“ฉัตรชัย” สั่งพาณิชย์จังหวัดหนุนชาวนาปลูกข้าวอินทรีย์ เพื่อทดแทนการปลูกแบบเน้นปริมาณ หลังตลาดมีความต้องการสูง และขายได้ราคาดี พร้อมขอให้ร่วมมือ 4 มิสเตอร์สินค้าเกษตรทำแผนรับมือผลผลิตทะลัก และแก้ปัญหาราคาตกต่ำล่วงหน้า และช่วยผลักดัน 4 ยุทธศาสตร์พาณิชย์
นางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการเพาะปลูกข้าว ให้ทำการศึกษาโอกาส และผลักดันให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพดี และปัจจุบันสามารถขายได้ราคาสูงถึงกิโลกรัม (กก.) ละ 70 กว่าบาท เพื่อทดแทนการปลูกข้าวแบบเดิมที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ซึ่งเป็นไปตามแผนการพัฒนาคุณภาพสินค้าข้าวของไทย
“การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปหาแนวทางในการยกระดับราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว ที่ต้องหาทางลดพื้นที่เพาะปลูกลงมา แล้วหันไปผลิตพืชเกษตรอื่นที่มีราคาดีกว่า หรือหากจำเป็นต้องปลูกต่อ ก็ต้องหันไปเพาะปลูกข้าวคุณภาพดีมากขึ้น
และให้เน้นข้าวที่ตลาดมีความต้องการ เพราะได้ราคาดีกว่า” นางดวงกมล กล่าว
ทั้งนี้ ในปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ยังได้มีการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงให้เป็นผู้ดูแลสินค้าเกษตร 4 ชนิด คือ ผลไม้ ข้าว มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เพื่อให้ติดตามสถานการณ์แนวโน้มการผลิต การตลาด และคอยสอดส่องดูแลวางแผนเพื่อป้องกันปัญหาราคาตกต่ำ จนกระทบต่อเกษตรกร โดยให้ทำงานร่วมกับพาณิชย์จังหวัด และต้องวางแผนรับมือล่วงหน้า เช่น การหาตลาดรองรับ การกระจายสินค้าออกจากแหล่งผลิต รวมถึงการผลักดันการส่งออก
“ที่ผ่านมาในระดับนโยบาย รัฐบาลไทยได้มีการเจรจากับจีน เพื่อให้ซื้อสินค้าเกษตรจากไทย เช่น ลำไย ข้าว ยางพารา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการทำตลาดล่วงหน้า เพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่จะออกมา ถือเป็นการแก้ไขปัญหาล่วงหน้า”
นางดวงกมล กล่าวว่า รมว.พาณิชย์ ยังได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกระทรวงพาณิชย์ใน 4 ด้าน คือ 1.การวางแผนบริหารจัดการสินค้าเกษตรในพื้นที่ โดยให้ทำงานเชิงรุก เพื่อป้องกันปัญหาทางด้านผลผลิตล้นตลาด และกระทบต่อราคา 2.การดูแลค่าครองชีพ ขอให้มีการตรวจสอบสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ารายการใดมีความเคลื่อนไหวผิดปกติ ก็ให้รีบแจ้ง รีบรายงาน เพื่อให้ส่วนกลางได้รับรู้ และจะได้เตรียมรับมือได้ทัน 3.การขับเคลื่อนการส่งออก ขอให้ช่วยสนับสนุนการส่งออก โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน จะต้องหาทางผลักดันให้มีการทำการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น 4.การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะต้องให้ความรู้ และเตรียมความพร้อมให้แก่ประชาชน ผู้ประกอบการในพื้นที่ให้มีความพร้อม และใช้ประโยชน์จากการเข้าสู่ AEC
ส่วนประเด็นอื่นๆ ขอให้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการบูรณาการการทำงาน เช่น การร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเปิดตลาดนัดชุมชน เพราะเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการช่วยเหลือให้เกษตรกรมีพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้า และช่วยเหลือด้านค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ในการซื้อหาสินค้าราคาถูก