xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สวัสดีชาวไทย ผมชื่อ “เกล็น เดวีส์” ซีไอเอตัวพ่อมาแล้วครับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เรียกได้ว่าคลิปเปิดตัว “เกล็น เดวีส์” เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย คนใหม่ ที่จะเดินทางมารับตำแหน่งในเร็วๆ นี้ เต็มไปด้วยคำหวานหยดย้อยทีเดียว เมื่อเทียบกันกับท่าทีที่ “ล้ำเส้น” ของนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐฯ เมื่อคราวมาแสดงปาฐกถาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อต้นปี 2558

ความนัยที่ทูตคนใหม่พร้อมภรรยาที่อัดคลิปเผยแพร่มาทักทายชาวไทยล่วงหน้า นอกจากจะต้องการสื่อสารถึงมิตรภาพอันยาวนานในอดีตแล้ว ยังยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธภาพที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งอีกด้วย

“ผมชื่อเกล็น เดวีส์ ครับ ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยคนต่อไป ประเทศของเราทั้งสองผูกพันกันมานานกว่าเก้าชั่วคน ประเทศไทยเป็นมิตรและพันธมิตรที่ยั่งยืนที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชีย และเป็นคู่ความร่วมมือใกล้ชิดในการเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค การสาธารณสุข การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม

“สัญลักษณ์หนึ่งแห่งสัมพันธภาพทวิภาคีของเรา คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จพระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา โดยพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจตลอดพระชนม์ชีพ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเราให้แข็งแกร่ง” นายเดวีส์กล่าว ก่อนที่ภรรยา แจ็กกี เดวีส์ จะเดินเข้ามาแนะนำตัวและครอบครัว

“ด้วยการทำงานสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ของสถานทูตของเราในกรุงเทพฯ และสถานกงสุลในเชียงใหม่ ผมอยากรับฟังและศึกษาความคิดเห็นของคนไทยในทุกภูมิภาค เป้าหมายของผมคือส่งเสริมความเข้าใจระหว่างเราให้ดียิ่งขึ้น ชนรุ่นหลังของไทยและสหรัฐฯ ควรจะมีโอกาสเหมือนบรรพบุรุษของเราที่ได้รับประโยชน์ จากสายสัมพันธ์ร่วมกันของประเทศเราทั้งสองในฐานะประชาชนผู้มีเสรีภาพ ด้วยการร่วมมือกันทำงานเพื่อส่งเสริมความมั่นคง ความรุ่งเรืองและความสุขของเราร่วมกันทั้งสองประเทศ ...” เดวีส์ และภรรยากล่าว ก่อนที่จะจบด้วยท่าไหว้แบบไทย

การมาของนายเดวีส์ บ่งบอกว่า ความสัมพันธ์อันร้าวฉานระหว่างไทย - สหรัฐฯ ที่ยาวนานร่วมปี กำลังจะได้รับการเยียวยาเพื่อคืนดีกันอีกครั้ง แต่ทว่าคราวนี้อะไรๆ คงไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะ “มือที่สาม” หรือมหาอำนาจใหม่แห่งโลกตะวันออก ได้เข้ามาแทรกกลางระหว่างใจและทำแต้มนำโด่งไปไกลมาก แม้จะยังมีข้อสงสัยอยู่ว่าการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำพาประเทศไทยหันมาซบอกจีนชนิดเทให้หมดใจ จะทำให้ไทยสูญเสียการรักษาดุลอำนาจและสูญเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้จากมหาอำนาจทั้งตะวันตกและตะวันออกหรือไม่

สำหรับประวัติของนายเกล็น เดวีส์ กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ระบุว่า เกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขา Foreign Service จาก Georgetown University และปริญญาโทจาก National Defense University เป็นนักการทูตอาชีพลำดับชั้นอัครราชทูตที่ปรึกษา ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน

ตำแหน่งหน้าที่ก่อนหน้านี้ นายเดวีส์ เคยเป็นผู้แทนพิเศษด้านนโยบายเกาหลีเหนือระหว่าง พ.ศ. 2555 - 2557 และปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้แทนสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency - IAEA) ระหว่างปี พ.ศ. 2552 - 2555 นายเดวีส์ เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มรองผู้ช่วยรัฐมนตรีและเป็นรองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี พ.ศ. 2549 - 2552 ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาอาวุโสประจำ Leadership and Management School แห่ง Foreign Service Institute (FSI) เมื่อ พ.ศ. 2548 - 2549 รักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2548 รองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการยุโรป ระหว่างปี พ.ศ. 2547 - 2548 และผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองในวาระที่สหรัฐอเมริกาเป็นประธานกลุ่ม G-8 ระหว่างปี พ.ศ. 2546 - 2547 และช่วงปี พ.ศ. 2542 - 2546 นายเดวีส์ รับตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษาของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ณ กรุงลอนดอน

นอกจากนี้ นายเดวีส์ ยังเคยเป็นผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council - NSC) ระหว่างปี พ.ศ. 2540 - 2542 รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ และรองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการสาธารณะ ระหว่าง พ.ศ. 2538 - 2540 และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ (Operations Center) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ. 2535 - 2537 ขณะที่ก่อนหน้านั้น เคยไปปฏิบัติราชการในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และ ซาอีร์

จากโปรไฟล์นายเดวีส์ ถือได้ว่าเขาเป็นนักการทูตเก๋าเกมที่คร่ำหวอดในแถบเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกระดับตัวพ่อเลยทีเดียว ทั้งยังเคยเป็นผู้แทนพิเศษด้านนโยบายเกาหลีเหนืออีกด้วย ดังนั้นจึงคาดหมายได้ว่าเขาคุ้นชินกับการปกครองแบบอำนาจนิยมและสามารถทำความเข้าใจได้เป็นอย่างดี การที่นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งเขามารับตำแหน่งทูตสหรัฐฯในไทยช่วงที่มีรัฐบาลทหารปกครองประเทศ ต้องมีภารกิจสำคัญอยู่เบื้องหลัง หาใช่แค่การรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับไทยแบบพื้นๆ ทั่วไปไม่

หากมองด้วยสายตาแบบมองป่าทั้งป่า ไม่ใช่แค่ต้นไม้ต้นเดียวคือการส่งนายเดวีส์ มาประจำที่ประเทศไทยเท่านั้น ก็ต้องทำความเข้าใจสถานการณ์ในภาพรวมว่า ณ เวลานี้ สหรัฐฯ กำลังเพลี่ยงพล้ำถึงขั้นพ่ายแพ้ในมหาศึกสงครามแห่งเอเชียครั้งใหม่

สงครามที่ไม่มีการประกาศครั้งนี้เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ หลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็นลงราวสองทศวรรษ ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งกลายเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกติดหล่มสงครามในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อมาจนบัดนี้ โฉมหน้าของภูมิภาคเอเชียก็ได้แปรเปลี่ยนไป เพราะการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของจีนจนสามารถผงาดขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ เอเชียกำลังรุ่งโรจน์กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก และแทบทุกประเทศในเอเชียรวมทั้งไทยด้วยต่างมีจีนเป็นคู่ค้าสำคัญทั้งสิ้น

สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทำให้ นายบารัค โอบามา ต้องหันกลับมาทบทวนและปรับยุทธศาสตร์ต่อเอเชียใหม่ เพื่อรักษาอำนาจ อิทธิพล ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสกัดกั้นการเติบโตของจีนในทุกวิถีทาง แต่การกลับเข้ามาของสหรัฐฯ ไม่ได้ง่ายดังใจนึก และการจะใช้ไทยเป็นหลักมุดประตูสู่อาเซียนและภูมิภาคนี้อย่างที่สหรัฐฯ เคยใช้ให้เป็นประโยชน์ตลอดมาก็ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด เพราะไทยเองกำลังยุ่งวุ่นวายจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ จนส่งผลให้ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯที่เคยแน่นแฟ้นได้จืดจางลง

ยิ่งเมื่อคณะนายทหารได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สหรัฐฯได้ลดระดับความสัมพันธ์กับไทยลงทันทีตามมาตรฐานการปฏิบัติต่อประเทศที่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น มิหนำซ้ำการรัฐประหารในไทยครั้งสุดหลังนี้ สหรัฐฯมีท่าทีกดดันไทยมากกว่าการรัฐประหารในปี 2549 เพราะรัฐบาลทหารที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งสัญญาณว่าจะอยู่ยาว

ความสัมพันธ์อันเลวร้ายระหว่างไทย-สหรัฐฯ ตกต่ำถึงขีดสุด เมื่อนายเดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งดูแลกิจการเอเชีย-แปซิฟิก มาแสดงปาฐกถาที่สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนม.ค. 2558 ได้กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองไทย การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง การถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้สร้างความไม่พอใจอย่างกว้างขวาง กระทั่งนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช. กระทรวงการต่างประเทศ ขณะนั้น ต้องเชิญ นายแพทริค เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เข้าพบ และแถลงข่าวในวันถัดมาว่า คำพูดของนายรัสเซล ก่อให้เกิด "แผลในใจ" สำหรับคนไทยจำนวนมาก

รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ไว้ในข้อเขียน “ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ปี 2015 (ตอนที่ 2)” เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม 2558 ว่า การมาเยือนของนายรัสเซล ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ แย่ลง และอาจมีผลต่อความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อาเซียนด้วยเพราะสมาชิกอาเซียนหลายประเทศมีสถานะไม่ต่างจากไทย และน่าจะทำให้ไทยกับจีนสนิทกันมากขึ้น

ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษาฯ ยังชี้ให้เห็นแนวโน้มในระยะยาวด้วยว่า ไทยจะให้ความสำคัญกับมหาอำนาจในภูมิภาค คือ ไทย-จีน, ไทย-ญี่ปุ่น, ไทย-อินเดีย มากขึ้น ส่วนความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ จะลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ เพราะสหรัฐฯ มีแต่จะเสื่อมลงแน่ สวนทางกับเอเชีย จีน และอาเซียนที่จะผงาดขึ้นมาเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง แนวโน้มนี้จะผลักดันให้ไทยไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น การเดินเกมของอเมริกาที่ผิดพลาดในครั้งนี้จะเป็นตัวเร่ง ทำให้ไทยเข้าไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น เร็วขึ้น และเข้มข้นมากขึ้น

“ผลกระทบดังกล่าวข้างต้น ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อผลประโยชน์ของอเมริกาเลย เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐทรุดหนักลง การครองความเป็นเจ้า อเมริกายังคงต้องการไทยในฐานะที่จะเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่ง ในการปิดล้อมและสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน แต่ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนของอเมริกาน่าจะกระเทือน จากการที่ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐทรุดหนักลง และอาจจะลามไปถึงความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ ด้วย”

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ย่ำแย่ลง มิตรภาพระหว่างไทยกับจีนกลับ เจริญงอกงามและเบ่งบาน ท่าทีที่ผ่านมาคล้ายกับว่า ผู้นำคสช. ได้ตัดสินใจยืนเคียงข้างจีนโดยไม่สนว่าสหรัฐ จะขุ่นข้องขัดเคืองใจเพียงใด ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเพียงการแสดงเพื่อให้สหรัฐฯเปลี่ยนท่าทีต่อไทยอย่ามากดดันกันให้มากนัก หรืออาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเชิงนโยบายไม่เดินสายกลางแต่เลือกข้างชัดเจนก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น แต่ที่แน่ๆ และเห็นแล้วก็คือ นายเดวีส์ ส่งคำหวานหยดย้อยมายังพี่น้องประชาชนชาวไทยล่วงหน้าก่อนที่ตัวเองจะเดินทางมารับตำแหน่งประจำประเทศไทยด้วยซ้ำ

สหรัฐฯ เริ่มหันกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีกับไทยแม้จะยังตะขิดตะขวางใจที่ไทยยังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร แต่การที่ไทยเป็นศูนย์กลางและมีบทบาทนำในอาเซียนทำให้สหรัฐไม่อาจมองข้ามไทยซึ่งเคยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐมายาวนานตั้งแต่ยุคสงครามเย็น หากเล่นบทบีบไทยมากเท่าไหร่ก็เท่ากับผลักไสไทยเข้าไปสู่อ้อมอกของจีนมากขึ้นเท่านั้น ชาติอาเซียนอื่นๆ ที่กำลังจับตามองท่าทีของสหรัฐฯ ต่อไทย ก็คงไม่แตกต่างกัน

ความหวั่นวิตกถึงการเสื่อมถอยของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชีย และการผงาดขึ้นมาแทนที่ของจีน กระทั่งทำให้สหรัฐฯนั่งไม่ติด ยังวัดได้อย่างเป็นรูปธรรมจากการผลักดันจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย ซึ่งมีจีนเป็นโต้โผใหญ่ ซึ่งล่าสุดพันธมิตรอันเหนียวแน่นของสหรัฐ ก็คือ อังกฤษ ก็ประกาศเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับชาติอื่นๆ ที่เข้าร่วมกว่า 30 ประเทศแล้ว โดยประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วม ไม่ได้สนท่าทีของสหรัฐที่คัดค้านและกดดันพันธมิตรไม่ให้เข้าร่วมกับจีน การเดินหมากเพื่อโดดเดี่ยวจีนกลับให้ผลตรงกันข้ามคือสหรัฐฯ ถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวแทน นับเป็นความพ่ายแพ้ที่สหรัฐฯ ทำใจยอมรับได้ยาก

ในทางกลับกัน การผลักดันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP) ที่มีสหรัฐเป็นหัวเรือใหญ่ ซึ่งต้องการใช้ TPP ปิดล้อมจีน กลับไม่มีวี่แววความสำเร็จในเร็ววัน กระทั่งมีกระแสข่าวว่ามีการล็อบบี้มาเลเซียให้เข้าร่วม TPP โดยแลกกับการที่สหรัฐ ยกระดับให้มาเลเซียขึ้นมาอยู่ใน Tier 2 คือ ประเทศที่มีปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ได้ ในรายงานการจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking In Persons (TIP) Report) ประจำปี 2558 เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ไทยซึ่งเมินเข้าร่วม TPP ยังติดบัญชีใน Tier 3 คือ ประเทศที่มีปัญหามาก แต่ไม่ดำเนินการแก้ปัญหา หรือไม่มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเหมือนเดิม

การเดินทางครั้งสำคัญของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในงานประชุมประจำปีของสหประชาชาติ ที่สำนักงานใหญ่ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ พร้อมกับผู้นำชาติสมาชิกยูเอ็น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการเดินทางไปสหรัฐฯ หลังการยึดอำนาจ โดยมีกำหนดออกเดินทางตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. - 1 ต.ค. 2558 ที่จะถึงนี้ จะเป็นเครื่องชี้วัดว่าพี่เบิ้มจะมองเห็นหัวหรือจะมองเมินไทย

งานนี้ จะเป็นบทพิสูจน์หนึ่งว่ารักเราเก่าไปแล้ว จริงๆ มั๊ย? ในปฐมบทเริ่มต้นภารกิจสานสัมพันธ์ร้างระหว่างไทย-สหรัฐฯ ของทูตสหรัฐฯคนใหม่ ที่กำลังจะเดินทางมาประจำการที่กรุงเทพฯ ในเร็วๆ นี้

หรือในมุมกลับกัน นี่อาจเป็นฉากหน้า “เนียน” ของการแสดงเพื่อสร้างภาพความประทับใจให้กับคนไทยเท่านั้น เพราะโดยข้อเท็จจริง “เกล็น เดวีส์” อาจมีภารกิจพิเศษบางประการในการเข้ามารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพราะถ้าหากจะต้องการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ ก็ไม่จำเป็นต้องส่งนักการทูตคร่ำหวอดระดับนี้เข้ามาทำหน้าที่

ส่วนจะเป็น “ผลดี” หรือ “ผลร้าย” สำหรับประเทศไทย อีกไม่นานคงรู้กัน





กำลังโหลดความคิดเห็น