xs
xsm
sm
md
lg

"มาร์ค"ไม่ขัดนักการเมืองร่วมสปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง กรธ.ว่า มีกำหนดในรัฐธรรมนูญชั่วคราวอยู่แล้ว ซึ่งตนก็เห็นด้วยว่านักการเมืองไม่ควรเป็นกรรมการยกร่างฯเพราะมีส่วนได้เสีย แต่พรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้การร่างรัฐธรรมนูญนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ ถ้าคิดว่าเป็นประโยชน์นักการเมืองก็ไม่ต้องฟังแต่ถ้าเป็นการวางระบบที่ถูกต้องต้องรับฟังแม้ว่าคนพูดจะเป็นนักการเมือง จึงหวังว่ากรรมการจะทำงานอย่างเปิดกว้าง
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้งในประเด็นการทำประชามตินั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ควรทำเรื่องหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน จะได้ไม่มีการตีความ เพราะถ้าเป็นหลักเกณฑ์กึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์จะเป็นเรื่องยากมาก จึงควรแก้ไข แต่ในส่วนอื่นไม่อยากให้มีการแก้บ่อยเกินไป เพราะทำให้โรดแมปเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่น จึงควรทำตามโรดแมปจะดีที่สุด
สำหรับสภาขับเคลื่อนฯ ที่นายกรัฐมนตรีจะตั้งขึ้นนั้น อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สภาขับเคลื่อนฯ ใช้คำว่า ผลักดันการปฏิรูปในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ อาจทำให้ชัดเจนก็ได้ว่า “ช่วงเวลาที่เหลืออยู่”คืออะไร แต่เจตนาก็เชื่อว่ามาทำหน้าที่ติดตามสิ่งที่ สปช.ทำไว้ และสรุปรวบยอดข้อเสนอต่าง ๆ ว่าอะไรต้องทำเป็นกฎหมาย อะไรต้องใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ซึ่งเข้าใจว่ากำลังเข้าสู่ระยะที่สองบวกกับก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่ ส่วนสภาขับเคลื่อนฯจะทำงานอย่างไรคงพูดล่วงหน้าไม่ได้ เพราะคสช.อยากให้มีองค์กรขับเคลื่อนสิ่งที่สปช.ทำไว้ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ระบุแล้วว่า ใคร ที่วิ่งเต้นจะขีดชื่อออก เมื่อท่านพูดแล้ว ก็ต้องทำอย่าให้มีการวิ่งเต้นได้ แต่สภาขับเคลื่อนฯ มีอำนาจจำกัดเพราะต้องไปใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติ
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าว ผู้ที่จะมาทำหน้าที่สภาขับเคลื่อนฯ และ กรธ. ต้องเอาเรื่องการปฏิรูปเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอากลุ่มคน หรือบุคคลเป็นตัวตั้ง จึงจะสำเร็จ ทั้งนี้ตนยืนยันว่า ทุกคนมีหน้าที่ให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่แก้ปัญหาประเทศ และผ่านการทำประชามติ แทนที่จะคิดเป็นเรื่องการเมือง แต่ให้คิดว่าทำอย่างไรให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดีและผผ่านการทำประชามติดีกว่า อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวเห็นว่า หากเขียนให้ชัดเจนว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติจะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาแทนเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยคิดว่าควรนำรัฐธรรมนูญปี 50 มาให้ประชาชนเปรียบเทียบเพื่อให้เป็นทางเลือกที่ชัดเจนและเป็นแรงกดดันให้คนร่างต้องทำดีกว่าเดิม
" ผมยืนยันว่ารัฐธรรมนูญ 50 ไม่มีปัญหาเรื่องเนื้อหา แต่เป็นเรื่องของกลุ่มบุคคลที่ไม่ยอมรับและไม่ยอมปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ว่าหลักการใช้ไม่ได้ แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ ปี 40 มีความล้มเหลวชัดเจน ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าต้องรื้อใหม่ทั้งฉบับ ในขณะที่รัฐธรรมนูญปี 50 แก้จุดอ่อนปี 40 แล้ว แต่วันนี้เรามาไกลถึงขั้นจะมีอีกฉบับ ก็เปิดโอกาสให้กรรมการฯ ร่วมกับสังคมเอาสิ่งที่ดีที่สุดและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยไม่จำเป็นต้องเขียนการปฏิรูปทุกอย่างในรัฐธรรมนูญ เช่น ปฏิรูปพรรคการเมือง สามารถเขียนในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญป้องกันไม่ให้นายทุนยึดครองพรรคการเมืองก็สามารถทำได้ อยากให้โจทย์อยู่ที่การเขียนรัฐธรรมนูญที่ดี แทนที่จะเถียงด้วยวาทกรรม เผด็จการ ประชาธิปไตย นักการเมืองเลว ความขัดแย้ง แต่เอาปัญหาประเทศมาเป็นตัวตั้ง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า กรธ. ชุดใหม่ต้องเรียนรู้จากบทเรียนของการยกร่างที่ผ่านมา โดยต้องเข้าใจเงื่อนไขของความแตกต่างด้วย ซึ่งตนเห็นใจกรรมาธิการฯ ชุดที่แล้วที่อยู่ภายใต้ภาวะกดดัน ต้องผ่านทั้ง สปช. และประชามติ แต่วันนี้ไปที่ประชาชนเลย จึงต้องทำในกรอบที่ให้ประชาชนเห็นชอบ คือ ทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของร่าง ซึ่งจะทำให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรี เปิดช่องให้นักการเมืองเข้าร่วมเป็นสภาขับเคลื่อนฯ นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทำได้เพราะไม่มีประโยชน์ทับซ้อนแตกต่างจาก สปช. ที่มีอำนาจในการอนุมัตรัฐธรรมนูญ แต่สภาขับเคลื่อนมีหน้าที่เพียงแค่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปใครจะเข้าไปก็ไม่เป็นปัญหา เพราะไม่มีการเขียนอำนาจไว้
เมื่อถามว่าไม่ปฏิเสธที่จะส่งตัวแทนไปร่วมเป็นสภาขับเคลื่อนฯ หากมีการทาบทาม ใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบว่ามีระบบสมัคร หรือโควต้าอย่างไร แต่คิดว่าไม่มีปัญหา เพราะไม่มีอำนาจ ไม่มีประโยชน์ทับซ้อน ใครจะเข้าไปก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะกฎหมายมหาชนไม่เขียนอำนาจไว้ก็ทำไม่ได้ อีกทั้งคิดว่าใครก็ตามที่ต้องการช่วยปฏิรูป แม้ไม่มีตำแหน่งในสภาขับเคลื่อนก็สามารถช่วยให้ความเห็นได้ โดยให้การผลักดันเกิดจากสังคม และคิดว่าที่รัฐบาลจะนำทุกฝ่ายไปร่วมเป็นสภาขับเคลื่อนฯ คงไม่ใช่ทำเพื่อให้เกิดภาพว่ามีความปรองดองแล้ว แต่น่าจะทำให้ประเด็นการปฏิรูปเป็นของทุกฝ่าย ไม่ใช่ว่าบางฝ่ายยังยืนขวางการปฏิรูปอยู่ ก็จะเป็นปัญหาในอนาคต แต่คนที่จะเข้าไปต้องมีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่ใช่ถูกลากไปในแนวทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่ปฏิรูป ก็คงอยู่ไม่ได้ ตนจึงค่อนข้างสบายใจในเรื่องนี้ เพราะไม่มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องใครอยากเข้าไปก็เข้าใจ แต่จะทำมากน้อยแค่ไหนและต้องรับผิดชอบการปฏิรูปอย่างไร ก็ต้องว่ากัน อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถมีใครไปในนามพรรคได้เพราะพรรคไม่มีการประชุม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฟังนายกรัฐมนตรีกล่าวระหว่างการประชุมสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว คิดว่าได้รับสัญญาณอะไรบ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นายกฯ ยืนยันเจตนาหลายเรื่อง และที่ต้องขอบคุณคือ การพูดเรื่องปรองดองว่า ต้องเกิดหลังความรับผิดชอบทางกฎหมายก่อน ถ้ายืนยันหลักนี้ตนสบายใจ ซึ่งหากนายกฯ มีหลักคิดเช่นนี้ก็ไม่จำเป็น ต้องมีการบัญญัติคณะกรรมการปรองดองที่มีอำนาจ ในการเสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษไว้ในร่างรัฐธรรมนูญอีก ส่วนการปฏิรูป เป็นเรื่องความเห็น ประเด็นปัญหาการเมือง ตนก็เห็นด้วยบางส่วนไม่เห็นด้วยบางส่วน
"ผมยืนยันว่า นักการเมืองไม่ดีก็มี ที่ดีก็มี ถ้าไม่แยกแยะจะไม่สามารถแก้ปัญหาการเมืองไม่ได้ ต้องว่าไปตามข้อเท็จจริงอย่าเหมารวม ลดวาทกรรม เอาเนื้อหาสาระเป็นตัวตั้ง ไม่เช่นนั้นปัญหาก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ ซึ่งทางพรรครอให้มีการตั้งกรรมการยกร่างฯ เรียบร้อย ก็พร้อมที่จะให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติและบ้านเมืองเดินได้อย่างราบรื่นเพราะถ้าเกิดคว่ำแล้วคว่ำอีกไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า นายกฯ ยืนยันต่อหน้าท่านว่า จะไม่สืบทอดอำนาจเชื่อหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่เห็นเหตุผลอะไรที่จะไม่เชื่อ ตนคิดว่า พูดแล้วคงทำ เพราะรู้จักดีพอสมควร จากการทำงานว่า ท่านพูดอะไรไปแล้วก็ต้องทำตามสิ่งที่พูดไม่เช่นนั้นจะเสียหายเอง
เมื่อถามต่อว่า ถ้ามีการอ้างว่าสถานการณ์บังคับ และกฎหมายรองรับแล้วทำหน้าที่ต่อจะเป็นอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ก็คือไม่ จะไปพูดอย่างอื่น ก็กลายเป็นการบิดพลิ้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น