เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - บริษัทบนแผ่นดินใหญ่ตื่นตัว เร่งขนขวายแสวงหาวิสัยทัศน์ใหม่ ๆ จากผู้บริหารระดับโลก ควักกระเป๋าส่งบุคลากรไปศึกษาหลักสูตรระยะสั้นที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศอย่างไม่ขาดสาย
สุ่น เถา ผู้ช่วยประธานกรรมการบริษัทวิชั่น โอเว่อร์ซีส์ (Vision Overseas) ซึ่งเป็นสาขาของนิว โอเรียนทัล กรุ๊ป (New Oriental Group) บริษัทชั้นนำผู้ให้บริการด้านการศึกษาในต่างประเทศของจีน มีเป้าหมายชัดเจนในการเข้าเรียนหลักสูตร 1 สัปดาห์ ที่สถาบันบริหารธุรกิจซาอิดของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด
“ เราหวังว่า บทเรียนเกี่ยวกับความเป็นผู้นำและกลยุทธ์ต่าง ๆ จะช่วยขยายวิสัยทัศน์พวกผู้บริหารของเรา” เขากล่าว
ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2556 สุ่นเคยเข้าศึกษาหลักสูตร 2 สัปดาห์ ซึ่งสถาบันบริหารธุรกิจเพนน์ วอร์ตัน ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารในบริษัทของเขา และสุ่นเห็นว่า มีประโยชน์อย่างมากทีเดียว
“ พวกอาจารย์ท่านต่าง ๆ อ้างข้อมูลและตัวอย่างมากมายในการวิเคราะห์ตลาดและลูกค้า” สุ่นระบุ
“ มันขยายมุมมองของผมอย่างมาก”
เมื่อเปรียบเทียบกับหลักสูตรคล้าย ๆ กัน ซึ่งสุ่นเคยเข้าเรียนที่สถาบันบริหารธุรกิจบนแผ่นดินใหญ่แล้ว เขากลับมองว่า อาจารย์ของจีนพูดเยอะ แต่บางครั้งก็ไม่มีเนื้อหาแน่นเท่าใดนัก
ขณะนี้มีบริษัทบนแผ่นดินใหญ่เพิ่มมากขึ้น ที่เต็มใจออกเงินให้เจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารของตนไปเรียนหลักสูตรระยะสั้นที่มหาวิทยาลัยแถวหน้าของโลก โดยมีแรงกระตุ้นจากรัฐบาลจีน ที่สนับสนุนให้ประเทศสร้างผู้ประกอบการและคิดค้นนวัตกรรม วิธีการปฏิบัติใหม่ ๆ ขึ้นมา
เมื่อ 5 ปีก่อน มีนักบริหารของจีน ราว 1,200 คน เข้าศึกษาหลักสูตรผู้บริหาร ซึ่งไม่ได้รับปริญญาของโรงเรียนการบริหารจัดการสโลนของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ( เอ็มไอที) โดยสถาบันแห่งนี้เสนอหลักสูตรสำหรับบริษัทอเมริกัน ที่มีสาขาในจีน ตลอดจนรัฐวิสาหกิจและมหาวิทยาลัยของจีน รวมทั้งองค์กรอื่น ๆ จากการเปิดเผยของเคต แอนเดอร์สัน ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทะเบียน
ด้านศาสตราจารย์จอห์น จาง ผู้อำนวยการของศูนย์วอร์ตันไชน่าในกรุงปักกิ่งระบุว่า มีผู้บริหารระดับสูงราว 500-600 คนจากบริษัทเอกชนและของรัฐ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลลงทะเบียนเรียนหลักสูตรผู้บริหารแบบไม่มีปริญญาของวอร์ตันทุกปี นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารของบริษัทเอกชนยังสมัครเรียนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับผู้บริหารจากภาครัฐ ซึ่งติดปัญหาเรื่องกฎระเบียบเข้มงวดในการไปต่างประเทศตามนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลปักกิ่ง โดยหลักสูตรยอดนิยมได้แก่การตลาดระหว่างประเทศ การเงิน นวัตกรรม และหลักสูตรธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรุ่นที่ 2
บริษัทจีน ซึ่งดำเนินธุรกิจดั้งเดิม เช่น การศึกษา และอสังหาริมทรัพย์ก็ตื่นตัวแสวงหาความรู้และเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อสู้กับปัญหาท้าทายจากเศรษฐกิจ ที่ชะลอการเติบโตของจีน
โทมัส คาซาซี เคล็ตต์ ผู้อำนวยการศูนย์ความสามารถแห่งจีน (China Competence Centre) ของมหาวิทยาลัยเซนต์กัลเลน ในสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า บริษัทส่วนใหญ่ที่สมัครเรียนหลักสูตรนักบริหารที่นี่คือบริษัทจีน ที่มาลงทุน หรือวางแผนลงทุนในยุโรป บริษัทเหล่านี้จำเป็นต้องเข้าใจกฎหมาย สิทธิและขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ของชาวยุโรป
เฉิง หง เลขาธิการชมรมผู้ประกอบการจีนสรุปในตอนท้ายว่า บรรดาบริษัทจีนเริ่มตระหนักว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้บริหาร ดังนั้น เมื่อบริษัทมีกำลังทรัพย์เพียงพอ บริษัทเหล่านี้ก็พร้อมซื้อหลักสูตร ที่ออกแบบ โดยสถาบันบริหารธุรกิจต่างชาติ เพื่อให้บุคลากรระดับผู้บริหารในบริษัทได้เรียนรู้กัน