xs
xsm
sm
md
lg

“เวิลด์แบงก์” ลดอัตราเติบโตจีดีพีโลก “ญี่ปุ่น/อียู” แย่-ตัดผลดีราคาน้ำมันตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - เวิลด์แบงก์ลดตัวเลขคาดการณ์อัตราเติบโตเศรษฐกิจโลกของปีนี้และปีหน้า ชี้อานิสงส์จากราคาน้ำมันลดวูบ ถูกบ่อนเซาะจากแนวโน้มการขยายตัวน่าผิดหวังในยูโรโซนและญี่ปุ่น ขณะที่เศรษฐกิจจีนก็อยู่ในช่วงชะลอตัว อย่างไรก็ดี โดยภาพรวมประเทศกำลังพัฒนาจะขยายตัวอย่างน่าประทับใจ เนื่องจากได้ปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจอเมริกาที่เติบโตเข้มแข็งและอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง

ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (Global Economic Prospects ) ฉบับล่าสุด ซึ่งธนาคารโลกนำออกเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (13 ม.ค.)ได้ให้ภาพว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะเติบโตในอัตรา 3% ต่ำลงกว่าที่เคยคาดไว้ในรายงานฉบับเดือนมิถุนายนซึ่งอยู่ที่ 3.4% ขณะเดียวกันก็ระบุว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2014 ที่ผ่านมาเติบโตเพียง 2.6% ต่ำลงกว่าที่ทำนายไว้ครั้งก่อนซึ่งให้ไว้ที่อัตรา 2.8%

สำหรับปีหน้า รายงานฉบับล่าสุดนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ในอัตรา 3.3% ลดลงเช่นกันจากตัวเลข 3.5% ซึ่งให้ไว้ในรายงานฉบับก่อนเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว แถมยังบอกว่าในปี 2017 ก็จะขยับลงไปอีกโดยอยู่ที่ 3.2%

ธนาคารโลกระบุว่า มีเพียงอเมริกาและอังกฤษเท่านั้นซึ่งแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในทิศทางที่เข้มแข็ง ทำให้แตกต่างไปจากพวกชาติมั่งคั่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นยูโรโซนหรือญี่ปุ่น ซึ่งอัตราการขยายตัวยังคงกะปริบกะปรอยและมีความเสี่ยงที่จะจมลงสู่ภาวะเงินฝืด ขณะที่จีนนั้นเศรษฐกิจก็อยู่ในช่วงการชะลอตัวอย่างมีการจัดการ

ทั้งนี้รายงานเวิลด์แบงก์คาดว่า จีดีพีสหรัฐฯ ปีนี้จะขยายตัวในระดับ 3.2% เทียบกับ 2.4% ในปี 2014 ขณะที่อัตราเติบโตของยูโรโซนน่าจะกระเตื้องขึ้นจาก 0.8% เมื่อปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 1.1% ในปีนี้ และญี่ปุ่นก็จะฟื้นจาก 0.2% ในปี 2014 เป็น 1.2% ในปี 2015

ในส่วนจีน ถูกคาดหมายว่าจะขยายตัว 7.1% ในปีปัจจุบัน ลดลงมาจาก 7.4% ในปีที่ผ่านมา โดยที่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความพยายามของปักกิ่งในการควบคุมการปล่อยกู้ที่ร้อนแรงเกินไปและการลงทุนที่ไร้ประโยชน์ สำหรับปีหน้าและปีถัดไป อัตราขยายตัวคาดว่าจะขยับลงอยู่ที่ 7.0% และ 6.9% ตามลำดับ

โดยภาพรวมแล้ว พวกประเทศรายได้สูงมีแนวโน้มเติบโต 2.2% ในปีนี้ จาก 1.8% ในปี 2014 ขณะที่พวกประเทศกำลังพัฒนามีลู่ทางขยายตัวถึง 4.8% จาก 4.4% ปีที่แล้ว และพุ่งเป็น 5.3% ในปี 2016 อันเป็นผลจากการเติบโตเข้มแข็งของอเมริกา อัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง และการปรับตัวในเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่หลายชาติ

รายงานล่าสุดของเวิลด์แบงก์ฉบับนี้บอกว่า อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ที่ได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันขาลงอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในฐานะผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ โดยธนาคารโลกคาดว่า จีดีพีแดนภารตะจะเดินหน้าจาก 5.6% ในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 6.4% ในปีนี้

ในทางกลับกัน ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันต้องได้รับความกระทบกระเทือนหนักในสถานการณ์นี้ โดยเฉพาะรัสเซียที่ถูกกระหน่ำจากมาตรการแซงก์ชันของตะวันตกอีกทางหนึ่งด้วยนั้น ถูกรายงานของธนาคารโลกคาดหมายว่า จีพีดีจะติดลบถึง 2.9% ในปี 2015 ก่อนฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในปีหน้า

อย่างไรก็ดี แม้คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบที่ร่วงหล่นถึง 60% นับจากกลางปีที่แล้ว จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เวิลด์แบงก์สำทับว่า ผลพวงที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการเติบโตของโลก ยังจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะปรากฏให้เห็น สำหรับผลเฉพาะหน้าทำได้เพียงหนุนเศรษฐกิจโลกขยับขึ้น 0.1% ในปีนี้ มิหนำซ้ำในระยะสั้นยังทำให้ตลาดผันผวนมากขึ้น รวมทั้งฉุดการลงทุนในน้ำมันรูปแบบใหม่ๆ เช่น น้ำมันจากหินน้ำมันหรือจากใต้ทะเลลึก

โคซิค บาซู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก เตือนว่า ราคาน้ำมันขาลงจะฉุดรั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก แต่จะเพิ่มความกังวลเรื่องภาวะเงินฝืด ประกอบกับแนวโน้มที่อึมครึมของเศรษฐกิจโลกโดยรวม และค่าแรงที่ซึมเซาในอเมริกา เช่นนี้อาจกระตุ้นให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าที่คาด

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ต่อเศรษฐกิจโลกยังรวมถึงแนวโน้มวิกฤตการเงิน โดยหากนักลงทุนถอนเงินจากชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อย่างขนานใหญ่และรวดเร็ว เพื่อนำไปกอบโกยผลประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นและแนวโน้มเศรษฐกิจสดใสในอเมริกา ก็จะส่งผลให้ค่าเงินในประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ร่วงหนัก และบริษัทที่กู้ยืมเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ต้องเจ็บหนักคล้ายกับเมื่อครั้งเกิดวิกฤตการเงินเอเชียปี 1997-1998

นอกจากนั้น ปัจจัยเรื่องความขัดแย้งในยูเครนและตะวันออกกลาง ก็จะช่วยขัดขวางเศรษฐกิจโลกอีกทางหนึ่ง ขณะที่เศรษฐกิจจีนอาจ “ชะลอตัวแบบไร้ระเบียบ” สำหรับประเทศแอฟริกาในเขตซับซาฮารา ซึ่งได้รับการคาดหมายว่า จะมีอัตราขยายตัวสูงถึง 4.6% ในปีนี้ รายงานเวิลด์แบงก์เตือนว่าอาจถูกวิกฤตโรคอีโบลาเป็นตัวสกัดดาวรุ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น