xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์ปรับลดประมาณการณ์ศก.โลกและปท.กำลังพัฒนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวิดล์แบงก์ปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในรายงานล่าสุดซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพุธ (11 มิ.ย.) เตือนประเทศตลาดเกิดใหม่เตรียมตั้งรับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น นอกจากนี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกยังเรียกร้องธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รอถึงปีหน้าค่อยปรับขึ้นต้นทุนการกู้ยืม เพื่อป้องกันระบบอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนหนักขึ้น และปกป้องอัตราเติบโตของเศรษฐกิจโลก

ธนาคารโลกพยากรณ์เอาไว้ในฉบับล่าสุดของ รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (Global Economic Prospects) ที่จัดทำขึ้นปีละสองครั้งว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัว 2.8% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิม 3% ซึ่งให้ไว้ในรายงานฉบับก่อนเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยแจกแจงเหตุผลว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันที่ดิ่งลงประมาณ 40% นับจากปีที่แล้ว กำลังส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกมากกว่าที่คาด นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยลบจากการหดตัวของเศรษฐกิจแดนอินทรีในช่วงไตรมาสแรก การฟื้นตัวอย่างล่าช้าในยุโรปและญี่ปุ่น ขณะที่การเติบโตของจีนก็ชะลอลง

รายงานยังเตือนประเทศต่างๆ ให้เตรียมพร้อมรับมือการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของประเทศกำลังพัฒนาพุ่งขึ้น มิหนำซ้ำประเทศเหล่านี้ยังดึงดูดเงินลงทุนใหม่ๆ ได้ยากขึ้น เป็นการเพิ่มความกดดันต่อค่าเงินที่อ่อนตัวลงรุนแรงอยู่แล้วเมื่อเทียบดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา

คอชิก บาซู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกแถลงจากกรุงวอชิงตันว่า ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ควร “คาดเข็มขัดนิรภัย” นั่นก็คือ การคุมเข้มสถานการณ์การคลัง เลิกการพึ่งพิงเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ และสร้างความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพผ่านมาตรการปฏิรูป

จุดเด่นที่น่าสนใจอื่นๆ รายงานฉบับนี้ของเวิลด์แบงก์ ได้แก่การระบุว่า อินเดียจะเป็นประเทศที่มีการเติบโตเร็วที่สุดเป็นครั้งแรก โดยขยายตัวถึง 7.5% ในปีนี้ จากตัวเลขคาดการณ์เดิม 6.4%

ตรงข้ามกับประเทศกำลังพัฒนาโดยรวม ซึ่งถูกลดเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ลงจาก 4.8% อยู่ที่ 4.4% เนื่องจากภาวะถดถอยในบราซิลและรัสเซียเรื้อรังกว่าที่คาด

ธนาคารโลกยังลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ลงเหลือ 2.7% จาก 3.2% สำหรับปีนี้ และ 2.8% จาก 3% สำหรับปีหน้า โดยระบุว่า เศรษฐกิจอเมริกาตกต่ำมาตั้งแต่ต้นปีเนื่องจากสภาพอากาศเลวร้าย ค่าดอลลาร์แข็ง และการดำเนินการในท่าเรือหยุดชะงัก รวมทั้งการที่ภาคพลังงานลดการใช้จ่ายลงจำนวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น