได้ระยะหนึ่งก็จะเกิดความแตกแยกทางความคิด หรืออุดมการณ์ที่ไม่ตรงกันเป็นไปในลักษณะสนิมเกิดแต่เนื้อในตน สุดท้ายคือความตกต่ำขององค์กรได้ทำให้เกิดการแตกกระสานซ่านเซ็นมีการเปลี่ยนผู้นำ และมีการตั้งสาขาขึ้นมาใหม่
 
กลุ่มมารา ปาตานี แถลงข่าวหลังร่วมโต๊ะพูดคุยสันติสุขกับตัวแทนรัฐไทย ณ โรงแรมกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเเซีย
 
ในปี 2528 หะยีอับดุลเราะห์มาน หรือที่หน่วยข่าวของไทยรู้จักกันในนามของ “อารง มูเร็ง” หรือ “อารง อเมริกา” ก็แยกตัวออกมาตั้งขบวนการใหม่ในชื่อ “นิวพูโล” มีการจัดตั้งสภาติดอาวุธเพื่อก่อการร้ายจนกลายเป็นว่ามี 2 พูโล ที่ทางการไทยเรียกว่า “พูโลเก่า” และ “พูโลใหม่”
 
ในขณะที่ หะยีเต็งกูบีรอ ตอกอนีลอ ซึ่งเป็นประธานขบวนการพูโลเก่า และ หะยีอับดุลเราะห์มานเป็นประธานขบวนการพูโลใหม่ ตั้งสำนักงานเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศย่านตะวันออกกลาง ในพื้นที่ชายแดนใต้ก็มีผู้ที่รับผิดชอบกองกำลังของขบวนการในการปฏิบัติการทางการเมือง และการทหาร
 
“หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ” คือหัวหน้าขบวนการพูโลเก่า และ “หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ” คือหัวหน้าขบวนการพูโลใหม่ 
 
และที่ทั้ง 2 หะยีต่างมีสร้อยห้อยท้ายชื่อว่า “ท่าน้ำ” เนื่องจากคนทั้ง 2 มีมาตุภูมิอยู่ที่บ้านท่าน้ำ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งในอดีตนั้นหน่วยข่าวกรองจะตั้งฉายาโจรก่อการร้ายตามภูมิลำเนาเช่น “วาซอ จำปากอ” หมายถึง นายวาซอ แห่งบ้านจำปากอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เป็นต้น
 
ภายใต้การนำของหัวหน้าพูโลแห่งบ้านท่าน้าทั้ง 2 คนนี้ ได้สร้างความสูญเสีย บาดเจ็บ และล้มตายให้แก่เจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะตำรวจเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน กลุ่มโจรก็เสียชีวิตจำนวนมากจากปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น ติดตาม และทลายค่ายพักบนเทือกเขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทือกเขาบูโด เทือกเขาเมาะแต และเทือกเขากูนุงจอนอง
 
นายตำรวจที่เป็นคู่ขับเคี่ยวกับ 2 ผู้นำขบวนการแห่งบ้านท่าน้ำที่นักข่าวรุ่นเก่ายังจำชื่อได้ดีคือ “พล.ต.ท.สาโรจน์ จินตวิโรจน์” และ “พล.ต.ท.กัมปนาท จินตวิโรจน์” รวมทั้ง “จ่าเพียร ข่าเหล็ก” หรือ “พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา” อดีต ผกก.สภ.บันนังสตา จ.ยะลา
 
ปี 2540-2541 เป็นปีที่ทั้งพูโลเก่า และพูโลใหม่ตกต่ำอย่างสุดขีด จิตวิญญาณในการต่อสู้เพื่อมาตุภูมิ และการเมืองเกือบจะไม่เหลือ มีการแตกแยกเป็นกลุ่มเป็นก๊กของกองกำลังติดอาวุธหาผลประโยชน์จากการเรียกค่าคุ้มครอง และอื่นๆ รวมทั้งการจับคนเรียกค่าไถ่ มวลชนที่สนับสนุนเริ่มถอยห่าง ประกอบกับงานด้านการปราบปรามและพัฒนาทั้งของตำรวจ ทหาร และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รวมถึงปฏิบัติการของกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 (พตท.43) เริ่มได้ผล
 
สุดท้าย ทั้ง “หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ” และ “หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ” ก็ตัดสินใจทิ้งที่มั่นใน จ.นราธิวาส และ จ.ปัตตานี ไปอาศัยอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
 
ต่อมา ในครั้งที่ พล.ต.ท.บุญเพ็ญ บำเพ็ญบุญ นั่งเป็น ผบช.ภ.9 “หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ” กับ “หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ” และ “หะยีบือโด เบตง” ทั้งหมดคือแกนนำพูโลก็ถูกจับกุมดำเนินคดีได้จากที่พักในกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยความร่วมมือในทางลับระหว่างตำรวจไทย กับตำรวจสันติบาลของมาเลเซีย และนำตัวมาส่งให้ตำรวจไทยที่ริมแม่น้ำสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ถือเป็นการปิดฉากบทบาทของ 2 ผู้นำขบวนการพูโล
 
ทั้ง หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ และ หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ ถูกตัดสินโทษตลอดชีวิต โดยการควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษบางขวางซึ่งตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่นจะมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงเข้าไปพูดคุยขอความร่วมมือในการแก้ปัญหาไฟใต้เป็นระยะๆ โดยเกือบทุกคนจะได้ “จดหมายน้อย” ติดมือออกมาจากเรือนจำเพื่อนำไปส่งให้ถึงบุคคลที่ 3 จนในที่สุดทั้ง 2 คน ก็กลายเป็น “นักโทษดีเด่น”
 
ในยุคที่ นายภาณุ อุทัยรัตน์ นั่งเป็น ผอ.ศอ.บต. ต่อเนื่องด้วยก้าวขึ้นเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ได้มีการดำเนินกุศโลบายทางการเมืองเพื่อลดอุณหภูมิความร้อนของไฟใต้ด้วยการเคลื่อนย้าย หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ หะยีดาโอ๊ะท่าน้ำและหะยีบือโดเบตงได้ถูกย้ายสถานที่ควบคุมตัวมาอยู่ที่เรือนจำกลาง จ.สงขลา เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ญาติ และมิตรของคนทั้ง 3 ในการเยี่ยมเยือน
 
และเมื่อครั้ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ย้ายไปนั่งเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.ต่อจาก นายภาณุ อุทัยรัตน์ ก็ได้สานต่อด้วยการประสานกับกรมราชทัณฑ์ในการแก้กฎระเบียบของเรือนจำในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถคุมขังนักโทษที่มีโทษหนักได้ โดยไม่ต้องถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษบางขวาง จึงมีการย้ายแกนนำพูโลทั้ง 3 ไป ควบคุมตัวที่เรือนจำ จ.ปัตตานี
 
พร้อมทั้งมีการสานต่อกันมาอย่างต่อเนื่องในเรื่องการดำเนินการให้มีการปล่อยตัว “หะยีสะมาแอ ท่าน้ำ” และ “หะยีอาโอ๊ะ ท่าน้ำ” ก่อนกำหนด หรือที่เรียกว่าให้มีการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งมีวาระของการเมืองว่าด้วยเรื่องของสันติสุขไฟใต้เป็นฉากหลัง
 
แม้ว่าทั้ง 2 หะยีแห่งบ้านท่าน้ำ จะถูกจองจำเป็นเวลานับกว่า 10 ปี แต่ “ชื่อของคน เงาของไม้” ยังมีความสำคัญต่อคนส่วนหนึ่งในชายแดนใต้ แม้ว่า “แนวร่วม” ขบวนการบีอาร์เอ็นที่เวลานี้ถือเป็นตัวจริงเสียงจริงที่ก่อเหตุรุนแรงอยู่อาจจะไม่รู้จักว่าใครคือ “สะมะแอ” หรือใครคือ “ดาโอ๊ะ” แต่ในกลุ่มองค์กรนำรุ่นใหญ่ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่างยังรู้จัก และที่สำคัญสามารถที่จะเชื่อมต่อกับอดีตผู้นำพูโลทั้ง 2 คนได้เป็นอย่างดี
 
ประกอบกับในการ “พูดคุยสันติสุข” ระหว่าง พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะตัวแทนของรัฐไทย กับ“มารา ปาตานี”ที่เกิดจากการรวมตัวของ 6 กลุ่มครั้งล่าสุดที่เพิ่งผ่านมา ในเวทีก็ยังมีตัวแทนของพูโลถึง 3 กลุ่ม นั่นหมายถึงมีเสียงถึง 3 ใน 6 คะแนนทีเดียว
 
ดังนี้แล้ว การพักโทษ “หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ” และ “หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ” จึงมีเลศนัยที่สำคัญไม่น้อย
 
ย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวของพูโลหลังการสูเสีย 2 ผู้นำให้ต้องไปอยู่ในเรือนจำ สถานะของขบวนการเกือบจะหยุดการเคลื่อนไหว เกือบจะไม่มีส่วนในเหตุการณ์ความไม่สงบในระยะ 11 ปีที่ผ่านมา
 
แต่ถ้าใครได้ไปดู “แฟ้มข่าว” ของหน่วยข่าวความมั่นคงก็พบว่า เมื่อปี 2548-2550 ทั้งพูโลเก่า และพูโลใหม่ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง และมีความเคลื่อนไหวในทางการเมืองอย่างผิดสังเกต
 
โดยเฉพาะมีการตั้งข้อสงสัยว่า การก่อเหตุร้ายหลายครั้งในห้วงเดือนรอมฎอนปี 2556 ที่ขบวนการบีอาร์เอ็นในฐานะแก่นแกนฝ่ายเห็นต่างรัฐไทยรับปากในเวที “พูดคุยสันติภาพ” ในสมัยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และมี พล.ท.ภราดร พัฒนาถาบุตร เลขาธิการ สมช.เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยปฏิบัติการความรุนแรงในชายแดนใต้ช่วงนั้นเป็นฝีมือของพูโล ทั้งนี้ ก็เพื่อดิสเครดิตบีอาร์เอ็นที่ไม่มีการจัดที่นั่งในเวทีพูดคุยสันติภาพให้กับพูโลนั่นเอง
 
จึงหวังว่าการพักโทษ 2 แกนนำพูโลในห้วงเวลานี้ นอกจากจะนำไปสู่การได้ผลในเชิงของสังคมจิตวิทยามวลชนซึ่งหน่วยงานความมั่นคงคาดหวังว่าทั้ง 2 คนจะช่วยสานสร้างความสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้นั้น
 
สิ่งนี้จะไม่เป็นการ “เสียของ” เหมือนดั่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่กำลังดังขึ้นเรื่อยๆ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น