xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ “โลกร้อน” กำลังเปลี่ยนระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: รองศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์

ภาพเอพี
โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)


ผมกำลังเขียนบทความนี้ขณะที่กำลังเข้าร่วมการประชุมวิชาการในระดับนานาชาติซึ่งเกี่ยวกับการศึกษาบรรยากาศด้านล่างของพื้นผิวมหาสมุทร หรือที่เรียกเป็นชื่อย่อว่า SOLAS (Surface Ocean Lower Atmosphere Study) ซึ่งจัดขึ้นที่ คีล (Kiel) เมืองหลวงของรัฐชเลสวิก-โฮลชไตน์ ประเทศเยอรมนี นับว่าเป็นหนึ่งในการรวมตัวของนักวิชาการที่ทำวิจัยด้านมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศรวมถึงการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรกับชั้นบรรยากาศในมิติต่างๆ และอาจกล่าวได้ว่าเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้มีการถกเถียงพร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลใหม่ล่าสุดจากนักวิชาการจากทั่วทุกมุมโลกในช่วงเกือบหนึ่งสัปดาห์หลังวันคล้ายวันที่คุณสืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในตำนานได้อำลาโลกนี้ไปด้วยเสียงปืนที่ลั่นกลางห้วยขาแข้งเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533

ภาวะโลกร้อนและผลกระทบของมันที่มีต่อสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินเรือสินค้าอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากจะกล่าวถึงโลกร้อนหลายท่านอาจจินตนาการภาพที่หมีขั้วโลกกำลังจะจมน้ำตายเนื่องจากไม่มีแผ่นน้ำแข็งให้ยืน ซึ่งผลพวงจากการที่ระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้เปิดเส้นทางเดินเรือใหม่โดยเฉพาะมีการคาดการณ์ไว้ว่า เรือสินค้าสามารถแล่นผ่านเขตขั้วโลกเหนือได้ในช่วงฤดูร้อนราว 100 ถึง 150 วัน ซึ่ง 25 ปีก่อนหน้านี้ในช่วงที่ภาวะโลกร้อนยังไม่รุนแรงดังเช่นปัจจุบัน แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแล่นเรือผ่านทะเลอาร์กติกเนื่องจากพื้นที่ทะเลส่วนใหญ่กลายเป็นน้ำแข็งแม้กระทั่งในช่วงฤดูร้อน

แน่นอนยักษ์ใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจแห่งเอเซียอย่างจีนย่อมไม่พลาดโอกาสทองที่จะกระจายสินค้าของตนทะลุเข้ากลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาผ่านรอยแยกของแผ่นน้ำแข็งในเขตขั้วโลกเหนือ เพราะแทนที่จะใช้เส้นทางเดินเรือแบบเดิมที่ต้องวิ่งผ่านทะเลจีนใต้เข้าช่องแคบมะละกาออกมหาสมุทรอินเดียก่อนแล่นผ่านคลองสุเอซเข้าทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตามเส้นทางเดินเรือเอเซีย-ยุโรป หรือจะลัดผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกไปสู่ทวีปอเมริกา ตามเส้นทางเดินเรือเอเซีย-อเมริกา ไม่ว่าจะเลือกเส้นทางเดินเรือแบบไหนย่อมใช้ทั้งงบประมาณและเวลามากกว่าการลัดเข้าขั้วโลกเหนือโดยตรงแล้วออกมาทางทะเลเหนือก่อนกระจายสินค้าไปตามจุดต่างๆในทวีปยุโรป หลังจากนั้นอาจพ่วงเส้นทางเดินเรือพิเศษแล่นต่อไปถึงแคนนาดาและสหรัฐอเมริกาเพื่อระบายสินค้าส่วนที่เหลือก็ย่อมเป็นไปได้ การย่นทั้งระยะทางการเดินเรือและเวลาย่อมส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคาน้ำมันโลกพุ่งขึ้นสูง การลดต้นทุนสินค้าจากระบบโลจิสติกส์คือกุญแจสำคัญในการเอาชนะคู่แข่งด้านราคา

เมื่อจีนขยับมีหรือที่ชาติอื่นจะไม่ปรับกลยุทธ์ตาม? ในขณะที่กลุ่มประเทศในเขตขั้วโลกเหนือกำลังสะบัดภาพลักษณ์ของพื้นที่ขาวโพลนสุดลูกหูลูกตาอันแสนหนาวเหน็บออกให้พ้นจากตน พร้อมกับพยายามที่จะเชื้อเชิญนักลงทุนต่างชาติเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการเดินเรือบริเวณขั้วโลกเหนือ นักวิชาการบางกลุ่มได้แสดงความวิตกต่อแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินเรือผ่านทะเลอาร์กติกว่าอาจส่งผลร้ายต่อระบบนิเวศอย่างชนิดที่ไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาเหมือนเดิมได้อีกทั้งยังมีคำถามทางวิทยาศาสตร์มากมายที่เรายังไม่รู้เช่น

1.เขม่าควันดำจากไอเสียของเรือสินค้า อาจทำให้ค่า อัลบีโด (Albedo ภาษาละตินเป็นว่าความขาว) ลดลง โดยปกติแล้วค่า อัลบีโด จะอยู่ในช่วง 0 ถึง 1 ในกรณีที่พื้นผิวมีการดูดกลืนรังสีจากดวงอาทิตย์อย่างสมบูรณ์ชนิดที่ไม่มีการสะท้อนกลับค่า อัลบีโด จะเป็น 0 ในทางกลับกันหากพื้นผิวมีการสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ 100% เต็มค่าอัลบีโดจะเท่ากับ 1 ในภาวะปกติพื้นที่ทะเลน้ำแข็งในเขตอาร์กติกจะมีค่าอัลบีโดใกล้เคียงกับ 1 นั้นหมายถึงพื้นที่ขั้วโลกเหนือได้ทำหน้าที่สะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ช่วยทำให้โลกเย็นลง แต่หากพื้นที่สีขาวนี้แปดเปื้อนด้วยเขม่าควันจากไอเสียของเรือสินค้านั้นหมายถึงศักยภาพในการสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์จะลดลงและโลกก็จะกลับร้อนขึ้น
2.มีงานวิจัยหลายชิ้นได้บ่งชี้ถึงไอเสียจากเรือสินค้าว่าเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษประเภทต่างๆไม่ว่าจะเป็น คาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ โอโซน ฝุ่นละอองประเภทต่างๆ รวมทั้งสารก่อมะเร็งและสารก่อการกลายพันธุ์ซึ่งผมได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Atmospheric Environment ของสำนักพิมพ์ Elsevier เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2558 ท่านใดสนใจสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ www.researchgate.net/publication/273060927_Enhanced_PM10_bounded_PAHs_from_shipping_emissions
3.ผลกระทบจากสารเคมีประเภทต่างๆ ที่ปล่อยออกจากเรือสินค้าที่มีต่อระบบนิเวศของทะเล รวมทั้งแผ่นน้ำแข็งยังไม่เป็นที่แน่ชัด เช่น ปรากฏการณ์ แพลงก์ตอนบลูม หรือการที่แพลงก์ตอนเกิดการสังเคราะห์แสงและขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว มีความเชื่อมโยงกับไอเสียจากเรือสินค้าหรือไม่อย่างไร ประเด็นนี้ก็ยังไม่ชัดเจน

ยังไม่รวมถึงสัตว์น้ำประเภทต่างๆซึ่งไม่เคยคุ้นชินกับเสียงเครื่องจักรจากการหมุนของใบพัด พวกเขาจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับการรุกรานจากการเดินเรือของมนุษย์ได้หรือไม่ก็ยังเป็นที่ถกเถียง

เหนือสิ่งอื่นใดมนุษย์กำลังก้าวล่วงธรรมชาติมากเข้าไปเรื่อยๆ และเริ่มรุกล้ำเข้าไปยังอาณาเขตที่บอบบางและมีความอ่อนไหวสูงอย่างเช่นเขตขั้วโลกเหนือ โดยที่ไม่รู้ว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ตามมาจะเป็นเช่นไร จากการประชุม SOLAS 2015 ครั้งนี้ได้มีการรวมกลุ่มของนักวิชาการทั่วโลกมาร่วมกันระดมสมองเสนอความคิดและมุมมองที่หลากหลายจากสาขาวิชาที่พวกตนเชี่ยวชาญ ก่อนจัดทำรายงานเสนอให้กับหน่วยงานสากลที่มีอำนาจต่อรองประเทศสมาชิกเช่น สหภาพยุโรป เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนโดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ผู้จัดการโครงการการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคนิคที่ดี่สุดและแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด สำหรับหน่วยงานที่ใช้พลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและหม้อต้มไอน้ำอุตสาหกรรมในประเทศไทย
องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ

กรรมการที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติมลพิษทางอากาศ ประจำสถาบันเทคโนโลยีเวสเซ็กส์ สหราชอาณาจักร

นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมโลก สภาวิทยาศาสตร์สาธารณรัฐประชาชนจีน เมืองซีอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

Email: pongpiajun@gmail.com

กำลังโหลดความคิดเห็น