xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์แนะเอกชนเพิ่มมูลค่า-คุณภาพสินค้าหลังไทยถูกตัดสิทธิ GSP

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) เริ่มตัดสิทธิ GSP ไทย ตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้นำเข้าได้สั่งสินค้าล่วงหน้าไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่อาจมีผลกระทบบ้างในระยะต่อไป โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน ได้มีการขอใช้สิทธิ GSP มูลค่า 6,724.44 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ไทยส่งออกรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP ไปแล้ว มูลค่า 8,559.97 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 78.56 ของมูลค่าการส่งออก เฉพาะรายการที่ได้รับสิทธิ GSP
โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการควรหาแนวทางและปรับตัวรองรับ ด้วยการเพิ่มมูลค่าและคุณภาพให้แก่สินค้า เพื่อให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดภายใต้อัตราภาษีใหม่ของอียู และควรใช้ประเทศเพื่อนบ้านที่ยังได้รับสิทธิ GSP เป็นฐานการผลิต หรือเข้าไปร่วมลงทุนในอียู อาทิ ผู้ประกอบการด้านอาหา และค้าปลีกรายใหญ่ของไทย ที่ได้เข้าไปตั้งฐานการผลิตที่สหภาพยุโรปแล้ว
ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ได้ผลักดันตลาดอื่นๆ ที่มีศักยภาพเพื่อทดแทนตลาดอียู และลดผลกระทบ รวมทั้งกระจายความเสี่ยงของการพึ่งพาตลาดอียู เช่น รัสเซีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และอาเซียน โดยกลางเดือนมกราคมนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเดินทางไปประเทศพม่า และมีกำหนดการหารือกับผู้บริหารระดับสูงของพม่าเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ แม่สอด-เมียวดี ให้มีความคืบหน้าโดยเร็ว
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่จะได้รับผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิ GSP เช่น กุ้งแปรรูป ยางนอกรถยนต์ ยานยนต์ขนส่ง สับปะรดกระป๋อง เลนส์แว่นตา ถุงมือยาง รวมถึงวาล์วและเครื่องใช้ที่คล้ายกัน ซึ่งคู่แข่งของไทยที่สำคัญถูกตัดสิทธิ GSP เช่นเดียวกับไทย ในอาเซียน คือ มาเลเซีย
ทั้งนี้ อียูยกเลิกโครงการให้สิทธิ GSP เนื่องจากไทยมีรายได้ของประเทศตามเกณฑ์ของธนาคารโลก ที่ระดับปานกลางค่อนข้างสูง 3 ปี ติดต่อกัน โดยอียูได้ให้สิทธิ GSP ฝ่ายเดียวแก่ประเทศกำลังพัฒนา และพัฒนาน้อยที่สุด ด้วยการยกเว้น หรือลดหย่อนอากร ตั้งแต่พุทธศักราช 2514 รวม 176 ประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น