xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกไทยปี57วูบ ติดลบ0.3% ปีแพะคาดต่ำเป้าเหตุถูกตัดGSP

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มตัวเลขการส่งออกของไทย ช่วงไตรมาส 4 ปี 57 ยังคงไม่ฟื้นตัว แม้ว่าตัวเลขการส่งออกในช่วงเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาจะมีโอกาสเติบโตเป็นบวกได้ แต่ไม่สามารถชดเชยการส่งออกในช่วงเดือน ต.ค. – พ.ย.57 ที่ประเมินว่าจะติดลบถึง 0.4% ได้ ทำให้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 57ตัวเลขการส่งออกอาจขยายตัวได้ไม่ถึง 1%

นอกจากนี้ ยังประเมินอีกว่าภาพรวมตัวเลขการส่งออกของไทย ปี 57 อาจจะขยายตัวในระดับติดลบ 0.3% ใกล้เคียงกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าที่ติดลบ 0.5% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่กระทรวงการคลัง ได้เคยประเมินไว้ว่าการส่งออกในปี 57 จะขยายตัวที่ระดับ 0% เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่ฟื้นตัวต่ำกว่าคาดการณ์ รวมถึงผลกระทบจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำด้วย

“ปี 57 คงลุ้นให้ตัวเลขการส่งออกขยายตัวเป็นบวกค่อนข้างยาก เพราะผลกระทบที่มีมาก โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าที่กระทรวงการคลังเคยมีการประเมินไว้ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อรวมกับช่วงก่อนหน้าจึงทำให้ทั้งปีเติบโตในระดับติดลบ 0.3%”

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มตัวเลขการส่งออก ปี 58 ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตา โดยเฉพาะกรณีการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีจากสหภาพยุโรป (จีเอสพี) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.58 เนื่องจากไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี ส่งผลให้ไทยถูกระงับสิทธิพิเศษดังกล่าวทุกรายการ เป็นจำนวนสินค้ากว่า 6,200รายการ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ประเมินว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทย คิดเป็นวงเงินปีละ 30,000 ล้านบาท หรือ 4% ของมูลค่าสินค้าที่ไทยส่งไปสหภาพยุโรป หรือคิดเป็นผลกระทบ 0.4% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในแต่ละปี โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ได้แก่ สินค้าประเภทอาหารทะเลแช่แข็ง เกษตรแช่แข็ง รถจักรยานยนต์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังมีผลกระทบจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำต่อเนื่อง แม้ว่าไทยจะมีปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรอยู่ในระดับปกติ หรือเพิ่มมากขึ้น แต่ราคาซื้อขายในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ ก็ยังเป็นผลกระทบสำคัญ และยังมีผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัวต่ำกว่าคาดเข้ามากดดันด้วย โดยปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ดังกล่าวมีโอกาสทำให้ภาพรวมตัวเลขการส่งออกของไทยในปี 58 ขยายตัวต่ำกว่าที่กระทรวงการคลังประเมินไว้ที่ 3.5% ได้

นางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากรณีที่ EU เริ่มตัดสิทธิ GSP ไทยตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไปนั้นขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้นำเข้าได้สั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่อาจมีผลกระทบบ้างในระยะต่อไป โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 (มกราคม – กันยายน) ได้มีการขอใช้สิทธิ GSP มีมูลค่า 6,724.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ไทยส่งออกรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP ไปแล้วมูลค่า 8,559.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 78.56 ของมูลค่าการส่งออกเฉพาะรายการที่ได้รับสิทธิ GSP หรือเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 67.40

นางดวงกมล โฆษกกระทรวงพาณิชย์กล่าวต่อไปว่า ผู้ประกอบการควรหาแนวทางกลยุทธ์ปรับตัวรองรับ โดยการเพิ่มมูลค่าและคุณภาพให้แก่สินค้าเพื่อให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดภายใต้อัตราภาษีใหม่ของ EU และควรใช้ประเทศเพื่อบ้านที่ยังได้รับสิทธิ GSP เป็นฐานการผลิต หรือเข้าไปร่วมลงทุนใน EU อาทิ ผู้ประกอบการด้านอาหารและค้าปลีกรายใหญ่ของไทย ที่ได้เข้าไปตั้งฐานการผลิตที่สหภาพยุโรปแล้ว

ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ได้แสวงหาและผลักดันตลาดอื่นๆ ที่มีศักยภาพเพื่อทดแทนตลาด EU และลดผลกระทบรวมทั้งกระจายความเสี่ยงของการพึ่งพาตลาด EU เช่น รัสเซีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และอาเซียน เป็นต้น โดยในกลางเดือนมกราคมนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเดินทางไปประเทศเมียนมาร์ และมีกำหนดการหารือกับผู้บริหารระดับสูงของเมียนมาร์เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด-เมียวดี ให้มีความคืบหน้าโดยเร็ว

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่จะได้รับผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิ GSP เช่น กุ้งแปรรูป (พิกัดฯ 160520) ยางนอกรถยนต์ (พิกัดฯ 401110) ยานยนต์ขนส่ง (พิกัดฯ 870421) สับปะรดกระป๋อง (พิกัดฯ 200820) เลนส์แว่นตา (พิกัดฯ 900150) ถุงมือยาง (พิกัดฯ 401519) วาล์วและเครื่องใช้ที่คล้ายกัน (พิกัดฯ 848180) เป็นต้น ซึ่งคู่แข่งของไทยที่สำคัญที่ถูกตัด GSP เช่นเดียวกับไทยในอาเซียนคือมาเลเซีย ดังนั้น จึงเป็นการแข่งขันด้านคุณภาพและมาตรฐานจริงๆ

ทั้งนี้ EU ยกเลิกโครงการให้สิทธิ GSP เนื่องจากไทยมีรายได้ของประเทศตามเกณฑ์ของธนาคารโลก ที่ระดับ“ปานกลางค่อนข้างสูง(Upper-Middle Income)” 3 ปีติดต่อกัน โดย EU ได้ให้สิทธิ GSP ฝ่ายเดียวแก่ประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด ด้วยการยกเว้นหรือลดหย่อนอากรตั้งแต่ พ.ศ.2514 รวม 176 ประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น