xs
xsm
sm
md
lg

นักวิเคราะห์เชื่อเศรษฐกิจจีนแค่ติดกับดักขาลง แนะปล่อยหยวนอ่อน-สานต่อปฏิรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - นักวิเคราะห์ชี้รัฐบาลจีนตอนนี้ทำดีไม่ขึ้น แม้ชะลอการทรุดดิ่งได้ แต่ไม่อาจหยุดยั้งทิศทางขาลง กระนั้น มีแนวโน้มน้อยมากที่เศรษฐกิจจะตกต่ำรุนแรง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังขึ้นอยู่กับนโยบายที่ปักกิ่งเลือกใช้ แนะระงับแพกเกจกระตุ้นขนาดใหญ่ ขณะที่การแทรกแซงต้องคำนึงถึงตรรกะของตลาดแทนที่จะต่อต้านขัดขืน ที่สำคัญควรปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าต่อ

เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง กำหนดเป้าหมายการเติบโตของจีนอย่างมั่นใจที่ราว 7% และว่า เศรษฐกิจกำลังปรับตัวสู่ “ภาวะปกติใหม่”

ทว่า ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลี่กลับต้องพยายามยืนยันกับที่ประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัม ว่าเศรษฐกิจไม่ได้กำลังทรุดดิ่งอย่างไร้ระเบียบซึ่งอาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง

ผู้นำแดนมังกรยืนยันว่า ปักกิ่งมีความสามารถในการจัดการอย่างเหมาะสม หากมีสัญญาณว่า เศรษฐกิจกำลังออกนอกลู่นอกรอย

“เศรษฐกิจจีนจะไม่ตกต่ำรุนแรง” หลี่ย้ำ

ทว่า เค้าลางและข้อมูลที่ออกมาดูเหมือนหนังคนละม้วนกับที่หลี่ยืนยัน ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าเงินหยวนกะทันหัน การอ่อนตัวเรื้อรังของภาคการผลิต การผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มมากขึ้น และราคาหุ้นดิ่งหนัก

การที่รัฐบาลเข้าแทรกแซงตลาดหุ้นและตลาดเงิน ซึ่งรวมถึงการสืบสวนของตำรวจ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ล้มเหลว ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงเกี่ยวกับการจัดการและความมุ่งมั่นในการปฏิรูปของบรรดาผู้นำจีน

วันจันทร์ที่แล้ว (7) จีนลดอัตราเติบโตปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 7.3% ต่ำสุดในรอบ 24 ปี ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั้งสองไตรมาสแรกของปีนี้ค้างอยู่ที่ 7% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าปีที่แล้ว

กอร์ดอน ฉาง นักเขียนและนักวิจารณ์อิสระบอกว่า ผู้นำจีนขณะนี้ทำอะไรก็ไม่ขึ้น แม้ชะลอการทรุดดิ่งได้ แต่ไม่อาจหยุดยั้งทิศทางขาลงของเศรษฐกิจ

จาง จุน ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฟูตันในเซี่ยงไฮ้ขานรับว่า ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะทรุดลงรุนแรงปรากฏขึ้นระยะหนึ่งแล้ว แต่จีนจะหลีกเลี่ยงได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับนโยบายที่รัฐบาลจะนำมาใช้ เช่น การลดหนี้สาธารณะและหนี้ภาคเอกชน

ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในเดือนสิงหาคมมีทั้งบวกและลบ แต่โดยรวมแล้วถือว่าบ่งชี้ว่ามีความหวังเพียงริบหรี่

ภาคส่งออกมีผลงานดีกว่าคาด แต่ยอดนำเข้าดิ่งลงเกือบ 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ส่วนราคาผู้บริโภคขยับขึ้นสู่ระดับที่จัดการได้ที่ 2% ทว่าดัชนีราคาผู้ผลิตซึ่งเป็นตัวชี้วัดต้นทุนสินค้าหน้าโรงงาน กลับดิ่งลง 5.9% ต่ำที่สุดนับจากเดือนกันยายน 2009

บรรดาธนาคารใหญ่ที่สุดในแดนมังกร ซึ่งรวมถึง “อินดัสเทรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า” รายงานยอดหนี้เสียเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เนื่องจากภาคเอกชนประสบปัญหา

หลิว ลี่กัง นักเศรษฐศาสตร์ของเอเอ็นแซด แบงกิ้ง คอร์ป คาดว่า ผลที่ตามมาคือ ธนาคารต่าง ๆ ระมัดระวังการปล่อยกู้มากขึ้นและนำไปสู่วงจรอุบาทว์ของการเติบโตชะลอตัวและภาวะเงินฝืด ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงนี้ด้วยนโยบายเชิงรุก

นับจากเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว จีนลดดอกเบี้ยมาแล้ว 5 ครั้ง และสัปดาห์ที่ผ่านมายังเปิดเผยรายละเอียดบางส่วนของนโยบายการคลังเชิงรุก เช่น การเร่งโครงการก่อสร้างสำคัญ

จากข้อมูลของไชน่า อินเตอร์เนชันแนล แคปิตอล คอร์ป ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการลงทุนของรัฐบาลจีน ปักกิ่งอาจใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลังมูลค่าอย่างน้อย 1.2 ล้านล้านหยวน (188,000 ล้านดอลลาร์) ใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งต่ำกว่าแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาวิกฤตการเงินโลกปี 2008 ที่มียอดรวมกว่า 4 ล้านล้านหยวน

อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นดังกล่าวย่อมมาพร้อมต้นทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือหนี้ที่ปักกิ่งกำลังชดใช้อยู่ รวมถึงฟองสบู่สินทรัพย์

ดังนั้น นักวิจารณ์บางคนจึงเห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลจีนต้องทำในขณะนี้คือ การระงับการอัดฉีดครั้งใหญ่ นอกจากนี้ มาตรการแทรกแซงยังขัดแย้งกับหลักการในการปฏิรูปตามแนวทางตลาดที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนให้สัญญาไว้

ทั้งนี้ หลังจากตลาดหุ้นเทกระจาดเกือบ 40% นับจากกลางเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ปักกิ่งใช้เงินกว้านซื้อหุ้นไปแล้วราว 234,000 ล้านดอลลาร์

แอนดี รอธแมน นักกลยุทธ์การลงทุนของแมทธิวส์ เอเชีย ชี้ว่า ความพยายามในการฟื้นราคาหุ้นกลุ่มเอของปักกิ่งนั้นงุ่มง่าม สะเปะสะปะและไม่จำเป็น เขาหวังว่าผู้นำจีนจะตระหนักถึงความผิดพลาดเหล่านั้นและไม่ทำพลาดซ้ำอีก

นักวิเคราะห์บางคนยังบอกว่า อาการตื่นกลัวภาวะเศรษฐกิจจีนของทั่วโลกตอนนี้เป็นการตื่นตูม

เหลี่ยว กุน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ซิติก แบงก์ อินเตอร์เนชันแนล ชี้ว่า โอกาสที่เศรษฐกิจจีนจะทรุดตัวรุนแรงมีน้อยมาก แม้เศรษฐกิจยังไม่มีเสถียรภาพเต็มที่และแนวโน้มยังคงไม่แน่นอนก็ตาม

ขณะที่ หลู เจิ้งเหว่ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไชน่าส์ อินดัสเทรียล แบงก์ ชี้ว่า ความเสี่ยงใหญ่สุดสำหรับจีนตอนนี้ คือ การดำเนินนโยบายผิดพลาด โดยเฉพาะนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน โดยแนะนำให้ทางการผลักดันการปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยน และปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงอีก รวมทั้งย้ำว่า การแทรกแซงของทางการต้องเคารพตรรกะของตลาดแทนที่จะต่อต้านขัดขืน


กำลังโหลดความคิดเห็น