xs
xsm
sm
md
lg

แบล็กมันเดย์!!ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกทรุดฮวบ ตามหลังหุ้นจีนที่ดำดิ่ง 8.5% ราคาน้ำมัน - ค่าเงิน ปท.กำลังพัฒนาก็อ่อนตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<b><i>กระดานอิเล็กทรอนิกส์แสดงข้อมูลการเงิน ซึ่งติดตั้งอยู่ที่ฮ่องกง แสดงให้เห็นว่า ดัชนีหุ้นสำคัญในจีนวันนี้ (24 ส.ค.) ตกลงมาอย่างแรงเป็นแถว ขณะที่ดัชนีหุ้นหั่งเส็งของฮ่องกงเองก็หล่นลง 5.2% </b></i>
เอเจนซีส์ - ตลาดหุ้นทั่วโลกพากันทรุดฮวบในวันนี้ (24 ส.ค.) หลังจากดัชนีสำคัญของตลาดหลักทรัพย์จีนดำดิ่งลงมา 8.5% ซึ่งถือเป็นการตกในรอบวันครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงเวลากว่า 8 ปี ท่ามกลางความวิตกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจแดนมังกร

ทางด้านราคาน้ำมัน, สินค้าโภคภัณฑ์ และสกุลเงินตราต่างของประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก ก็พากันซวนเซ จากความกังวลที่ว่าการอ่อนตัวลงของเศรษฐกิจจีน จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อเนื่องไปถึงการเติบโตขยายตัวของทั่วโลก เป็นที่คาดหมายกันว่า เมื่อวอลล์สตรีทเริ่มซื้อขายกันในคืนวันนี้ ก็จะเกิดการเทขายหนักในช่วงเปิดตลาด

ดัชนีหุ้นคอมโพสิตของตลาดเซี่ยงไฮ้ ปิดวันนี้ยืนอยู่ที่ 3,209.91 ลดลงจากวันก่อน 8.5% ถือเป็นเปอร์เซ็นต์ไหลรูดแรงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2007 ซึ่งเป็นช่วงแรก ๆ ของวิกฤตภาคการเงินโลก หรือที่รู้จักเรียกขานกันในไทยว่า “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” โดยที่ราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนของจีนจำนวนมากดิ่งลงมาแตะ 10% อันเป็นขีดจำกัดต่ำสุดที่ให้ลงมาได้ในแต่ละวันซื้อขาย

ขณะเดียวกัน การที่ดัชนีสำคัญตัวนี้ลงมายืนอยู่ตรงระดับนี้ ก็หมายความว่าได้สูญเสียส่วนที่ขยับขึ้นไปได้ในช่วงปี 2015 ไปหมดเกลี้ยง ถึงแม้ยังคงสูงกว่าระดับที่เคยยืนอยู่เมื่อ 1 ปีก่อน มากกว่า 40% ก็ตาม

ส่วนดัชนีหุ้นคอมโพสิตของตลาดเซินเจิ้น ซึ่งเป็นตัววัดระดับราคาของตลาดหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของจีน ก็หลุ่นตุ๊บ 7.7% อยู่ที่ 1,882.46
<b><i>นักลงทุนดูบอร์ดราคาซื้อขายที่ห้องค้าของบริษัทโบรกเกอร์แห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย วันนี้ (24 ส.ค.)  โดยที่ดัชนีสำคัญของตลาดนี้ปิดลดลง 2.7% </b></i>
จากการที่ทิศทางอนาคตของจีนดูมืดมัวลงเช่นนี้ กำลังทำให้เกิดเสียงเรียกร้องปักกิ่งเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ความพยายามจำนวนมากก่อนหน้านี้ของรัฐบาลแดนมังกร ดูเหมือนแทบไม่ได้ช่วยให้ตลาดมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน

การดำดิ่งของหุ้นแดนมังกร ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงให้ตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ ทางแถบเอเชียทรุดลงถ้วนหน้า โดยที่ดัชนีนิกเกอิ ของโตเกียวปิดวันนี้หล่นลง 4.6% ถือเป็นการตกลงมาในรอบวันครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 2 ปีครึ่ง และการที่ดัชนีนี้ถอยลงมายืนอยู่ที่ 18,540.68 ก็เท่ากับอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน
<b><i>พนักงานของตลาดหลักทรัพย์โตเกียวออกอาการ ขณะติดตามราคาหุ้นบนจออิเล็กทรอนิกส์วันนี้ (24 ส.ค.) ซึ่งดัชนีนิกเคอิ ปิดลดลง 4.6% </b></i>
สำหรับดัชนีหุ้นหั่งเส็งของฮ่องกง ก็ติดลบ 5.2% ยืนอยู่ที่ 21,251.57 ถือเป็นจุดต่ำสุดนับแต่เดือนพฤษภาคม 2014 ส่วนดัชนี เอสแอนด์พี เอเอสเอ็กซ์/200 ของตลาดหุ้นซิดนีย์ ลงมา 4.1% อยู่ที่ 5,001.30 อันเป็นราคาปิดต่ำสุดในรอบ 2 ปี ทางด้านดัชนีหุ้นคอสปี ก็ตลาดเกาหลีใต้ ก็หดหายไป 2.5% อยู่ที่ 1,829.81

ภาวะมืดครื้มเช่นนี้ของเอเชียยังแพร่กระจายไปสู่ตลาดยุโรป โดยทำให้การซื้อขายในช่วงเช้า ดัชนีฟุตซี่ 100 ของลอนดอนตก 2.7%, แด็กซ์ ของแฟรงก์เฟิร์ต ลบ 2.6% และ ซีเอซี 40 ของปารีส หดหาย 2.5% ในส่วนของตราสารฟิวเจอร์ส ของดัชนีดาวโจนส์ก็หล่นลงกว่า 2% ขณะที่ฟิวเจอร์สของดัชนีเอสแอนด์พี ต่ำลง 1.8% เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเปิดตลาดในสหรัฐฯคืนวันนี้ จะมีการเทขายกันแรง

อันที่จริง ตัวเลขข้อมูลใหม่ ๆ ที่มีการแถลงในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งยิ่งยืนยันถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ก็ได้จุดประกายให้เกิดการเทขายไปแล้วตั้งแต่วันศุกร์ (21 ส.ค.) ในตลาดยุโรปและสหรัฐฯ จนทำให้ตลอดสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ของสหรัฐฯ ทรุดลงไปเกือบ 6% ถือเป็นสัปดาห์ที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2011

ภาวะตึงตระหนักเช่นนี้ยังเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงขนาดขอบเขตของความท้าทาย ซึ่งคณะผู้นำจีนจะต้องหาทางแก้ไขคลี่คลาย ขณะที่นำพาเศรษฐกิจไปสู่หนทางการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงโมเดลการพัฒนา เพื่อไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

“ความกังวลใหญ่โตที่สุดของผมในตอนนี้ ก็คือ โมเมนตัมแห่งการเติบโตขยายตัวของเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในภาวะอ่อนเปราะเป็นอย่างยิ่ง ก้าวที่สำคัญที่สุด ก็คือ ต้องเห็นจีนลงมือใช้ปฏิบัติการเพิ่มมากขึ้นเพื่อพยายามทำให้เศรษฐกิจของพวกเขาอยู่บนเส้นทางเติบโต 7% ให้ได้” ราจีฟ บิสวอส หัวหน้านักเศรษฐกิจดูแลเอเชีย - แปซิฟิก ของบริษัทวิจัย ไอเอชเอส กล่าวให้ความเห็น

ในตลาดค้าเงินตราทางเอเชียวันจันทร์นั้น ดอลลาร์อยู่ในระดับ 120.65 เยน ต่ำลงมาจาก 122.05 เยน ในวันศุกร์ (21) ส่วนเงินยูโรมีค่าแข็งขึ้นเป็น 1 ยูโร แลกได้ 1.1462 ดอลลาร์ จากวันศุกร์ซึ่งอยู่ที่ 1.1388 ดอลลาร์ สกุลเงินตราของพวกเศรษฐกิจกำลังพัฒนา โดยเฉพาะชาติซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันจำนวนมากให้แก่จีน ก็อยู่ในอาการอ่อนตัวอย่างแรง โดยที่เงินรูเบิลรัสเซีย อ่อนลง 2.3% ลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี

ส่วนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาซื้อขายน้ำมันชนิดเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต เพื่อการส่งมอบเดือนตุลาคม ต่ำลงมา 1.29 ดอลลาร์ อยู่ที่ 39.16 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบชนิดเบรนต์ ก็ลดลง 1.19 ดอลลาร์ อยู่ที่ 44.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
<b><i>ผู้ที่เฝ้าชมราคาหุ้นบนจอด้านนอกของตลาดหลักทรัพย์บอมเบย์ ในเมืองมุมไบ, อินเดีย วันนี้ (24 ส.ค.) ออกอาการ “อิน”  เมื่อราคาหุ้นพากันตกฮวบ โดยดัชนีสำคัญของตลาดนี้ปิดติดลบ 5.9% </b></i>

กำลังโหลดความคิดเห็น