xs
xsm
sm
md
lg

ศก.โลกหลังชนฝาฝ่าศึกรอบด้าน จีน-ญี่ปุ่น-ยุโรปตกต่ำพร้อมเพรียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี - เศรษฐกิจโลกเจอศึกรอบด้าน ทั้งญี่ปุ่นที่เข้าสู่ภาวะถดถอยสดๆ ร้อนๆ อัตราการเติบโตของจีนที่ชะลอลงจากมาตรการปฏิรูปภายใน เช่นเดียวกับพวกชาติเศรษบกิจตลาดเกิดใหม่ที่รับเคราะห์จากแผนการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตของ “เฟด” ขณะที่ยุโรปยังกระเสือกกระสนฟื้นจีดีพี แถมมีผลข้างเคียงจากวิกฤตยูเครนช่วยรุมเร้า

นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนของอังกฤษ ระบุในบทความในหนังสือพิมพ์การ์เดียนฉบับวันจันทร์ (17 พ.ย.) ว่า ไฟเตือนสีแดงกำลังกะพริบเตือนเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ สัญญาณอันตรายเหล่านี้ประกอบด้วย :

เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอย

ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากผู้นำกลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก (จี20) พยายามฟื้นความเชื่อมั่นด้วยการให้สัญญาว่า จะเพิ่มผลผลิตของโลกเป็นพิเศษขึ้นมาอีก 2 ล้านล้านดอลลาร์ภายใน 5 ปี ญี่ปุ่นกลับประกาศว่า เศรษฐกิจของตนเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นที่เรียบร้อยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา

แม้นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ชูธงขจัดความซบเซาที่ดำเนินมานานถึงสองทศวรรษด้วยกลยุทธ์ “อาเบะโนมิกส์” ที่ครอบคลุมการปฏิรูปเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ แต่ไตรมาส ก.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) กลับหดตัวในอัตราต่อปีถึง 1.6% หลังจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนของภาคธุรกิจดิ่งฮวบ ทันทีที่รัฐบาลขึ้นภาษีการขายในเดือนเมษายน

จีดีพีที่ติดลบยังเกิดขึ้นทั้งที่มีการคาดการณ์กันทั่วไปว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากการตกต่ำของช่วงไตรมาสสอง

การใช้จ่ายของผู้บริโภคแดนปลาดิบชะงักงัน เห็นกันว่าปัจจัยสำคัญมาจากภาวะจำนวนประชากรลดลงแต่กลุ่มผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้รายได้ในครัวเรือนยังขึ้นถึงระดับสูงสุดไปตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว ขณะที่ผู้ผลิตสูญเสียความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม และฐานการผลิตย้ายไปหาทำเลที่ต้นทุนถูกกว่าในต่างแดน

ความอ่อนแอของญี่ปุ่นอาจบ่อนทำลายการเติบโตของประเทศอื่นๆ หากบริษัทญี่ปุ่นลดการลงทุนและซื้อสินค้านำเข้า อาทิ เครื่องจักรกล อิเล็กทรอนิกส์ และวัตถุดิบ ทั้งนี้ แดนอาทิตย์อุทัยเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าอาหารรายใหญ่ที่สุดของโลก และผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติอันดับ 3 ของโลก

จีนเติบโตชะลอตัว

จีดีพีจีนกำลังแผ่วลงจากที่เคยทำได้ 10.4% ในปี 2010 สำหรับปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 7.5% การชะลอตัวเช่นนี้เป็นเรื่องที่คาดหมายกันอยู่ เนื่องจากแดนมังกรกำลังพยายามปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของตนให้ลดการพึ่งพิงการส่งออก และหันมาอาศัยการบริโภคภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี การเติบโตร้อนแรงของแดนมังกรเคยเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลกตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ดังนั้น แนวโน้มขาลงในปัจจุบันย่อมส่งผลกระทบวงกว้างถึงทั่วโลก

คำถามสำหรับผู้นำจีนคือ ทำอย่างไรเศรษฐกิจจึงจะชะลอตัวสู่อัตราการเติบโตที่ยั่งยืนโดยไม่ถึงกับทรุดตัวรุนแรง ขณะนี้ ปักกิ่งกำลังพยายามกระตุ้นการใช้จ่ายภายใน ควบคู่กับลดการพึ่งพิงการค้าและการลงทุนที่รัฐเป็นผู้สนับสนุน

ความที่จีนมีความเชื่อมโยงทางการค้าแนบแน่นกับตะวันตก ดังนั้น การชะลอตัวจึงมีแนวโน้มสร้างความเสียหายในระดับหนึ่งต่ออเมริกาและยุโรป นอกจากนี้ ความที่เป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบสำคัญ ผู้ที่จะรับเคราะห์จากเศรษฐกิจขาลงของจีนจึงหนีไม่พ้นประเทศที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์อย่างออสเตรเลียและบราซิล

ตลาดเกิดใหม่ซบ

ตลาดเกิดใหม่มากมาย อาทิ อินเดีย และบราซิล ได้อานิสงส์มาหลายปี จากการที่มีกระแสเงินทุนไหลทะลักเข้ามาจากพวกประเทศพัฒนาแล้ว โดยเป็นผลจากการที่ทั้งในอเมริกาและยุโรปต่างใช้นโนยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ จึงผลักดันให้นักลงทุนต้องหาแหล่งลงทุนอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

ทว่า สถานการณ์กำลังจะกลับตาลปัตร เพราะขณะนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กำลังพิจารณาขึ้นดอกเบี้ย คาดว่าจะดึงให้นักลงทุนถอนทุนจากตลาดเกิดใหม่กลับไปลงทุนในอเมริกา และแน่นอนว่าย่อมสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในตลาดเหล่านี้ ปัจจัยตัวนี้เองซึ่งทำให้ค่าเงินของหลายประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อ่อนยวบ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ยูโรโซนฟื้นยาก

เศรษฐกิจ 18 ชาติที่ใช้เงินยูโร (ยูโรโซน) ยังมีปัญหาในการขยายตัว ถึงแม้สามารถฟื้นจากภาวะถดถอยเมื่อปีที่แล้ว โดยไตรมาสที่ผ่านมา (ก.ค.-ก.ย. 2014) จีดีพีขยับแค่ 0.2%

ปัญหาของยูโรโซนถูกผสมโรงจากการคุกคามของภาวะเงินฝืด เนื่องจากราคาสินค้าที่ลดลงเรื้อรัง จะฉุดการเติบโตเ พราะทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อเนื่องจากหวังว่า ราคาจะลดลงได้อีก

ขณะเดียวกัน สมาชิกใหญ่หลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี และอังกฤษ มีหนี้สาธารณะมหาศาล จึงมีข้อจำกัดในการใช้จ่าย ซึ่งบ่อนทำลายการเติบโตอีกทอด

นอกจากนี้ ความขัดแย้งในยูเครนยังซ้ำเติมอีกทาง จากมาตรการลงโทษตอบโต้กันไปมาระหว่างรัสเซียกับอเมริกาและยุโรป ผลลัพธ์ที่ปรากฏให้เห็นแล้วคือ คำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในเยอรมนีดิ่งลง

ในฐานะที่เศรษฐกิจยูโรโซนทั้งกลุ่ม มีมูลค่าสูงสุดอันดับ 2 ของโลกรองจากอเมริกา จึงแน่นอนว่า ปัญหาของภูมิภาคนี้จะส่งผลทั่วถึงทั้งระบบเศรษฐกิจโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น