xs
xsm
sm
md
lg

เรียนรู้ปฏิรูปรอบด้าน (1)...จาก “สัมปทานรอบ 21” ถึงไทยกลายเป็น “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก” และฐาน “อุตฯปิโตรเคมี” ขนาดใหญ่แห่งใหม่ของโลก (ฟังคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปิยะโชติ อินทรนิวาส (ซ้าย) กับ บัญชร วิเชียรศรี (ขวา)
 
18 ก.พ.นี้..?! คือก้าวแรกมหกรรมสูบเลือดเนื้อคนไทยระลอกใหม่จาก “สัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21” เพื่อการเรียนรู้อย่างรอบด้าน เพราะประเทศไทยจะถูกผลักดันให้เป็น “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก” ที่จะกลายเป็นฐานผลิต “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ขนาดใหญ่แห่งใหม่ ASTVผู้จัดการภาคใต้ ขอถอดบทสัมภาษณ์แบบคำต่อคำของ “ปิยะโชติ อินทรนิวาส” โดย “บัญชร วิเชียรศรี” ผ่านรายการสภากาแฟ ที่นำเสนอทางสถานีวิทยุ มอ.88 แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มานำเสนอเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ปฏิรูปพลังงานที่กำลังแหลมคมยิ่ง
 






บัญชร วิเชียรศรี (แฟ้มภาพ)
 
บัญชร วิเชียรศรี : สวัสดีครับ รายการสภากาแฟ สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ครับ วันนี้วันอังคาร แรม 3 ค่ำ เดือนอ้าย วันที่ 9 ธันวาคม 2557
 
ครับในรายการสภากาแฟ ผม-บัญชร วิเชียรศรี วันนี้ดำเนินรายการคนเดียวนะครับ แต่ว่าดำเนินรายการคนเดียวไม่ได้หมายความว่านั่งพูดคนเดียว เพราะว่าเนื้อหาวันนี้มีเรื่องที่น่าสนใจที่เชิญวิทยากร เรามาคุยในวันนี้ เพราะว่าเป็นเรื่องที่มันสัมผัสใกล้ชิดกะเรา และเราก็เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา ก็คือเรื่องของพลังงาน เราใช้พลังงานในรูปแบบต่างๆ เยอะแยะไปหมด ซึ่งจริงๆ แล้ว พลังงานในโลกนี้ทั้งหมดเนี้ยะ ต้นทางมันอยู่ที่ดวงอาทิตย์นะครับ เพียงแต่ว่าจะผ่านมาในรูปลักษณ์อย่างไร เอามาสะสมไว้ในโลกอย่างไร และเราหยิบมาใช้อย่างไร
 
บางอย่างเราก็ได้ใช้ตรงจากดวงอาทิตย์เลย อย่างเช่นพลังงานความร้อนแสงแดด บางอย่างก็ดวงอาทิตย์นี่ทำให้มีชีวิตมีพัฒนาการเกิดขึ้นในโลกนะฮะ แล้วก็ เปลี่ยนแปรรูปเป็นปิโตรเลียมสะสมอยู่ใต้ดิน เราก็เอามาใช้ รึว่าใช้ในรูปแบบของเนื้อไม้ อะไรอีกหลายอย่าง ไฟฟ้าทุกวันนี้ แก๊สที่เราใช้ น้ำมันรถ แก๊สเติมรถ หรือแม้แต่แก๊สโซฮอล์ที่เติมแอลกอฮอล์ลงไป แอลกอฮอล์ก็ได้มาจากกระบวนการผลิตน้ำตาล ซึ่งน้ำตาลก็มาปรับเป็นแอลกอฮอล์อีกที ซึ่งต้นทางก็มาจากดวงอาทิตย์นั่นเองนะครับ
 
แต่ว่าสิ่งที่น่าสนใจที่จะมาคุยในวันนี้ คงไม่ใช่เรื่องที่มันไปไกลถึงขนาดนั้น แต่ว่าเป็นเรื่องที่มีเส้นสายโยงใยในระบบพลังงาน แล้วก็บ้านเราทุกวันนี้เนี้ยะ เรื่องการเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับพลังงาน การใช้พลังงาน มันมีน้อยจริงหรือไม่ หรือว่ามันมีมากไปรึเปล่า หรือว่าจะเป็นอะไรยังไง แค่ในจังสงขลาเรื่องโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ของพวกผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ ก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีโรงที่ 1 มีโรงที่ 2 แล้วจะมีโรงที่ 3, 4, 5 อะไรอีกรึเปล่า แล้วมันเกี่ยวกับอะไรบ้าง
 
วันนี้เป็นประเด็นที่เราจะคุยกัน วิทยากรของผมวันนี้เป็น หัวหน้าศูนย์ข่าวASTVผู้จัดการภาคใต้ นะครับ แต่ว่าสถานะที่จะมาคุยวันนี้ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเป็นผู้สื่อข่าวอาวุโส ที่ติดตามเรื่องข่าวสารพลังงานในพื้นที่และในโลกนี้ด้วยนะครับ วันนี้จะมาคุยในประเด็นที่มันมีอะไรที่โยงใยซ้อนเร้นบางรึเปล่า เรื่องระบบพลังงานของโลกที่เชื่อมโยงมาถึงเรานะครับ คุณปิยะโชติ อินทรนิวาส ครับ สวัสดีครับ
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส (แฟ้มภาพ)
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ครับ สวัสดีนะครับ
 
บัญชร วิเชียรศรี : ครับปกติได้เจอกันเวทีอื่นนะครับ นานๆ ทีถึงจะได้เจอที่วิทยุ มอ. เวลาพูดถึงเรื่องของพลังงาน ผมก็นึกถึงไอ้ที่อยู่รอบๆ ตัวนี่ละ และก็ข่าวสารที่เราได้ยินกันอยู่ทุกวันนี้ ข่าวที่เราได้ยินจากรัฐอยู่บ่อยๆ คือว่า จะหมด จะไม่พอ ต้องเพิ่ม อย่างงี้อยู่ตลอด ต้องเตรียมสำรองไว้ในอนาคต ซึ่งจากข้อมูลที่มีอยู่ทั่วๆ ไป ก็น่าจะจริงนะ ก็น่าจะต้องสำรองไว้ เพราะเราก็ต้องใช้ไฟ ลูกหลานเราก็ต้อง อะไรทำนองนี้แต่ว่าจริงๆ เราก็ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : คือถ้ามองในฐานะคนสื่อนี่ ส่วนใหญ่ในแวดวงสื่อ เราจะใช้คำว่าข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงถ้าเราฟังตรงนี้ผิวเผินว่า ข้อเท็จจริงตรงนี้คือไร แต่ว่าเราลองแยกคำดู มันมีทั้ง เท็จ และ จริง อยู่ในนั้นนะครับ อันนี้ที่อย่างที่พูด ก็คือสิ่งที่เค้ามาอธิบาย บางครั้งอธิบายเป็นข้อจริง แต่จริงบางส่วน แต่พอมันบางส่วนปุ๊ป เพื่อเอาไปใช้บางสิ่งบางอย่างมันจะเป็นข้อเท็จก็ได้ หรือว่าบางเรื่องมันเป็นเรื่องเท็จ เค้าถึงใช้คำว่าข้อเท็จและจริง
 
ทีนี้ถ้าสมมุติว่า สังคมได้รับการอรรถาธิบายที่ไม่ครอบคลุม แล้วก็ไม่เข้าใจทั้งหมด ก็จะขาดข้อมูลบางสิ่งบางอย่าง เช่น คิดว่าเราต้องเดินหน้า มันมีความจำเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าถ้าเรามองในฐานะสื่อ เรามองแล้วเราก็ต้องมองเชิงวิเคราะห์ เชิงทำความเข้าใจ สื่อก็จะมีอยู่ 1.ใช้ตาเหยี่ยวในการมอง คือมองให้เห็นป่าทั้งป่า
 
บัญชร วิเชียรศรี : อ้อ..คือเหมือนกับนกที่บินอยู่ข้างบนสูงๆ แล้วก็มองลงมาเห็นภาพรวม
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ครับ ใช้คำว่า เบิร์ดอายวิว ก็คือมองให้เห็นภาพรวม มองให้เห็นป่าทั้งป่า แต่ในอีกมิติหนึ่งสื่อก็ควรจะต้องมีตาหนอนนะครับ ตาหนอนรึว่าตาไส้เดือน ตาอะไรก็ตามเข้าไปมองให้เห็นว่า ใต้ต้นไม้ ในดิน ในรากมันมีอะไรอยู่ บางครั้งมันก็อาจจะเห็นบางสิ่งบางอย่างว่า ภายใต้วาทะกรรมอย่างนี้ มันอาจจะมีบางสิ่งบางอย่างที่แฝงเร้นอยู่
 
ผมเลยในฐานะที่เป็นสื่อ ก็คิดว่าเรามีหน้าที่อธิบายให้สังคมเข้าใจ ถ้าเราคิดแล้วเราเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง เราก็อธิบายให้สังคมได้รับรู้ ถ้าสังคมรับรู้ในทุกมิติ แล้วจะเชื่อในความเป็นข้อเท็จจริง ก็คือมีทั้งเท็จ ทั้งจริง ตรงนั้น แยกแยะอย่างเข้าใจได้ มันก็จะเกิดการพัฒนาทางสังคมที่ดีขึ้น สังคมโดยรวมก็จะเกิดความเข้าใจ
 
บัญชร วิเชียรศรี : เพราะฉะนั้นคุยวันนี้เป็นการคุยในมุมมองของสื่อที่ติดตามข่าวสาร แล้วก็เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารนั้นเข้าด้วยกัน เพื่อเห็นในหลายๆ มิติ แล้วก็มาถ่ายทอดให้คุณผู้ฟังรับฟังวันนี้ด้วย
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ก็คือบางครั้งเนี้ยะ ผมอาจจะอยากเล่าให้ท่านผู้ฟังฟังนะครับ บางทีได้เห็นข่าวไม่ว่าจะเป็นข่าวในประเทศหรือต่างประเทศ พอผมเห็นปุ๊ป เราก็เอามาจิ๊กซอว์กันได้ แล้วเราก็สนุกในการติดตามข้อมูลข่าวสาร เช่น ทำไมญี่ปุ่นกับจีนจะต้องมาแย่งหมู่เกาะที่เป็นโขดหินเล็กๆ กลางทะเล เมื่อ 2-3 เดือนมานี้ถึงขั้นว่ายิงเรือน้ำมัน ยิงเรือกัน ล่มเรืออะไรอย่างงี้
 
บัญชร วิเชียรศรี : คือโชว์ขีปนาวุธขู่กันตลอดนะฮะ แล้วก็ดูแล้วเกาะมันก็ไม่ได้มีอะไรมาพัฒนาให้มันเติบโตได้เลย
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : มันคือโขดหิน แต่เราเรียกมันว่าเกาะ เช่น ญี่ปุ่นเรียกเกาะเซนกากุ จีนเรียกหมู่เกาะเตียวหยู แล้วก็แย่งกัน แต่ผลสุดท้ายนี่คือ ถ้าเรามองหลายมิติ แล้วเรามองแบบเข้าใจในความเป็นจริงนี่ ที่แย่งโขดหินตรงนั้นนะ อาจจะเรียกว่าเกาะหรือโขดหินก็ตาม ที่แย่งกันตรงนั้นเพราะว่าถ้าใครได้เป็นเจ้าของ ได้ครอบครอง พลังงานที่อยู่ใต้ท้องทะเล ที่อยู่ในใต้ทะเลตรงนั้น ก็จะเป็นของคนนั้นไปด้วย ยุคนี้มันเลยเป็นยุคของพลังงานนะครับ
 
บัญชร วิเชียรศรี : ครับ แล้วอะไรที่ทำให้คุณปิยะโชติมองเรื่องพลังงานเป็นพิเศษ
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : คือผมเองสมัยก่อนก็เติบโตมากะสื่อ ตั้งแต่สมัยผู้จัดการรายสัปดาห์ยุคต้นๆ ที่เข้ามาช่วย แล้วเป็นสื่อแนวธุรกิจเศรษฐกิจ แล้วก็เห็นสังคมในหลากหลายมิติ ทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนมา ก็ทำให้เราได้เข้าใจ แล้วก็ติดตามทิศทางการพัฒนา พอย้ายมาดูแลศูนย์ภาคใต้เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วก็เลยมาจับ แล้วก็มองภาคใต้ มองทิศทางการพัฒนาของภาคใต้
 
ผลสุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่า ถึงวันนี้ประเทศไทยกำลังถูกทำให้เป็น “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก” นะครับ ทั้งประเทศถูกทำให้เป็น “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก” แต่ว่าฐานทั้งหมดทั้งปวงนี่ ฐานของศูนย์กลางพลังงานข้ามโลกนี่จะอยู่ที่ภาคใต้
 
บัญชร วิเชียรศรี : อะไรที่เรียกว่า “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก”
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส  : เอ่อ...หมายถึงว่า คือถ้าเรามองมิติ มองข่าวอย่างที่ผมบอก มองข่าวต่างประเทศ มองข่าวในประเทศ มองข่าวความเคลื่อนไหวอะไรต่างๆ เราก็จะเห็นว่าช่วงประมาณ 30 ปีมานี้ ตั้งแต่ประเทศไทยที่เข้าสู่ยุคที่เค้าเรียกยุคโชติช่วงชัชวาล ยุคที่เราหันมาพัฒนาพลังงานในอ่าวไทยหรือว่าบนบกนี่ ทั้งบนบก ทั้งในทะเล แล้วก็เกี่ยวกับปิโตรเลียมครั้งแรกเราถือเป็นยุคโชติช่วงชัชวาล
 
บัญชร วิเชียรศรี : คือเมื่อ 40 ปีก่อนโน้น ใครบอกว่าประเทศไทยจะมีน้ำมัน มีแก๊ส หัวเราะฟันหักเลย พอมาถึงทุกวันนี้ กลับกลายเป็นว่าเป็นที่ที่มีคนจำนวนมากในโลกนี้มองอย่างตาเป็นมัน
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ใช่..นอกจากหัวเราะฟันหักแล้ว เรายังมองอีกว่าน้ำมันหลุมแรกที่ขุดในประเทศไทยอยู่ที่ลานกระบือที่กำแพงเพชร แล้วเราก็บอกว่าน้ำมันในประเทศไทยมีไม่ถึง 40 ปี หรือ 30 กว่าปี วันนี้กำแพงเพชรขุดมาจะ 50 กว่าปีแล้วก็ยังไม่หมด มันก็เป็นวาทะกรรมที่ทำให้เราหัวเราะฟันหักได้หลายเรื่อง
 
บัญชร วิเชียรศรี : ครับ ก็คือติดตามข่าวสารมาเห็นว่า ประเทศไทยนี่มีบทบาทด้านพลังงานในภูมิภาคนี้มิใช่น้อย
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ครับผม ก็คือถ้าเรามองไปในเรื่องของภูมิเศรษฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์นี่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภาคใต้ ก็คือเป็นแหลมมลายูที่ยื่นเข้าไป ต่อด้วยมาเลเซีย ก็เลยเรียกแหลมมลายู หรือว่าด้ามขวานทองของเรานี่ ก็ต่อด้วยมาเลเซียแล้วก็มีด้วยสิงคโปร์ แล้วก็ตามไปถึงฟิลิปปินส์ บรูไนตรงนั้น ตรงนี้นี่มันคือพอเรามองทิศทางในช่วงไม่กี่ทศวรรษมานี้ เราจะเห็นว่าโลกทั้งโลกนี่มันย้ายความเคลื่อนไหวของทิศทางการพัฒนา
 
สมัยก่อนเราต้องยอมรับว่า เมื่อประมาณร้อยกว่าปีทิศทางการพัฒนาของโลกจริงๆ มันเกิดขึ้นในสมัยยุคล่าอาณานิคมใช่มั้ยครับ ก็มาเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกที่ฝรั่งเศสและที่ยุโรป มันก็กลายเป็นว่ายุโรปนี่ก็กลายเป็นประเทศที่ได้รับการพัฒนารุ่งเรืองแหล่งแรกของโลกนะครับ จากยุโรปก็ส่งผ่านมาอยู่ที่อเมริกา อังกฤษกะอเมริกาก็คือประเทศเดียว คือเชื้อชาติเดียวกันนั้นแหละ ก็เคลื่อนทวีป เคลื่อนแผ่นดินการพัฒนาของโลกเอามาไว้ที่อเมริกา แล้วมันก็เป็นอเมริกาตอนเหนือก็คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา เราก็จะเห็นว่าวันนี้ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ถือว่าเป็นเจ้าโลก เป็นอะไรต่างๆ ทิศทางการพัฒนามันก็จะเคลื่อนตามประเทศที่พัฒนาแล้ว
 
ต้องยอมรับว่าในช่วงไม่กี่ทศวรรษมานี้ ไม่กี่สิบปีมานี้ ทิศทางการพัฒนาของโลกมันกลับเคลื่อน เพราะตอนนี้เค้าพัฒนามาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ยุโรปถึงจุดอิ่มตัวแล้ว อเมริกาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ทิศทางพัฒนามันก็ถ่ายเทมาสู่เอเชีย คือเอาอย่างงี้ว่าทำไมยุโรปอเมริกาถึงจุดอิ่มตัว ยุโรปมันเกิดอุตสาหกรรมมาร้อยกว่าปี ในความเป็นอุตสาหกรรมมันจะขัดแย้งกับธรรมชาติ มันจะขัดแย้งกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ มันก็เลยกินตัวมันเอง นึกออกไหมครับ พออุตสาหกรรมพัฒนาก็กินตัวมันเอง
 
บัญชร วิเชียรศรี : คือวัตถุดิบที่ใช้ก็เอาจากธรรมชาติแน่นอนอยู่แล้ว เราไม่ได้สร้างมาจากความว่าเปล่า วัตถุดิบที่เอามาแปรรูปในขบวนการอุตสาหกรรมแล้วก็ผลพลอย รึว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากขบวนการผลิตเป็นของเสีย ที่แผ่นดินตรงนั้นต้องรองรับ
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ก็คือเอาวัตถุดิบจากธรรมชาติ แต่กระบวนการอุตสาหกรรมก็คือการเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างของธรรมชาติ เช่น ถอดสารเคมีบางตัวออกอย่างโน้นอย่างนี้ พอไม่เป็นธรรมชาติ มันก็เลยเป็นสิ่งที่สะท้อนกลับไปก็คือ เป็นสิ่งที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมครับผม
 
บัญชร วิเชียรศรี : ครับ ก็รู้สึกว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องมาทำอย่างนั้นอีกต่อไปแล้ว เพราะมันต้องไปแบกรับปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมมากจนเกินไป
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ครับ ส่วนหนึ่งอาจว่าถึงเวลาแล้วที่เค้าไม่จำเป็นแล้วก็ส่งออกทุนมา ส่งออกอุตสาหกรรมมาไปให้ประเทศต่างๆ
 
บัญชร วิเชียรศรี : ไปตั้งฐานผลิตอยู่นอกประเทศ
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : แต่ว่าอีกส่วนหนึ่งนี่ถึงเค้าจะผลิตในประเทศเค้า มันก็ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว แล้วมันก็ทำต่อไม่ได้ เช่นกรณีเมื่อเราดูข่าวเมื่อต้นปีมานี้ ถ้าผมจำไม่ผิดประมาณเดือนมีนาฯ นี่ เมืองดิทรอยต์ ที่เค้าเรียกหลังคาโลกของอุตสาหกรรมรถยนต์ หมายถึงว่าศูนย์กลางอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลก แล้วเมืองทั้งเมืองเป็นเมืองอุตสาหกรรมรถยนต์
 
บัญชร วิเชียรศรี : เป็นเมืองหลวงแห่งอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลก
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ปรากฏว่านอกจากจะกลายเป็นเมืองร้างแล้ว รัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลส่วนกลางของสหรัฐเองนี่ก็มายอมรับว่า มีการประกาศให้เมืองทั้งเมืองนี่เป็นเมืองล้มละลายไปแล้ว เป็นเมืองที่มีแต่มลพิษ ดิทรอยต์นี่เมืองทั้งเมืองใหญ่มาก รัฐหนึ่งรัฐของอเมริกานี่ใหญ่กว่าประเทศไทยหนึ่งประเทศเสียด้วยซ้ำ เพราะถ้าเมืองหนึ่งนี่บางทีมันใหญ่เกือบๆ ครึ่งประเทศไทย เมืองทั้งเมืองล่มสลาย อุตสาหกรรมดิทรอยต์ล่มสลาย วันนี้ไมสามารถที่จะฟื้น ต้องใช้เวลาเป็นร้อยปีกว่าจะกลับมาได้
 
เพราฉะนั้น ถ้าจะทำอุตสาหกรรมให้ดิทรอยต์เป็นหลังคาโลกของอุตสาหกรรมรถยนต์อีกนี่ ก็ไม่สามารถทำได้ ก็เลยต้องกระจายออกมานะครับ พอมองอย่างนี้ ทำไมมันมาเชื่อมโยงกรณีของภาคใต้ ถ้าจะต้องเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมพลังงานข้ามโลก วันนี้จากยุโรปอเมริกามันกำลังถ่ายเทมาที่เอเชีย และเอเชียสิ่งที่กำลังเร่งพัฒนานี่มันอยู่ที่ไหน อยู่ที่จีน อยู่ที่ญี่ปุ่น อยู่ที่ไต้หวัน อยู่ทีเกาหลี จริงๆ แล้วมันก็โยงมาถึงอินเดีย โยงมาถึงประเทศในกลุ่มอาเซียนเรานะครับ กลุ่มอาเซียนเราเราเคยประกาศว่าจะเป็นเสือตัวที่ห้าที่หกนะครับ
 
นี่ก็คือทิศทางการพัฒนาจะย้ายมาอยู่ฝั่งตะวันออก ซีกโลกตะวันออกของเอเชีย ก็กลายเป็นว่าถ้าเรามองโลกทั้งทั้งโลก ถึงจะมี 7 ทวีป แต่จริงๆ ถ้ามองแบบอธิบายให้เข้าใจกันง่ายๆ แบบชาวบ้านๆ นี่ก็คือ โลกทั้งโลกมี 7 ทวีป แต่มีอยู่ 3 ติ่ง สังเกตไหมครับว่าแผ่นดินต่อกันและต่อเนื่องกันจะอยู่ทางตอนบน
 
บัญชร วิเชียรศรี : อยู่ระหว่างเส้นศูนย์สูตรกับขั้วโลกเหนือเป็นส่วนใหญ่
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ครับ ตอนบนเป็นแผ่นดินผืนใหญ่ แล้วก็จะย้อยลงมาข้างล่าง แล้วค่อยๆ เล็กลง โดย 7 ทวีปนี่พออนุมานออกมาคือ จะมีติ่งที่เป็นแผ่นดินที่ห้อยลงมา
 
บัญชร วิเชียรศรี : ย้อยออกมาเหมือนรวงผึ้ง
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : แผ่นดินย้อยลงมา เป็นการย้อยลงมามี 3 ติ่งเท่านั้นเอง ติ่งแรกถ้าเรามองแผนที่โลก ติ่งแรกซ้ายมือสุดก็คือ อเมริกา แคนาดา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้
 
บัญชร วิเชียรศรี : ก็ย้อยลงมา
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ย้อยลงมาแล้วก็มีแผ่นดินที่ติดกันนิดเดียวแถวประเทศปานามาอะไรแถวนั้น แล้วก็ต่อมาถึงอเมริกาใต้ แล้วก็เป็นแผ่นดินใหญ่อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็แหลมใต้สุดของอเมริกาใต้ก็คือ แหลมฮอร์น
 
ติ่งทีสองนี่จะค่อนข้างเป็นติ่งที่ติดกันผืนใหญ่ข้างบน ก็จะเป็นยุโรป แล้วก็ลงมาตะวันออกกลาง แล้วมันก็มีทะเลเข้าไปเรื่อยๆ แทรกเข้าไป แล้วก็จะลงมาจนถึงแอฟริกา ส่วนแอฟริกาก็จะเป็นแผ่นดินใหญ่ แหลมใต้สุดของติ่งที่สองก็คือ แหลมกู๊ดโฮป ปรากฏว่าติ่งที่สองนี่มันก็เชื่อมโยงกันด้านบนก็คือรัสเซีย ไปถึงอินเดีย ไปถึงอะไรต่ออะไร
 
แล้วก็มาติ่งเอเชีย ติ่งที่สาม ถ้าเรามองเห็นข้างบนก็คือรัสเซีย จีน อินเดีย อะไรต่างๆ พอมาถึงตัวที่เป็นติ่งจริงๆ มันอยู่ที่อาเซียน มันมาอยู่ที่พม่า ไทย อะไรตรงนี้ แต่ปรากฏว่าประเทศไทยต่างหาก ที่เป็นภาคใต้ของประเทศไทยมันเป็นตัวที่ไปขวางกั้น เป็นติ่งยาวๆ แบบเดียวกับทวีปอเมริกา
 
บัญชร วิเชียรศรี : คือปลายติ่งใหญ่นี่มันอยู่ที่อินเดีย แต่ว่ามันมีติ่งบางๆ มากั้นถึงต่ำกว่า อยู่ในแนวของเส้นศูนย์สูตรมากกว่าของอินเดีย นี่ก็คือติ่งภาคใต้ไทย แหลมมลายูนี่ละ
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : แล้วทั้งหมดทั้งปวง ส่วนนั้นที่เป็นติ่งตรงนั้น และแคบที่สุดมันอยู่ในภาคใต้ของไทย แล้วถึงจะต่อไปมาเลเซีย แล้วก็ประเทศสิงคโปร์ก็เป็นเกาะเป็นจุดเล็กๆ อยู่ใต้มาเลเซีย แล้วถึงจะไปอินโดนีเซีย
 
บัญชร วิเชียรศรี : ติ่งที่ว่านี่มันสำคัญต่อโลกยังไง
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ติ่งที่ว่ามันสำคัญต่อโลกก็คือ มันจะต้องใช้เป็นเส้นทางเดินเรือเส้นทางขนส่งสินค้า
 
บัญชร วิเชียรศรี : ซึ่งการขนส่งสินค้าทางทะเล เป็นการขนส่งสินค้าหลักของโลก ขนอะไรที่หนักๆ ใหญ่ๆ มากๆ ขนทางเรือถึงจะคุ้ม
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : แล้วที่สำคัญสินค้าที่สำคัญทั้งหมดของโลก มันก็รวมถึงพลังงาน รวมถึงปิโตรเคมีด้วย
 
ติ่งแรกถ้าเรามองไปทางซ้ายอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้นี่ ปรากฏว่าแผ่นดินมันติดต่อกันทั้งหมด แต่ไปมีช่วงแผ่นดินมันแคบอยู่นิดเดียวประมาณร้อยกว่ากิโลเมตรที่ประเทศปานามา ก็เลยมีการขุดคลอง ไม่ต้องมาอ้อมแหลมฮอร์น ถ้าจะเดินเดินเรือไม่ต้องมาอ้อมแหลมฮอร์น ก็เลยขุดคลองปานามา ทำให้เรือเดินมหาสมุทรขนาดใหญ่ของโลกผ่านได้ที่ประเทศปานามาร้อยกว่ากิโลกเมตร
 
บัญชร วิเชียรศรี : ขุดแผ่นดินผ่าประเทศเลย
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ผ่าประเทศเมื่อประมาณร้อยกว่าปีที่แล้ว แล้วก็เส้นทางพลังงาน เส้นทางสินค้าก็จะข้ามตรงนี้ได้ตลอด
 
พอมาถึงติ่งที่สองจากยุโรป มาตะวันออกกลาง แล้วก็มาแอฟริกา ปรากฏว่ามันดูเหมือนแผ่นดินใหญ่ แต่ตอนกลางของติ่ง พื้นดินตรงนั้นมันมีทะเลเข้าไป มีทะเลเหลือง ทะเลอะไรเต็มไปหมด
 
บัญชร วิเชียรศรี : มันมีเว้า แผ่นดินมันเหมือนพรุนๆ ไปด้วยทะเลเล็กๆ น้อยๆ
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : แต่เล็กๆ น้อยๆ นี่เรือเดินสมุทรเข้าได้หมด แต่มีแผ่นดินที่ไปติดกันอยู่นิดเดียว แล้วก็ไม่สามารถที่จะข้ามได้ก็คือ แผ่นดินของประเทศอียิปต์ ที่ประเทศอียิปต์ช่วงนั้นมันก็ร้อยกว่ากิโลเมตร ผลสุดท้ายเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วเค้าก็เลยขุดคลองสุเอช ก็คือขุดคลองสุเอชที่เมืองสุเอชตรงนั้น จริงๆ แล้วอยู่ใกล้ๆ กับอิสราเอลที่เค้ามีปัญหากัน แต่ไม่เคยมากระทบท่าเรือตรงนี้เลย เพราะว่าทั้งสองคลองนี้ถูกควบคุมโดยประเทศมหาอำนาจ เช่น ปานามานี่สหรัฐอเมริกาเค้าก็มีอิทธิพล ตรงนี้ยุโรปอเมริกาทุกสิ่งทุกอย่างมหาอำนาจมีอิทธิพลเหนือ เพราะฉะนั้นก็ทำให้ไม่กระทบ
 
บัญชร วิเชียรศรี : ในอิสราเอลนี่ก็มีเงาของสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ครับผม...แต่พอมาติ่งสุดท้ายจริงๆ วิธีคิดเดียวกัน ติ่งสุดท้ายนั่นก็คือ ประเทศไทย คลองกระที่เราเคยได้ยิน ตรวจค้นกันไปนี่เมื่อ 300 กว่าปีแล้วในสมัยพระนารายณ์เคยคิดจะขุดคลองกระ แต่ว่าตอนนั้นยุทธศาสตร์อยู่ที่การเอาทหาร เอาเรือทหารข้ามฟากระหว่างอันดามันกับอ่าวไทย ไม่ได้อยู่ที่ยุทธศาสตร์การขนส่งสินค้ามากเท่าไหร่
 
บัญชร วิเชียรศรี : คือโดยเจตนาในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์คือ เพื่อความมั่นคง
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : เพื่อความมั่นคง ตอนนั้นก็เป็นอาณาจักร ไม่ได้เป็นประเทศที่มีเขตแดนชัดเจน ก็เลยไม่ได้ขุด แต่ว่าติ่งสุดท้ายนี่ถ้าเรามองถึงกับต้องมาอ้อมแหลมฮอร์น หรือว่าแหลมกู๊ดโฮปครึ่งโลก แต่ติ่งนี้กลายเป็นว่าแผ่นดินที่มันยื่นมาในแหลมมลายู ปรากฏว่ามันเกิดมีช่องแคบที่สามารถข้ามได้ถึงสามช่องแคบ ก็คือ หนึ่งช่องแคบมะละกา หรือคนทั่วโลกเรียกว่าช่องแคบสิงคโปร์ เพราะว่าสิงคโปร์มีอิทธิพลอยู่ตรงนั้น แล้วอันที่สองคือ ช่องแคบลอมบอก และสามช่องแคบซุนดา ขยับเข้าไปอยู่ในอินโดนีเซียกับที่ใกล้ๆ ฟิลิปปินส์
 
แต่ปรากฏว่าติ่งที่สามที่ไม่มีการขุดคลอง เพราะว่าช่องแคบมะละกานี่มันทดแทนการเดินเรือได้หมด มันอาจจะอ้อมสักนิด แต่อ้อมไม่ไกล
 
บัญชร วิเชียรศรี : แผ่นดินแถวนี้ก็เลยยังไม่เคยถูกขุด
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : มันไม่ได้อ้อมครึ่งโลกเหมือนอ้อมแหลมฮอร์นหรือว่าแหลมกู๊ดโฮป
 
บัญชร วิเชียรศรี : จำเป็นต้องขุด ขุดแล้วคุ้มแน่ๆ มีสถานการณ์บีบบังคับให้ขุด
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : แล้วก็ขุดไปเป็นร้อยปี แล้วก็ขุดคลองละไม่เกินสองร้อยกิโลเมตร ปรากฏว่าของไทยนี่มันก็ไม่เกินสองร้อยกิโลเมตรเหมือนกัน เช่น คลองกระ ตรงคอคอดกระแค่ 110 กิโลเมตร แต่ว่าที่ผ่านมาไม่ได้ขุด เพราะมันมีช่องแคบมะละกาที่มาทดแทนศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก พลังงานมันก็ข้ามโลกตลอด สินค้าข้ามโลก พลังงานมันก็ข้ามโลกตลอด
 
สองติ่งตรงนั้นนี่มันก็ข้ามที่คลองปานามา แล้วข้ามที่คลองสุเอช แต่พอติ่งที่สามมันก็มาข้ามที่ช่องแคบมะละกา เราเลยจะเห็นว่าในช่วงหลายสิบปีมานี้สิงคโปร์กับมาเลเซีย แผ่นดินของมาเลเซียรัฐสุดท้ายที่ตรงข้ามสิงคโปร์ก็คือ รัฐยะโฮร์บาห์รูนะครับ ประเทศสิงคโปร์นี่ก็เลยจะเป็นศูนย์กลาง หนึ่งเป็นศูนย์กลางที่สินค้าข้ามโลก และสองก็เป็นศูนย์กลางของพลังงานข้ามโลก
 
ก็เลยไม่แปลกที่จะเกิดอุตสาหกรรมพลังงานข้ามโลกอยู่ที่ช่องแคบมะละกา ที่สิงคโปร์ก็จะมีโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ ในยะโฮร์บาห์รูก็มีโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ
 
บัญชร วิเชียรศรี : เค้าขนน้ำมันไม่ว่าจากในอาหรับหรือที่อื่นนี่มา ในเรือสินค้าขนาดใหญ่ ในเรือน้ำมันนี่ แล้วก็มาผ่านตรงนั้น สมัยก่อนเราก็ใช้น้ำมันที่ผ่านจากช่องแคบมะละกานี้
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ใช่ครับ..แต่ทีนี้ต้องบอกอย่างนี้ด้วยนะครับท่านผู้ฟัง ก็คือการขนน้ำมันนี่ เช่น น้ำมันวันนี้ที่มาผ่านประเทศไทยส่งไปฝั่งตะวันออกให้จีน มันเอาน้ำมันดิบมา เราก็บอกเราซื้อน้ำมันดิบมา แต่ไม่ใช่เราขนน้ำมันดิบไปให้จีน มันขนน้ำมันดิบมาแล้ว น้ำมันดิบจะต้องถูกแปรรูปในฝั่งนี้
 
ในติ่งที่สามของโลกนี่ ก็คือมีประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง มีแหลมมลายูไปเกี่ยวข้อง มันผ่านที่ช่องแคบมะละกา ก็เลยเอาน้ำมันดิบมาขึ้นที่สิงคโปร์ ขึ้นที่ยะโฮร์บาห์รูที่มาเลเซีย แล้วก็มีการกลั่น พอมีการกลั่นเสร็จก็เกิดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตามมา เพราะปิโตรเคมีก็ตามมาจากอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน
 
บัญชร วิเชียรศรี : ที่เรียกว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คือ...
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ก็คือ...อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการกลั่นน้ำมัน
 
บัญชร วิเชียรศรี : คือกลั่นน้ำมัน พอมีน้ำมันดิบปุ๊ปก็จะเอาไปกลั่น
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : น้ำมันดิบก็คือปิโตรเลียม แล้วสิ่งที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมก็คือ ปิโตรเคมี
 
บัญชร วิเชียรศรี : เริ่มแรกเราก็ไปกลั่นน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล อะไรสารพัดที่เป็นเชื้อเพลิง แล้วก็มีส่วนอื่นที่ได้มาอีกจากกระบวนการกลั่นน้ำมัน
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : คืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ครอบคลุมวิถีชีวิตของมนุษย์ทั้งมวล ทั่วโลก เกือบจะทั้งตัว
 
บัญชร วิเชียรศรี :  เมล็ดพลาสติกไปจนถึงยางมะตอย
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : แล้วที่สำคัญ พาราเซตามอล หรือยาบางสิ่งบางอย่างมาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อาหารบางสิ่งบางอย่าง อย่างไอศกรีมบางครั้งก็ทำมาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทุกสิ่งทุกอย่างนี่ เพียงแต่ว่าบางสิ่งมันเอามาทำอาหารได้ บางสิ่งไม่เหมาะ เมล็ดพลาสติกมันก็จะมีไม่รู้กี่ชนิด เอามาทำเส้นใย เช่น บ้านเราเป็นแหล่งปลูกยางพาราแหล่งใหญ่ของโลก ที่เคยเป็นมายางพาราก็ต้องไปแข่งกับยางธรรมชาติ ไปแข็งกับยางเทียม ยางเทียมมาจากน้ำมันนี่แหละ มาจากการกลั่นน้ำมัน
 
บัญชร วิเชียรศรี : เสื้อผ้าที่เราใส่ เส้นใยที่มันเป็นฐานมาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ทุกวันนี้ สิงคโปร์กับมาเลเซียนี่เป็นศูนย์กลางพลังงานข้ามโลกอยู่แล้ว ที่ช่องแคบมะละกา แล้วสังเกตไหมครับว่า ประเทศในภูมิภาคแถบนี้รวมถึงประเทศไทย การค้าน้ำมันในประเทศไทย โดยเฉพาะ ปตท.นี่อิงราคาที่ไหน ก็อิงราคาที่สิงคโปร์ คำว่าอิงราคาที่สิงคโปร์ก็คือ อิงราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ เพราะฉะนั้นสิงคโปร์มีโรงกลั่นหรือว่ามีอุตสาหกรรม ตรงนี้คือ “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก” ของติ่งที่สาม มันก็อยู่ที่ช่องแคบมะละกามานมนานนะครับ
 
แต่ว่าอย่างที่บอก ในเมื่อมันเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ค่อนข้างที่จะไม่เป็นมิตรกับธรรมชาติเนี้ยะ อายุมัน 30 ปี มันก็จะหมดอายุ 40 ปี 50 ปี สูงสุดก็ไม่เกิน 50 ปี
 
บัญชร วิเชียรศรี : เชิงวิศวกรรมเค้าวางไว้อย่างนั้น
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : เชิงวิศวกรรมตรงนี้มันก็เลยออกมาเช่น เราจะให้สัมปทานในแท่นขุดเจาะ สัมปทานในการสร้างโรงงาน สร้างอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง สังเกตมั้ยครับว่าจะเริ่มต้นที่ 30 ปีตลอด
 
บัญชร วิเชียรศรี : แล้วที่พูดๆ กันทั่วไปก็คือ โรงงานไม่ว่าโรงงาน โรงกลั่น หรือว่าบ่อน้ำมัน บ่อแก๊ส อะไรต่างๆ ที่เจอก็ตาม เค้าบอกว่ามีอายุประมาณยี่สิบปี โรงไฟฟ้าอายุประมาณยี่สิบปี แต่มันจะต่ออายุไปถึง 30 ปี
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : โดยปกติอายุครบ 30 ปีปุ๊ปจะต่อให้ครั้งละ 5 ปีสองครั้ง แล้วหลังจากนั้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆ อย่างยิ่งยวดก็จะไม่ให้ แต่ว่าถ้าจำเป็นจริงๆ อาจจะได้รวมถึง 50 ปี
 
บัญชร วิเชียรศรี :  เพราะฉะนั้นการใช้งานอายุแบบทั่วๆ ไปก็อยู่ที่ 40 ปี
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ทีนี้พอมามองในมิติระดับโลก เราจะเห็นว่าวันนี้ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลกในติ่งสุดท้ายนี้ ที่สำคัญคือการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมตะวันขึ้น มันย้ายจากยุโรป จากอเมริกา มาอยู่ที่เอเชีย อยู่ที่ซีกโลกตะวันออก แล้วมันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เกาะฮ่องกงของจีน รวมมาถึงอาเซียนก็คือไทยด้วย รวมถึงเวียดนาม มันก็จะเป็นตะวันออกของอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมในช่วงที่ตะวันโผล่ขึ้น ไม่ใช่ช่วงตะวันตก ไม่ใช่อัศดงคด ไม่ใช่ซันเซ็ท
 
บัญชร วิเชียรศรี : ยังมีโอกาสที่จะเติบโตไปอีกเยอะ
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : แล้วมันเพิ่งขึ้นไม่กี่ปี ก็เลยทำให้มีความจำเป็นว่าซีกโลกตะวันออกนี้ ต้องการพลังงานมหาศาลในการเอามาใช้ในกระบวนการผลิต ปรากฏว่าในโลกนี้ถ้าเรามองซีกโลกตะวันตก เค้ามีการขุดน้ำมันมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ตามยุคของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นที่ยุโรป ไม่ว่าจะเป็นที่อเมริกา ในอ่าวแม็กซิโก ในอะไรตรงนั้น ขุดกันจนพรุน ที่สำคัญในรอบๆ อเมริกา อเมริกานี่ขุดทั้งบน ทั้งในทะเล แล้วทุกคนยังบอกว่าอเมริกานี่สำรองน้ำมันไว้แหล่งใหญ่ของโลกอยู่ที่อลาสก้า
 
บัญชร วิเชียรศรี : อลาสก้า..ว่ากันว่านะ อลาสก้าเป็นแหล่งสงวนของอเมริกาที่แทบจะไม่ยอมขุดใช้เลย
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : เอาไว้ใช้ในครั้งสุดท้ายของโลกจริงๆ
 
บัญชร วิเชียรศรี : น่าจะเป็นบ่อสุดท้าย
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ทีนี้สังเกตไหมว่า การขุดเจาะน้ำมันในซีกโลกตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป เค้าขุดยากนะ เพราะว่าแผ่นดินโดยเฉพาะในทะเลของเค้าบางครั้งขุดเป็นสิบๆ กิโลเมตร ลึกมาก เช่น จำได้ไหมบริษัทบีพีที่ผ่านมาสองปีมานี้ เรื่องที่ก้องโลกเลยก็คือ บ่อน้ำมันที่มันระเบิด แล้วก็แตกอยู่เป็นเดือนๆ ที่อ่าวแม็กซิโก ใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะช่วยกันทั้งโลกไปแก้ปัญหา เพราะมันอยู่ลึกเป็นสิบกิโลเมตร แต่ปรากฏว่าโลกตะวันออกนี่มันไม่เคยเป็นแหล่งเศรษฐกิจมาก่อน เพิ่งจะมาบูม มันก็เลยเพิ่งจะเป็นในส่วนของศูนย์กลางพลังงาน ในส่วนของอุตสาหกรรมน้ำมัน ในส่วนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มันก็เพิ่งจะเริ่มเหมือนกัน
 
เช่น ในประเทศไทยยุคสมัยที่เริ่มต้นของการเกิดขึ้นของพลังงาน เอาง่ายๆ คือยุคโชติช่วงชัชวาลนี่ ก็เริ่มเมื่อประมาณทศวรรษที่ 2520 ก็เริ่มที่จะมีการให้สัมปทานต่างประเทศเข้ามาขุดเจาะน้ำมัน ขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ พอมันเริ่มตรงนั้นแล้วแท่นขุดเจาะแท่นแรกของไทยที่ปล่อยไฟพวยพุ่งอยู่กลางทะเลอ่าวไทยนี่ เมื่อปี 2528 รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปรากฏว่าตรงนั้นประเทศไทยเรานับว่านี่คือ ยุคโชติช่วงชัชวาลของประเทศไทย
 
ปรากฏว่าในทศวรรษที่ 2520 พร้อมๆ กับการเกิดอุตสาหกรรมน้ำมันในอ่าวไทย เราก็คิดโครงการขึ้นมาโครงการหนึ่ง ก็คือ “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก” มีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดชลบุรีกับจังหวัดระยองนะครับ โครงการพัฒนาที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกใช้ภาษาอังกฤษว่า “อีสเทิร์นซีบอร์ด”
 
ปรากฏว่าโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดก็มีท่าเรืออยู่แหลมฉบัง มีนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ที่มาบตาพุด แล้วก็มีนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ล้อมรอบ เพราะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมตั้งต้นให้กับอุตสาหกรรมผลิตสินค้าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน สังเกตไหมครับว่าพอภาพตะวันออกเป็นศูนย์กลางนี่ มันก็เลยตั้งแต่แปดริ้วหรือฉะเชิงเทรา จนถึงปทุมธานี จนถึงอยุธยา เป็นอุตสาหกรรมทั้งหมด ถูกทำให้เป็นอุตสาหกรรม
 
บัญชร วิเชียรศรี : เพราะว่าทั้งพลังงาน ทั้งวัตถุดิบอื่นๆ ที่มาผลิตนี่มันก็มาเริ่มที่ปิโตรเคมี
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ครับ..แล้วตรงนั้นมันก็จะมีโรงกลั่น โรงกลั่นในประเทศไทยมี 6 โรง 5 โรงอยู่ที่อีสเทิร์นซีบอร์ด พื้นที่ในชลบุรีกับระยอง อีกหนึ่งโรงอยู่ในกรุงเทพฯ ของบางจาก แล้วทั้งหมดทั้งปวงวันนี้ก็อยู่ในมือ ปตท.ทั้งหมด
 
พอเรามองตรงนี้ว่า “โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด” โครงสร้างพื้นฐานหลักๆ ของอีสเทิร์นซีบอร์ดก็คือมีท่าเรือ จะต้องมีท่าเรือ แล้วจะต้องเอาสองฝั่งทะเลมาเชื่อมกัน เค้าเรียก “แลนด์บริดจ์” ซึ่งแลนด์บริดจ์ก็คือ “สะพานเศรษฐกิจ” เอาสองฝั่งทะเลมาเชื่อมกัน โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดอันนี้ยุทธศาสตร์หลักก็เกิดขึ้นจากการทำแลนด์บริดจ์ แลนด์บริดจ์มีส่วนประกอบอะไรบ้าง แลนด์บริดจ์ก็มีส่วนประกอบก็คือ มีท่าเรือหัวท้ายของสองฝั่งทะเล ถ้าเอาง่ายๆ ก็คือ อ่าวไทยกับอันดามันต้องมีท่าเรือหัวท้าย แล้วก็เอามาเชื่อมกันด้วยถนนที่เป็นมอเตอร์เวย์ ซึ่งมอเตอร์เวย์หมายถึงว่า หมู หมา กา ไก่ ทุกสิ่งทุกอย่างนี่เข้าไม่ได้ เพราะถูกกันไว้
 
บัญชร วิเชียรศรี : เป็นการขนส่งในเชิงอุตสาหกรรม
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ครับ..สามก็มีเส้นทางรถไฟ รถไฟนี่ก็ไม่ใช่อย่างในสมัยนี้ที่วิ่ง 60 กิโลเมตรหรือ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สี่มีระบบท่อเชื่อมกัน ปรากฏว่าข้างบนของไทยวันนี้เกิดอีสเทิร์นซีบอร์ดเรียบร้อยแล้ว แล้วท่าเรือหัวท้ายถ้าเรามองครบกระบวนความนี่ ท่าเรือฝั่งตะวันออกนี่ก็คือฝั่งอ่าวไทยอยู่ที่แหลมฉบัง ฝั่งตะวันตกอยู่ที่ไหนครับ ไม่ใช่ประเทศไทย อยู่ที่ทวายของพม่า กลายเป็นแลนด์บริดจ์ข้ามประเทศที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีมอเตอร์เวย์ที่กำลังจะสร้าง เส้นทางรถไฟก็กำลังจะสร้าง ระบบท่อมีรึยังครับ
 
บัญชร วิเชียรศรี : สำหรับประเทศไทยก็มี
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : มีท่อก๊าซจากแหล่งยานาดาของพม่าต่อเข้ามา ผ่านกาญจนบุรี ถึงราชบุรี ถึงระยอง ผ่านกันหมดแหละ แลนด์บริดจ์ข้างบนอีสเทิร์นซีบอร์ดเกิดขึ้นเมื่อประมาณยี่สิบปีที่แล้ว เป็นแลนด์บริดจ์ข้ามชาติ ลองฟังชื่อโครงการนะครับ “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก” ภาษาอังกฤษคือ “อีสเทิร์นซีบอร์ด” เมื่อประมาณทศวรรษที่ 2520 ตอนนี้ทศวรรษที่จะ 2560 ก็เกือบจะ 40 ปีแล้ว
 
ฉะนั้นพื้นที่ตรงนั้นมันก็คือ ซันเซ็ทอินดัสตรี้ ก็คือ อุตสาหกรรมอัสดงคต คือช่วงตะวันตกดินของอุตสาหกรรมตรงนั้น ก็หมายความว่าโลกทั้งโลกจะหาอุตสาหกรรมที่ป้อนให้พลังงานซีกในโลกตะวันออกนี่ ต้องหาพื้นที่ใหม่
 
บัญชร วิเชียรศรี : มันเหมือนเห็บหมัดยังไงไม่รู้ พอแหล่งดูดเลือดหมดก็ต้องหาที่ใหม่
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ก็ต้องมาหาที่ใหม่ มันก็เหมือนกับว่าการพัฒนาพลังงานมาถึงวันนี้ จากทศวรรษที่ 2520 ที่ประเทศไทยก็ให้สัมปทานการขุดเจาะ นับบนฝั่งกับนับในทะเลอ่าวไทย เราขุดเจาะไปแล้วรวม 2,000 กว่าหลุม อยู่ในอ่าวไทย 500 กว่าหลุมขุดเจาะ แสดงว่าอีกประมาณเกือบพันห้าร้อยหลุมนี่อยู่บนบก เราอาจจะเห็นว่าตอนนี้มีขุดเจาะน้ำมันที่ลานกระบือ แล้วยังมีที่ไหนอีกเราก็ยังงงๆ แต่ปรากฏว่าอีกพันห้าร้อยหลุมอยู่บนบก แต่ในทะเลนี่ 500 กว่าหลุม ในจำนวนนั้นทั้งหมดทั้งปวงเชฟรอนฯ มาซื้อยูโนแคล ซื้ออะไรไปเรียบร้อยแล้ว จึงเป็นของเชฟรอนฯ 250 กว่าหลุม หรือประมาณ 253 หลุม อันนี้ผมถามจากคนเชฟรอนฯ เองนะครับ
 
เรามองว่าวันนี้เรากำลังถกเถียงกันเรื่องการให้สัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 การขุดเจาะที่ผ่านมาให้ไป 20 ครั้งแล้ว ถึงได้ 2,000 กว่าหลุม นับมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 20 วันนี้มันประมาณ 40 กว่าปี หลุมแรกๆ นี่แสดงว่ามันกำลังจะหมดอายุ แท่นขุดเจาะจะต้องถูกทำลาย อันนี้เขยิบมาเป็นเรื่องอื่นนิดนึงในทิศทางข่าว เคยมีผู้ว่าฯ คนหนึ่งของจังหวัดสงขลา มีแท่นขุดเจาะแท่นแรกๆ ในยุคสมัยที่ไทยเป็นยุคโชติช่วงชัชวาลนี่อยู่ในน่านน้ำจังหวัดสงขลา บริษัทเค้าก็เลยมาคิดว่าหมดอายุแล้วเค้าจะทำยังไงกับแท่นขุดเจาะนี้ดี มีทางเลือกอยู่ 3 ทางก็คือ วิธีที่หนึ่งจะต้องเอาคนลงไปถอดน๊อตทุกน๊อต เหล็กทุกชิ้นออกจากทะเลในแหล่งนั้น
 
บัญชร วิเชียรศรี : เป็นการรื้อถอน
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : การรื้อถอนใช้เงินเป็นพันๆ ล้าน และวิธีการที่สองคืออ้างว่าทิ้งให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นปะการังเทียม แต่ก็ต้องระเบิดแท่นขุดเจาะให้มันจมลงไปตรงนั้น เกิดการทำลายมหาศาล วิธีการที่สามเป็นวิธีใหม่ อันนี้เป็นข่าวนะครับ ในทางข่าวเราก็เคยเล่นที่ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ก็คือมีผู้มาติดต่อผู้ว่าฯ คนหนึ่งของจังหวัดสงขลา ไม่ใช่คนปัจจุบันนะครับ คนที่ผ่านๆ มาไม่กี่ปีนี่เอง อาจจะสมัยที่แล้วรึเปล่า
 
บัญชร วิเชียรศรี : ต้องบอกอักษรย่อไหมครับ
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : บริษัทน้ำมันเค้าก็มาเสนอว่า เอาอย่างนี้ไหม ให้จังหวัดเอาไปทำแหล่งท่องเที่ยว ทำแหล่งท่องเที่ยวหมายถึงเอาแท่นขุดเจาะไปทำที่พัก เอาคน ขนคนไปได้ทั้งทาง ฮ. ทั้งทางเรือ เอาไปเที่ยว เอาไปพักทางทะเล แต่ผลสุดท้ายคิดไปคิดมาสารถะ อย่างที่เราบอกอุตสาหกรรมแท่นขุดเจาะที่มันตั้งมาประมาณ 40 กว่าปี อายุมันครั้งสุดท้ายถ้าจะทำต่อแม้จะเอาเป็นแค่แหล่งท่องเที่ยว ยังจะต้องใช้เงินในการฟื้นฟูปีละเป็นร้อยๆ ล้าน แล้วมันจะคุ้มไหมกับการที่เอานักท่องเที่ยวไปเที่ยวแล้วจะได้ปีละเป็นร้อยล้านมาไหม
 
บัญชร วิเชียรศรี : แค่ทำให้มันแข็งแรงมั่นคงปลอดภัย แค่นั้นยังไม่ต้องทำอะไรนะ
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ผลสุดท้ายก็เลยต้องมารอฟังข่าวสารอีกประมาณ 5-6 ปีว่า แท่นขุดเจาะนี่จะทำอย่างไรกัน ขอให้สังคมไทยรอฟัง
 
บัญชร วิเชียรศรี : แล้วทีนี้นี่มันเป็นอุตสาหกรรมที่อัสดงคต พระอาทิตย์กำลังจะตกแล้ว มันก็ต้องแสวงหาที่ใหม่
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : พอมาฉายภาพตรงนี้ อย่างที่ผมบอกว่าให้ฟังไว้ดีๆ นะครับว่า “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก” ภาษาอังกฤษคือ “อีสเทิร์นซีบอร์ด” ปรากฏว่าหลังจากเริ่มอีสเทิร์นซีบอร์ดเมื่อประมาณกว่ายี่สิบปีมาแล้ว เลยเกิด “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้” ใช้คำว่า “เซาเทิร์นซีบอร์ด” ในภาษาอังกฤษ “SSB” หรือว่า “เซาเทิร์นซีบอร์ด” อันนี้มันก็เป็นวิธีคิดเดียวกัน
 
บัญชร วิเชียรศรี : ชื่อมันก็ยังไม่ต่างกัน
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : แล้วเป็นวิธีคิดเดียวกัน ฐานคิดเดียวกันทั้งหมด ก็เหมือนกับยกแลนด์บริดจ์ที่เคยเกิดขึ้นที่ภาคตะวันออก ส่วนกลางของประเทศ เอามาไว้ในภาคใต้
 
บัญชร วิเชียรศรี : หมายถึงว่า คุณปิยะโชติตั้งข้อสังเกตว่า โศกนาศกรรมบางเรื่องที่เกิดกับแถวๆ โน้น มันก็จะเกิดกับแถวๆ นี้เหมือนกัน
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ไม่ใช่อาจจะเกิด แต่กำลังถูกทำให้เกิด ก็คือครั้งแรกจำได้ไหมครับ ผมถึงบอกว่าผมทำข้อมูลข่าวสารมา ในฐานะคนที่นั่งมองปรากฏการณ์ทางข่าวสาร ปรากฏการณ์ทิศทางการพัฒนาของประเทศ ก็จะเห็นว่า “โครงการพัฒนาพื้นที่ของชายฝั่งทะเลภาคใต้” หรือ “เซาเทิร์นซีบอร์ด” ครั้งแรกนี่เค้าคิดไว้ตรงไหนนะครับ เค้าคิดไว้ที่ชุมพรเชื่อมกับระนอง ก็คือภาคใต้ตอนบน แต่ผลสุดท้ายได้ข้อสรุปไม่ทำ ระนองนี่ถึงขั้นทำท่าเรือไปแล้ว แล้วเอามาเป็นท่าเรือเอนกประสงค์ในการขนส่งและท่องเที่ยว แต่ทำไมไม่ตั้งที่โน้น เพราะว่าเรือสินค้า เรือน้ำมัน หรืออะไรก็ตามถ้ามาขึ้นที่ระนองมันจะต้องผ่านน่านน้ำพม่า
 
ผลสุดท้ายก็เลยขยับแลนด์บริดจ์ตรงนี้ โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ก็เลยถูกขยับลงมาภาคใต้ตอนกลางก่อน ภาคใต้ตอนกลางก็เลยถูกกำหนดให้เป็นแลนด์บริดจ์ ก็เอาขนอมไปเชื่อมกับกระบี่ หรือว่าในช่วงหลังนี่ย้ายมาสิชล ท่าเรือหัวท้ายมีการขยับไป ทำให้ท่าเรือหัวท้ายก็สิชล ที่ฝั่งตะวันตกถ้าไม่ที่กระบี่ก็พังงาที่ทับปุด
 
บัญชร วิเชียรศรี : ไทยจะได้ประโยชน์ทั้งสองขาเลย ทั้งอันดามันและก็อ่าวไทย
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : อันนี้จะเป็นแลนด์บริดจ์ในประเทศที่ไทยได้ประโยชน์ทั้งหมด แล้วถึงขั้นเมื่อประมาณยี่สิบปีมาแล้วได้เกิดขึ้นแล้ว ถึงขั้นกำหนดจุดในการทำท่าเรือ กำหนดจุดในการทำถนนมอเตอร์เวย์ ถึงขั้นกำหนดจุดในการทำท่อ แล้วก็รถไฟ ปรากฏว่าถนนเคยได้ยินคำว่า “ถนนเซาเทิร์นซีบอร์ด” ไหมครับ ถนนเซาเทิร์นฯ เป็นถนนสี่เลนที่ใหญ่โตมโหฬาร
 
บัญชร วิเชียรศรี : ที่มองรถอีกฝากหนึ่งไม่เห็น
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : เพราะว่าเค้ากันพื้นที่ตรงกลางแคบที่สุดก็คือ 120 เมตร แต่ว่าจริงๆ มันกว้าง
 
บัญชร วิเชียรศรี : เป็นเกาะกลางถนนที่มันโอ้โห..ใหญ่มาก
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ทำไมเค้าต้องกันเอาไว้ 120 เมตร เพราะว่าตรงนี้จะเป็นเส้นทางรถไฟ ตรงนี้จะเป็นระบบท่อก๊าซท่อน้ำมัน
 
บัญชร วิเชียรศรี : เพื่อให้เป็นระบบของสาธารณูปโภค ของอุตสาหกรรมจากตะวันออกสู่ตะวันตก
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : แล้วถนนก็ยังใช้ชื่อว่า “เซาเทิร์นซีบอร์ด” ใช้เรียกย่อๆ ว่า “เซาเทิร์นฯ” ตอนนี้อยู่ที่กระบี่ถึงนครศรีธรรมราช แล้วที่ขนอมถึงขั้นทำโรงแยกก๊าซกันไปแล้ว ถึงขั้นทำโรงไฟฟ้าไปแล้ว ผลสุดท้ายที่เกิดตรงนั้นไม่ได้ ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ได้อนุมัติในการสร้างถนนเซาเทิร์นฯ ตรงนี้นี่ร้อยกว่ากิโลเมตรไปเรียบร้อยแล้ว ใช้เงินไปเป็นหมื่นล้านเป็นแสนล้าน ผลสุดท้ายปรากฏว่าแลนด์บริดจ์จะต้องเกิดที่นี่แน่นอนล้านเปอร์เซ็น
 
แต่เกิดไม่ได้ เพราะว่าผลกระทบที่มันจะเกิดขึ้นตามมาสังคมรับไม่ได้ ถ้าเรามองไปที่ฝั่งตะวันออกก่อน ท่าเรืออุตสาหกรรมจะต้องมาเกิดที่ขนอม หรือที่ฝั่งของนครศรีธรรมราช พอมองลงไปในทะเล ท่าเรืออุตสาหกรรมนอกจากเป็นท่าเรือแล้วจะต้องมีเรือสินค้าขนาดใหญ่วิ่งเข้า-ออก
 
บัญชร วิเชียรศรี : ต้องมีร่องน้ำที่ลึก
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ผลกระทบคือ ไปกระทบเกาะสมุย สำหรับเกาะสมุยสร้างมูลค่าท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยปีละเป็นหมื่นๆ ล้าน พอมาฝั่งตะวันตกปรากฏว่าท่าเรือควรจะอยู่ที่พังงา หรือที่กระบี่ ที่ทับปุดหรืออะไรก็ตาม แต่สามจังหวัดอันดามันนี้ไม่ว่าจะเป็น กระบี่ พังงา ภูเก็ต
 
บัญชร วิเชียรศรี : เป็นเพชรของอันดามันอยู่แล้ว
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : กระบี่ พังงา ภูเก็ต นี่ไม่ใช่เพชรอย่างเดียว มันเป็นโคตรเพชรเลย ในประเทศไทยแหล่งตรงนี้คือ โคตรเพชร
 
บัญชร วิเชียรศรี : เป็นหนึ่งในรายชื่อแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของโลก
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : เกาะภูเก็ตนี่ฝรั่งจะเรียกเพิร์ลออฟเอเชีย ที่เราเรียกไข่มุกอันดามัน สามจังหวัดนี่สร้างมูลค่าการท่องเที่ยวปีละเป็นหลายแสนล้านบาท ถ้ามีอุตสาหกรรมเข้าไปเค้ายอมหรือไม่ ผลสุดท้ายลึกๆ แล้วอาจจะมีกลวิธีเช่น กระบี่ไปสร้างพระตำหนักทำให้จุดที่จะสร้างท่าเรือไม่กล้าสร้าง ผลสุดท้ายเราจะเห็นว่าในช่วงตั้งแต่รัฐบาลทักษิณจนมาถึงรัฐบาลอภิสิทธ์ จนมารัฐบาลวันนี้ไม่ว่าจะเป็นท่านสุรยุทธอะไรต่างๆ เนี้ยะ ทั้งหมดทั้งปวง
 
แลนด์บริดจ์ในเมื่อมันเกิดภาคใต้ตอนบนไม่ได้ เกิดตอนกลางไม่ได้ มันก็ต้องลงมาภาคใต้ตอนล่าง บทสรุปมันเลยต้องมาลงที่สงขลากับสตูล แล้วทิศทางเดียวกันก็มีเส้นทางรถไฟ มีมอเตอร์เวย์ มีท่าเรือหัวท้าย ท่าเรือที่ปากบารา และก็ท่าเรือที่นาทับ อ.จะนะ
 
บัญชร วิเชียรศรี : ที่ทางฝั่งโน้นก็ลงมือไปแล้ว
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ทีนี้ก่อนที่จะมาเล่าเรื่องแลนด์บริดจ์ที่อยู่อันสุดท้าย อย่างที่คุณบัญชรถามว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยได้ประโยชน์จากการเกิดขึ้นตรงนี้ ทิศทางพัฒนาแบบนี้ การจะเกิดแลนด์บริดจ์ทั่วโลกเค้าเห็นกันอยู่ เค้าก็อยากมีส่วนร่วม
 
ในตอนสมัยที่เกิดแลนด์บริดจ์ใต้ตอนกลางสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ มหาธีร์ มูฮำหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มาชวนนายชวน หลีกภัย ให้ไปบอกประธานาธิบดีซูฮาโต้ ของอินโดนีเซียว่า มาร่วมทำโครงการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจภาคใต้ ก็เกิดโครงการ IM-TGT (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle)
 
แล้วสิ่งที่ตามมาเลยทันทีคือ มาเลเซียขอเชื่อมแลนด์บริดจ์กับไทยก็คือ “แลนด์บริดจ์สงขลา-ปีนัง” พร้อมๆ กับที่กำลังเกิดภาคใต้ตอนกลาง มาเลย์เค้าก็เห็นว่าถ้าเป็นไปได้ เพราะข้างบนไทยก็เป็นแลนด์บริดจ์ต่างประเทศ เพราะฉะนั้นข้างล่างมาเชื่อมกัน โดยเฉพาะมาเป็นแลนด์บริดจ์ข้ามประเทศกับมาเลเซียได้ไหม เค้าก็วิธีคิดเดียวกัน เพราะภูมิศาสตร์เศรษฐกิจยังไงมันก็อยู่ที่ประเทศไทย
 
บัญชร วิเชียรศรี : เพราะว่ามาเลเซียเค้าไม่สามารถตัดตะวันออก-ตะวันตกเชื่อมกันได้ เพราะตรงกลางเป็นแนวภูเขาสูง แต่ว่าช่วงจังหวัดสงขลานี่ถ้าใครที่รู้จักภูมิประเทศดีๆ จะรู้ว่าแปลกประหลาดมากเลย คือเราเป็นจังหวัดที่อยู่ฝากตะวันออกของแหลมมลายู แต่ว่าเราสามารถเชื่อมไปฝากตะวันตกได้ในลัดนิ้วมือเลย ไม่ว่าจะไปทางสตูล หรือว่าไปทางปีนังก็ตาม ซึ่งนี่คือมันข้ามมหาสมุทรนะครับ จากมหาสมุทรแปซิฟิกไปมหาสมุทรอินเดีย
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ทำให้มาเลเซียเข้ามาขอ ผลสุดท้ายไทยก็ตอบไปว่าไม่ได้ ภูมิเศรษฐศาสตร์นี่ไทยสามารถจะกินรวบได้ เพราะฉะนั้นมันเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ก็ควรต้องกินรวบ แต่จริงๆ มันก็คือยุทธศาสตร์ที่ประเทศไทยสามารถที่จะทำเองได้
 
ก็อย่างชี้ให้เห็นแล้ว วิธีคิดที่มหาธีร์เอามานี่มันก็คือ มหาธีร์จำลองเอาจาก “สามเหลี่ยมเศรษฐกิจบาตัม” ซึ่งบาตัมก็คือเกาะบาตัมของสิงคโปร์ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจบาตัม ก็คือเอาความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย แล้วก็มาเลเซียก็คือรัฐยะโฮร์บาห์รู ก็คือการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมน้ำมันตรงนั้น การเกิดขึ้นของศูนย์กลางพลังงานข้ามโลกตรงนั้น แล้วยกมาเป็น IMTGT สามเหลี่ยมเศรษฐกิจตอนบนของมาเลเซีย เป็นฐานคิดเดียวกันเลย
 
ยุทธศาสตร์มาเลย์ก็คือ ขอเชื่อมแลนด์บริดจ์เรา ก็คือฐานคิดเดียวกันอีก แบบเดียวกับที่ผมบอกว่าประเทศไทยเองก็ยก “อีสเทิร์นซีบอร์ด” พัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกมาภาคใต้เป็น “เซาเทิร์นซีบอร์ด” ก็คือฐานคิดเดียวกัน ผลสุดท้ายมันก็เลยมาลงตัวที่ว่า มันจะต้องทำแลนด์บริดจ์ในประเทศไทยเท่านั้น ในภาคใต้ ภาคใต้ตอนบนทำไม่ได้ ภาคใต้ตอนกลางทำไม่ได้ ก็ลงมาภาคใต้ตอนล่าง
 
บัญชร วิเชียรศรี : ก็ที่สงขลานี่แหละ จะไปไหนละครับ
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ทีนี้อย่างที่เราคุยกันมานะครับว่า อุตสาหกรรมนี่มีอายุประมาณ 30 ปี 40 ปี หรือสูงสุดแล้วก็ไม่เกิน 50 ปี ประเทศไทยที่มันเป็นศูนย์กลางแล้ว เค้าก็บอกว่าอุตสาหกรรมปิโตเคมีของไทยตอนนั้นก็แหล่งใหญ่ของโลกนะครับที่อีสเทิร์นซีบอร์ด ที่ระยองกับที่ชลบุรี ปรากฏว่ามันเกิดขึ้นในทศวรรษที่ 20 นี่จะ 40 ปีแล้ว ก็แสดงว่ามันเป็นช่วงสุดท้าย เป็นลมหายใจสุดท้าย ที่ไม่ทำเซาเทิร์นซีบอร์ดแล้วมันไม่มีความต่อเนื่องกับอีสเทิร์นซีบอร์ด เพราะฉะนั้นยังไงต้องทำที่ภาคใต้ให้ได้
 
บัญชร วิเชียรศรี : เพราะฉะนั้นยังไงก็ต้องทำให้ได้...แหมเพิ่งมาถึงสงขลาเวลาก็หมดเสียแล้ว สงสัยต้องต่อภาคสอง ถ้างั้นคุณปิยะโชติสรุปนิดหนึ่งว่า เราเริ่มเห็นโยงใยตามข้อมูลที่คุณปิยะโชติติดตามแล้วว่า ตั้งแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบันนี้ การเดินเรือที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสินค้าก็ยังมีบทบาทสำคัญต่อกระแสเศรษฐกิจโลกอยู่ และเราที่อยู่ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่เป็นจุดสำคัญของโลก หนึ่งในสามจุดเท่านั้น โลกทั้งโลกนี้ประชากรมากมายมหาศาลขนาดไหน ใหญ่ขนาดไหนก็ตาม แต่ว่าเราเป็นหนึ่งในสามจุด แล้วก็เป็นหนึ่งในสามจุดที่มันไม่เคยมีการปรับเปลี่ยนภูมิประเทศอย่างจริงจังรุนแรงมาก่อน ไม่เหมือนกับที่อียิปต์ ไม่เหมือนกับที่ปานามา
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : แล้วตอนนี้ถ้ามีภาคสอง มันจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยน เพราะว่าช่องแคบมะละกาก็เป็นซันเซ็ทอินดัสตี มันจะต้องขึ้นบกมาเป็นแลนด์บริดจ์เท่านั้น สมัยก่อนเราจะบอกว่าสิงคโปร์ไม่ยอมให้เราทำ ไม่ยอมให้เราขุด แต่ผลสุดท้ายวันนี้ทั้งสิงคโปร์ ทั้งมหาอำนาจทั่วโลกบอกว่าไทยต้องทำ
 
บัญชร วิเชียรศรี : ถ้าอย่างนั้นเร็วๆ นี้เราจะติดตามข้อมูลอันนี้นะครับ ดูว่าที่คุณปิยะโชติไปติดตามข้อมูลศึกษามานี่ มันมีอะไรบ้าง แล้วก็เราที่อยู่ในพื้นที่นี้ต้องรู้อะไรบ้าง
 
ปิยะโชติ อินทรนิวาส : ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะลงรายเอียดในพื้นที่ภาคใต้ให้ชัดเจนไปเลย
 
บัญชร วิเชียรศรี : วันนี้ต้องขอบคุณ คุณปิยะโชติ อินทรนิวาส ครับ หัวหน้าศูนย์ข่าว ASTV ผู้จัดการภาคใต้ ที่มาให้ข้อมูลในรายการสภากาแฟ ภาคสองมีนี่แน่ครับ เดี๋ยวเร็วๆ นี้จะเป็นวันไหนจะแจ้งให้ทราบต่อไปครับ ผม-บัญชร วิเชียรศรี และรายการสภากาแฟ ลาไปพร้อมกับ คุณปิยะโชติ อินทรนิวาส สวัสดีครับ
 
(คิดตาม....เรียนรู้ปฏิรูปรอบด้านตอนที่ 2 ตอบจบ)

กำลังโหลดความคิดเห็น