เอเจนซีส์ - หุ้นเอเชียฟื้นเกือบทั่วหน้าในวันนี้ (26 ส.ค.) ทว่า นักลงทุนยังเทขายหุ้นจีน เสมือนป่าวประกาศว่า มาตรการลดดอกเบี้ย พร้อมลดอัตราการดำรงเงินสดสำรองของแบงก์ ที่ธนาคารกลางแดนมังกรนำออกมาใช้เมื่อค่ำวันอังคาร (25) ยังไม่เพียงพอที่จะสยบความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และหยุดยั้งการหล่นร่วงของตลาดหุ้นภายในประเทศได้ สภาวการณ์เช่นนี้ส่งผลให้มีการคาดการณ์กันว่า อีกไม่นานนี้ปักกิ่งอาจต้องงัดมาตรการกระตุ้นใหม่ๆ ออกมาเพิ่มเติม
ในวันพุธ (26 ส.ค.) ดัชนีนิกเกอิของตลาดหุ้นโตเกียวพุ่งขึ้น 3.20% ปิดที่ 18,376.83 เป็นการดีดตัวกลับหลังจากดิ่งต่ำสุดในรอบ 6 เดือนเมื่อวันอังคาร รวมทั้งยังเป็นการฟื้นขึ้นมาจากสถิติการตกสองวันติดกันครั้งรุนแรงที่สุดนับจากปี 2011
เช่นเดียวกับตลาดหุ้นซิดนีย์ที่กระเตื้องขึ้น 0.69% ปิดที่ 5,172.77 และโซลบวก 2.57% ปิดที่ 1,894.09
ตรงข้ามกับดัชนีหุ้นคอมโพสิตของตลาดเซี่ยงไฮ้ที่ยังร่วงลงต่ออีก 1.27% ปิดที่ 2,927.29 หลังจากราคาเหวี่ยงขึ้น-ลงมาตลอดทั้งวันระหว่างบวก 4% กับลบ 4% ส่วนดัชนีหั่งเส็งของฮ่องกงหล่นลง 1.52% ปิดที่ 21,080.39
เอ็มมา ลอว์สัน นักยุทธศาสตร์ค่าเงินตราอาวุโสของธนาคารเนชันแนล ออสเตรเลีย แบงก์ ชี้ว่า ถึงแม้จีนผ่อนคลายนโยบายตามที่ตลาดคาดหวัง แต่ยังดูเหมือนไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ แบงก์ชาติแดนมังกรซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน แถลงในตอนค่ำวันอังคาร ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งทางฟากเงินกู้และทางฟากเงินฝากลงมาอีก 0.25% รวมทั้งลดอัตราการดำรงเงินสดสำรองของแบงก์ต่างๆ อีก 0.50% โดยระบุว่าเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศยังคงอยู่ภายใต้ความกดดัน และเสริมว่าความเคลื่อนไหวคราวนี้ซึ่งถือเป็นครั้งที่สองในรอบสองเดือนที่มีการประกาศสองมาตรการนี้พร้อมกันนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนเศรษฐกิจภาคแท้จริงให้พัฒนาต่อไปอย่างเข้มแข็ง
ปัจจัยความกังวลที่ว่าการเติบโตขยายตัวของจีน ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก อยู่ในภาวะชะลอตัว กำลังกลายเป็นตัวกระตุ้นให้ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนรุนแรงที่สุด ภายหลังวิกฤตภาคการเงินปี 2008 หรือที่ในเมืองไทยบางทีเรียกกันว่า “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” โดยในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ไม่เพียงตลาดหุ้นเท่านั้น แต่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และค่าเงินตราของพวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ต่างพากันไหลรูด
นอกจากนั้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน บวกกับความผันผวนในตลาดการเงินทั่วโลกเวลานี้ ยังกำลังกลายเป็นบรรยากาศแห่งความไม่แน่นอน ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อฤกษ์งามยามดีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเริ่มประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก่อนหน้านี้ เฟดแสดงท่าทีมาหลายเดือนแล้วว่า ภายในปีนี้จะมีการขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในรอบเกือบสิบปี
อย่างไรก็ตาม ไมเคิล บอลลิงเกอร์ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ของยูบีเอส เวลธ์ แมเนจเมนต์ในเมืองซูริก, สวิตเซอร์แลนด์ ให้ความเห็นว่า มาตรการที่แบงก์ชาติจีนประกาศล่าสุดนี้ ยังไม่สามารถโน้มน้าวให้นักลงทุนคลายความกังวล เนื่องจากรากเหง้าของปัญหาคือความวิตกที่ว่าการเติบโตของจีนอาจวูบลงแรงกว่าที่ตลาดคาดหมาย
พวกเทรดเดอร์อื่นๆ ระบุว่า อันที่จริงความเคลื่อนไหวล่าสุดของแบงก์ชาติจีนนี้ สามารถฟื้นความเชื่อมั่นได้ในระดับหนึ่ง แต่ปักกิ่งยังต้องลงมือทำมากกว่านี้เพื่อฟื้นทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้น
เฟรเดอริก นิวแมนน์ ผู้อำนวยการร่วมของฝ่ายวิจัยเศรษฐศาสตร์เอเชียของเอชเอสบีซี ในฮ่องกง ระบุว่า จีนอาจจำเป็นต้องออกมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมในช่วงไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือนนับจากนี้ เพื่อตัดวงจรการมองแง่ลบเกินไปและฟื้นความเชื่อมั่นขึ้นมาใหม่
ในส่วนตลาดเงินนั้น ดอลลาร์ยังถูกกดดัน โดยซื้อขายอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ต่อ 119.52 เยนในตลาดเอเชียวันพุธ กระเตื้องขึ้นจาก 118.84 เยนที่ตลาดนิวยอร์กวันอังคาร แต่ถือว่า วูบลงอย่างแรงเมื่อเทียบกับราคาวันศุกร์ (21) ที่ตลาดนิวยอร์ก ซึ่งอยู่ที่ 122.06 เยน
ขณะที่ยูโรปักหลักที่ 1 ยูโรต่อ 1.1481 ดอลลาร์ และ 137.23 เยนในตลาดโตเกียววันพุธ จาก 1.1518 ดอลลาร์และ 136.87 เยนที่ตลาดนิวยอร์กคืนวันอังคาร
ทางด้านราคาน้ำมันขยับขึ้นมาบ้างในการซื้อขายที่ตลาดเอเชียในวันพุธ ซึ่งเป็นช่วงก่อนอเมริกาเปิดเผยรายงานภาวะพลังงานล่าสุดในสหรัฐฯ โดยที่เมื่อต้นสัปดาห์นั้น ราคาน้ำมันได้ตกต่ำสุดตั้งแต่ช่วงต้นปี 2009 สืบเนื่องจากนักลงทุนกังวลกับอุปสงค์ที่ทรุดลงสวนทางกับอุปทานล้นตลาด
สัญญาน้ำมันเวสต์ เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือ ไลต์ สวีต ครูด เพื่อการส่งมอบเดือนตุลาคม ในตลาดเอเชียเย็นวันพุธ บวกขึ้นมา 14 เซนต์ อยู่ที่ 39.45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบชนิดเบรนต์สำหรับการส่งมอบเดือนเดียวกันขยับแผ่วแค่ 2 เซนต์ อยู่ที่ 43.50 ดอลลาร์
สำหรับทองคำซื้อขายกันที่ออนซ์ละ 1,136.72 ดอลลาร์ ต่ำลงมาเมื่อเทียบกับ 1,149.80 ดอลลาร์ในตอนค่ำวันอังคาร