xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคารโลกชี้ “สิงคโปร์-นิวซีแลนด์-ฮ่องกง” เป็นประเทศน่าลงทุนที่สุด “ไทย” รั้งอันดับ 26

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ – สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และฮ่องกง ติดอันดับประเทศที่น่าลงทุนทำธุรกิจมากที่สุดจากรายงานของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างจีน บราซิล และอินเดีย อยู่อันดับรองๆ ลงไป ส่วนไทยปีนี้รั้งอันดับที่ 26

รายประจำปี “Doing Business” ซึ่งธนาคารโลกเผยแพร่วันนี้(29) มุ่งศึกษาวิเคราะห์ว่าประเทศใดที่รัฐมีนโยบายเอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจมากที่สุด ซึ่งผลปรากฏว่า 3 ประเทศเล็กๆ ในภูมิภาคแปซิฟิกมีคะแนนนำโด่ง

10 ประเทศแรกที่เอื้อต่อการลงทุนมากที่สุดตามการวิเคราะห์ของเวิลด์แบงก์ ได้แก่ สิงคโปร์, นิวซีแลนด์, ฮ่องกง, เดนมาร์ก, เกาหลีใต้, นอร์เวย์, สหรัฐฯ, อังกฤษ, ฟินแลนด์ และออสเตรเลีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่เคยมีชื่อติดโผในปีก่อนๆ

อย่างไรก็ดี รายงานปีนี้ซึ่งได้ปรับระเบียบวิธีวิจัยใหม่หลังจากที่ถูกจีนติเตียนมาหลายปี กลับยังทำให้มหาอำนาจเกิดใหม่อยู่ค่อนไปทางท้ายตาราง แม้ประเทศเหล่านี้จะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงและสามารถดึงดูดนักลงทุนได้ดีก็ตาม

จีนถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 90 จากทั้งหมด 189 ประเทศและดินแดน ขยับขึ้นเล็กน้อยจากอันดับ 93 ในปีที่แล้ว ส่วนบราซิลก็ขยับขึ้นมา 3 อันดับอยู่ที่ 120 ในขณะที่อินเดียร่วงลงไป 2 อันดับอยู่ที่ 142

ทั้ง 3 ประเทศถูกจัดอันดับความน่าลงทุนต่ำกว่ารัสเซีย (62) และกรีซ(61) ซึ่งกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้าและนักลงทุนก็ยังเผชิญอุปสรรคหลายประการ

เกาชิก บาซู นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของเวิลด์แบงก์ ยอมรับว่า รายงาน Doing Business “เป็นเพียงการวิเคราะห์บางแง่มุมของระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อนในประเทศยุคใหม่” และเป็นไปได้ว่า “ประเทศหนึ่งอาจจะทำคะแนนได้น้อยตามเกณฑ์ของ Doing Business แต่อาจจะไปเด่นในด้านนโยบายเศรษฐกิจมหัพภาค หรือสวัสดิการสังคมก็เป็นได้”

รายงานชิ้นนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับบรรยากาศในการทำธุรกิจ ความยากง่ายในการเปิดบริษัท การถ่ายโอนทรัพย์สิน การแก้ไขข้อพิพาทการค้า ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจสอบสินค้านำเข้าและส่งออก การขอเชื่อมกระแสไฟฟ้า และประเด็นอื่นๆ ที่เจ้าของธุรกิจจะต้องคำนึงถึงเมื่อเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ

ตามเกณฑ์การพิจารณาของเวิลด์แบงก์ สิงคโปร์ยังเป็นประเทศที่ทำคะแนนได้สูงสุด 88.27 ตามมาติดๆ ด้วยนิวซีแลนด์ 86.91

ประเทศที่ติด 30 อันดับแรกล้วนทำแต้มได้เกิน 74 ในขณะที่ 5 ประเทศซึ่งรั้งท้ายตาราง ได้แก่ ชาด, ซูดานใต้, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, ลิเบีย และเอริเทรีย ได้คะแนนไม่ถึง 40

นักลงทุนในสิงคโปร์ใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 2.5 วันในการเปิดบริษัท, 31 วัน ในการขอใช้ไฟฟ้า และ 4 วันกับเงินอีก 440 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในการขอนำเข้าสินค้า 1 ตู้คอนเทนเนอร์ แต่หากอยู่ในเอริเทรีย นักลงทุนรายเดียวกันอาจจะต้องใช้เวลาเฉลี่ย 89 วันในการเปิดบริษัท, 59 วันเพื่อขอไฟฟ้า ส่วนการนำเข้าสินค้าจะต้องใช้เวลานานถึง 59 วันกับค่าใช้จ่ายอีก 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในการนำเข้าสินค้า 1 ตู้คอนเทนเนอร์

อย่างไรก็ดี บาซู ย้ำว่า ผลสำรวจชิ้นนี้ไม่ได้บ่งบอกระดับการแทรกแซงเศรษฐกิจโดยรัฐบาลแต่ละชาติ

“ในกลุ่ม 30 ประเทศที่จัดว่าน่าลงทุนที่สุด รัฐบาลก็เข้ามามีบทบาทในการควบคุมทิศทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงไม่ได้หมายความว่า ประเทศเหล่านี้ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ เลย แต่เป็นเพราะรัฐบาลรู้จักออกกฎที่เอื้อต่อกิจกรรมการค้า และไม่สร้างอุปสรรคต่อการพัฒนาของภาคเอกชน”

“หัวใจของความสำเร็จอยู่ที่การออกข้อบังคับที่จำเป็น แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือระบบการตัดสินใจที่รวดเร็วและคาดการณ์ได้ เพื่อจะได้ไม่สร้างความอึดอัดต่อนักลงทุนรายย่อย”

สำหรับประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 26 ด้วยคะแนน 75.27 โดยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ประสบความสำเร็จในการลดขั้นตอนและระยะเวลาในการขอใบอนุญาตก่อสร้าง เช่นเดียวกับ แอลเบเนีย, โครเอเชีย, กานา, จิบูตี, ลิทัวเนีย, มาดากัสการ์ และเซเนกัล

เวิลด์แบงก์ยังได้อ้างถึงโครงการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินในช่วงปี 1984-2004 ซึ่งรัฐบาลไทยมีการจัดการที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ จนสามารถออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินกว่า 8.5 ล้านฉบับ ซึ่งได้กลายเป็นแบบอย่างให้แก่อีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

กำลังโหลดความคิดเห็น