xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ใครกันแน่จะถูกจัดหนักที่นิวยอร์ก” สัปดาห์นายกฯลุงตู่ บินประชุมฯยูเอ็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ระหว่างวันที่ 23 กันยายน-1 ตุลาคม 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ จะเดินทางไปร่วมการประชุมฯ สมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

การเดินทางไปในครั้งนี้ รัฐบาลทราบแล้วว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น วันก่อน “พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า “สิ่งที่นายกรัฐมนตรีเป็นห่วง คือการจะเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นจีเอ) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปลายเดือน ก.ย.นี้ โดยเข้าใจว่าอาจจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะไปแสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องของเขา แต่คงมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่เป็นห่วงนายกฯ และอยากจะให้กำลังใจท่าน ทั้งหมดนี้นายกฯเป็นห่วงว่าต่างชาติจะไม่เข้าใจในเรื่องดังกล่าว จึงขอฝากให้คนไทยว่าไม่มีใครรักประเทศไทยมากไปกว่าคนไทย หากจะทำอะไรไปก็ตาม ขอให้นึกถึงชื่อเสียงของประเทศ”

ทั้งฝ่ายหนุน ฝ่ายต้าน เชื่อว่าเป็นสมาชิกกลุ่มการเมือง ที่ตั้งเป้าจะต้อนรับนายกรัฐมนตรีของไทยในหลายรูปแบบ หากจะสังเกตจากสังคมออนไลน์หลายกลุ่มออกมาโพสต์เตรียมตัวกันแล้ว

โดยเฉพะฝ่ายต้าน ที่รัฐบาล คสช. น่าจะมีข้อมูลไว้แล้ว นอกจากกรณีของ “ไอ้เฮงซวย” ที่นายกฯพูดถึง อย่างนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการอิสระ(เสื้อแดง) ที่อ้างว่า ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่งในสหรัฐฯ ไปบรรยายในช่วงดังกล่าว และประกาศว่า จะไปดักพบ คณะของนายกรัฐมนตรี โดยล่าสุดทราบว่า นายปวินอยู่ในสหรัฐฯแล้วตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา

หรือ เพจฝ่ายคนเสื้อแดง “Red Thai” ถึงกลับเตรียมระดมคนไทยในสหรัฐ โดยเฉพาะคนไทยในนิวยอร์ก มีการอ้างถึง กลุ่มผู้รักประชาธิปไตยในรัฐอื่น ๆในอเมริกา ดังใจความเช่น “เตรียม จัดหนัก จัดเต็ม รับ 'ตัวตลก' ประยุทธ์ มาเยือน UN วันเสาร์ที่ 26 หน้าตึก UN 11.00 am. - 6.00 pm.

วันเสาร์ที่ 26 หน้าตึก UN 11.00 am. - 6.00 pm. ชาวนิวยอร์ค จะจัดหนัก จัดเต็ม รับ 'ตัวตลก' ประยุทธ์ มาเยือน UN วันเสาร์ที่ 26 หน้าตึก UN 11.00 am. - 6.00 pm.จะมีรถรับส่งบริการอำนวยความสะดวก เสบียง ข้าวน้ำ เตรียมไว้เพียบ หลังงานขอเชิญร่วมรับประทานอาหารพร้อมกัน กับแขกพิเศษ “อ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์”

อย่าลืม เขียนป้าย ประท้วง กันมาเอง งานนี้ชาวนิวยอร์คจะเตรียมขอใบอนุญาตประท้วงไว้ล่วงหน้า นะจ๊ะ ......

คนไทยในนิวยอร์ค รู้แล้วว่า ทั่นผู้นำจะไปพักที่ โรงแรม One UN และจะประชุมทีมไทยแลนด์สถานฑูตไทยที่ไหน? เมื่อไร? มาอเมริกาครั้งนี้คนอเมริกันคงจะรู้จักรัฐบาลประยุทธ์ดีขึ้น ว่าเป็นเผด็จการของแท้ จะไปพูดเรื่องรัฐบาลไทยเคารพสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยได้ไง?”เพจฝ่ายคนเสื้อแดง “Red Thai” ระบุเอาไว้

หรือ หลายวันก่อน นายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนสากล (Human Rights Watch) ซึ่งพึ่งถูกนายกฯถามผ่านสื่อว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า ทำเพื่อโลกจริงหรือเปล่า”ได้ ให้สัมภาษณ์ จอม เพชรประดับ ใน Thaivoicemedia ระบถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางมาร่วมประชุมสหประชาชาติสมัยสามัญ ใจความย่อ ๆว่า นิวยอร์ค เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ Human Rights Watch อยู่แล้ว ดังนั้นการเดินทางเยือนยูเอ็นของ "พล.อ.ประยุทธ์" จะได้รับการประท้วง ทั้งการตั้งคำถามในที่ประชุม และการต่อต้านนอกห้องประชุม เกี่ยวกับการริดรอน ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย!

“ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุด โดยข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้นำรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยส่งถึงนายบัน คีมูน เลขาธิการยูเอ็นแล้ว ดังนั้นจะมีสมาชิกในที่ประชุมจะถาม พล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องนี้”นายสุณัยกล่าวอ้างและว่า ขณะที่ภายนอกห้องประชุมก็จะมีกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชนทั่วโลกที่จะรอพบ "พล.อ.ประยุทธ์" เพื่อซักถามอย่างไม่ประนีประนอม!

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ก.ย. คนเสื้อแดงที่ใช้เวทีที่อ้างว่า มีการประชุม “สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย” ณ นครลาสเวกัส ข่าวว่า มี นางดารุณี กฤตบุญญาลัย ,นายชูพงศ์ เปลี่ยนระบอบ (หรือถี่ถ้วน) ,นายสุนัย จุลพงศธร, อ.หวาน หรือ น.ส.สุดา รังกุพันธุ์ รวมถึง ยุทธแอลเอ ฯลฯ ได้ร่วมจัดทำแถลงการในงานประชุมดังกล่าว

ในขณะที่คนเสื้อแดงที่ใช้ชื่อว่า “ดร.เพียงดิน” ในต่างประเทศ มีการระดม แชร์จดหมายโดยเป็นกิจกรรมให้คนเสื้อแดงเขียนถึง “นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ” มีการแนะนำให้ส่งจดหมายปกติและทางอีเมล์ (สำหรับผู้ที่อยู่ในเมืองไทย) มีการอ้างว่า เพื่อให้เกิดผลในเชิงปฏิบัติ จึงขอให้พี่น้องไทยจากทั่วโลก ได้ให้ความร่วมมือกันอย่างแข็งขัน ส่งจดหมายถึงเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น โดยมีการทำลิงค์https://youtu.be/njQyRLMTpPg

ให้ ดาวน์โหลดไฟล์จดหมายและแถลงการณ์ร่วมของสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย และให้พิมพ์เอกสารออกมา แล้วลงนามพร้อมกับให้รายละเอียดชื่อ-นามสกุล ลายมือชื่อ เบอร์โทรหรืออีเมล์ที่ติดต่อได้ เมืองและประเทศที่อาศัยอยู่ หรือให้ ส่งจดหมายด่วนไปที่ H.E. Mr. Ban Ki-moon Secretary-General, United Nations New York, N.Y. 10017, U.S.A และอีเมล์: bkm@un.org Secretary General Ban Ki-moon United Nations New York, NY 10017, United States

ส่วนอีกฝ่ายคือฝ่ายสนับสนุน โดยเฉพาะกลุ่ม กปปส.ในสหรัฐ มีการระดมคนเช่นกัน หลังมีการเผยแพร่ภาพ“กปปส ต่างแดน ทั้งยุโรป อเมริกา เตรียมตัวขยับพร้อมแสดงพลังไปให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมเตรียมทำการขับไล่ นายปวิน และคนเสื้อแดง ขณที่เพจเฟซบุ๊คแนวร่วมก็มีการนัดแนะสถานที่เพื่อจัดกิจกรรม

อย่างไรก็ตามล่าสุด “พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค” รองโฆษกรัฐบาล ออกมาเผยว่า “พลเอกประยุทธ์” จะพักใน area (สถานที่) ที่ปลอดภัย โดยจะเปลี่ยนโรงแรม มาใกล้ กับสำนักงาน UN เพื่อป้องกันปัญหาจราจร และขณะนี้ยังไม่ได้เปิดเผยกำหนดการต่างๆที่ NewYork โดยนายกฯหวั่นว่าจะมีม็อบไปและก็เชื่อมีแน่ เพราะคงมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์บ้าง แต่ไม่อยากให้เจอตรงๆ เพราะจะทำให้นายกฯอารมณ์เสียได้”

ทีนี้มาดูว่านายกรัฐมนตรี เดินทางไป สหประชาชาติครั้งนี้ไปทำอะไร วันก่อน “คณะรัฐมนตรี”มีมติเห็นชอบและอนุมัติร่างเอกสารท่าทีไทยสำหรับการประชุม โดยมีประเด็นหลักของการประชุมดังกล่าวคือ “The United Nations at 70: the road ahead for peace, security and human rights.”

สำหรับร่างเอกสารท่าทีไทยฉบับนี้จัดทำโดยคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ซึ่งสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศ และเป็นการแสดงให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นบทบาทของไทยในฐานะสมาชิกที่ดีของสหประชาชาติ เอกสารจะครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ตามระเบียบวาระการประชุมฯที่ไทยให้ความสำคัญในแต่ละหมวด รวมทั้งสิ้น 9 หมวด ได้แก่

1) การส่งเสริมการพัฒนาและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนตามข้อมติสมัชชาสหประชาชาติและผลการประชุมสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง 2) การรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ 3) การพัฒนาแอฟริกา 4) การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

5) การประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม 6) การส่งเสริมความยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ 7) การลดอาวุธ 8) การควบคุมยาเสพติด การป้องกันอาชญากรรมและการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ และ 9) การบริหารองค์การและอื่น ๆ

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างเอกสารผลการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลัง ปี ค.ศ. 2015 โดยอนุมัติให้คณะผู้แทนไทยซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะร่วมรับรองเอกสาร “Transforming Our World: The 2030 Agenda for Sustainable Development” พร้อมให้คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่สำคัญในการเสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ เป็นกลไกหลักในระดับประเทศในการขับเคลื่อนให้หน่วยงานไทยนำวาระการพัฒนา 2030 ไปปฏิบัติ และติดตามผลการดำเนินงาน รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ภายหลังจากที่ได้มีการรับรองเอกสารผลการประชุมฯ แล้ว

สำหรับวัตถุประสงค์ของ ร่างเอกสาร “Transforming Our World: The 2030 Agenda for Sustainable Development”   ฯมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อมุ่งขจัดความยากจนในทุกมิติและทุกรูปแบบ สานต่อภารกิจที่ยังไม่บรรลุผลสำเร็จภายใต้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) และเน้นการพัฒนาที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็น 3 เสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่างเอกสารฯประกอบด้วย 5 ส่วน ได้แก่

(1) อารัมภบท (Preamble) โดยเป็นการสื่อสารวาระการพัฒนา 2030 กับประชาชนอย่างสั้นและกระชับ โดยกล่าวถึงการขจัดความยากจนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้หลักการ 5 Ps ได้แก่ ประชาชน (People) โลก (Planet) ความมั่งคั่ง (Prosperity) สันติภาพ (Peace) และความเป็นหุ้นส่วน (Partnership)

(2) ปฏิญญา (Declaration) โดยกล่าวถึงวิสัยทัศน์ของวาระการพัฒนา 2030 และแสดงความมุ่งมั่นในการขจัดความยากจนในทุกมิติและทุกรูปแบบบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ

(3) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป้าประสงค์ (Sustainable Development Goals and Targets - SDGs & Targets) ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมายและเป้าประสงค์ครอบคลุม 3 เสาหลัก ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

(4) กลไกการดำเนินงาน (Means of Implementation - Mol) และหุ้นส่วนระดับโลก (Global Partnership) ซึ่งเน้นความร่วมมือระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา โดยครอบคลุมการระดมทุนจากภาครัฐภายในประเทศ การระดมทุนจากภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศ การให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance - ODA) การเสริมสร้างขีดความสามารถ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นบทบาทการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

(5)การติดตามและทบทวนผล (Follow-up and review) เน้นการติดตามความก้าวหน้า ความสำเร็จ ความท้าทาย และช่องว่างในการดำเนินงานอย่างครอบคลุมเป็นประจำในทุกระดับ โดยในระดับชาติ จะส่งเสริมให้ใช้เครื่องมือทางนโยบายที่มีอยู่แล้ว อาทิ แผนพัฒนาแห่งชาติ รวมถึงการติดตามผลในระดับท้องถิ่นด้วย  ในระดับภูมิภาค จะให้ประเทศในภูมิภาคหารือร่วมกันและระบุถึงกลไกที่เหมาะสม โดยอาจใช้กลไกที่มีอยู่แล้วในภูมิภาค และระดับโลก จะใช้เวทีการหารือทางการเมืองระดับสูง (High-Level Political Forum - HLFP) ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมในกรอบสมัชชาสหประชาชาติเป็นเวทีหลักซึ่งมีการประชุมทุกปี และจะมีการประชุมติดตามและทบทวนผลระดับโลกในระดับผู้นำครั้งแรกในปี ค.ศ. 2019 นอกจากนี้เอกสารฯ ยังเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถของระบบการจัดเก็บสถิติในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อส่งเสริมการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน

“นายกรัฐมนตรีจะมีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์ หรือกล่าวถ้อยแถลงในหลายประเด็น อาทิ มติขจัดความเหลื่อมล่ำ ความไม่เท่าเทียมในสังคม การบริหารจัดการน้ำ และการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มเน้นเพิ่มบทบาทสตรี โดยเตรียมถ้อยแถลงที่สำคัญ ในเวทีนี้ 10 นาที จะพูดถึงบทบาทความร่วมมือไทยกับสหประชาชาติ และสิ่งที่ไทยเรียนรู้จากยูเอ็น รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ความไม่เท่าเทียม ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง”

ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้ไปเยือนสหประชาชาติ ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาประเทศเสรี ในฐานะ นายกรัฐมนตรีไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น