xs
xsm
sm
md
lg

ข้อมูลใหม่! แม้ชะลอสัมปทานปิโตรเลียม แต่แผนดันไทยสู่ “ศูนย์กลางพลังงานโลก” เพื่อให้ “ปตท.” ใหญ่คับฟ้าไม่มีแตะเบรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
 
ท่ามกลางกระแสเสียงแห่งความดีใจของภาคประชาชน แม้จะไม่ถึงขนาดให้ต้องไชโยโห่ร้อง อันเป็นปรากฏการณ์ภายหลังจากที่ประชุมร่วมรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งหัวโต๊ะ เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีมติให้เลื่อนการพิจารณาการยื่นสิทธิ์ขอเปิดสัมปทานและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ออกไปอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้คณะกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นจากผลตกลงร่วมในเวทีระดมความเห็นที่ทำเนียบรัฐบาลวันที่ 20 ก.พ.มาเป็นผู้ดำเนินการหาแนวทางแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง แล้วส่งให้ สนช.นำไปพิจารณาให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

กรอบแนวคิดของการปฏิรูปพลังงานนั้น ยังมีอีกประเด็นที่สังคมไทยกล่าวถึงน้อยมาก แต่กลับต้องถือว่ามีความสำคัญในระดับไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการแปรระบบสัมปทานให้เป็นแบ่งปันผลประโยชน์ การยึดคืน ปตท. การกดดันราคาน้ำมัน และก๊าซให้ลดลง นั่นคือ…

เวลานี้รัฐบาลกำลังเดินหน้าในอัตราเร่งผลักดันทุกกลไกของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ความเป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก” แห่งใหม่ โดยอาศัยผืนแผ่นดินด้ามขวานเป็นฐานที่มั่นในการผลักดัน 

จึงไม่แปลกที่ในห้วงเวลาหลายปีมานี้ คนภาคใต้จะได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของรัฐที่ถูกทุ่มไปทับถมไว้ โดยเฉพาะพวกเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ที่ได้กระจายอยู่เต็มพื้นที่ ซึ่งสร้างความฮือฮา และเป็นข่าวครึกโครมมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเป็นแนวคิดการพัฒนาที่เชื่อมโยงระดับโลก จึงต้องทำความเข้าใจในภาพรวมก่อน กล่าวคือ แหล่งความเจริญของโลกนั้นเริ่มต้นจากที่ทวีปยุโรป ก่อนจะเคลื่อนไปสู่อเมริกา และยุคสมัยปัจจุบันได้เคลื่อนมาอยู่ในทวีปเอเชีย โดยประเทศที่กำลังบูมทางเศรษฐกิจ และจะยังขยายตัวต่อเนื่องไปจนเป็นที่จับตาในแถบนี้ก็มี เช่น จีน อ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย รวมถึงอีก 10 ประเทศกลุ่มอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งในจำนวนนี้รวมไทยไว้ด้วย

ศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจของโลกอยู่ที่ไหน ที่นั่นก็จำเป็นจะต้องสร้างเส้นทางขนทั้งถ่ายสินค้า และโดยเฉพาะการลำเลียงพลังงานแบบให้สะดวกที่สุด ดังนั้น เมื่อกว่าร้อยปีมาแล้วจึงเกิดการขุดคลองสุเอช ระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร ในประเทศอียิปต์ เพื่อย่นย่อเส้นทางเรือขนส่งสินค้า น้ำมันและก๊าซ โดยไม่ต้องไปอ้อมครึ่งโลกผ่านแหลมกู๊ดโฮป ที่ใต้สุดของทวีปแอฟริกา จากนั้นไม่นานก็ตามด้วยการขุดคลองปานามา ที่ประเทศปานามา เพื่อให้เรือไม่ต้องไปอ้อมแหลมฮอร์นที่สุดของทวีปอเมริกาใต้เหมือนกัน

สำหรับบนแผ่นดินเอเชีย ที่ผ่านมาเคยมีแนวคิดจะขุดคลองย่นย่อเส้นทางเดินเรือเช่นกัน ซึ่งแผนดินตรงกลางติ่งที่ยาว และแคบที่สุดคืนส่วนของคาบสมุทรมลายูที่อยู่ในประเทศไทย ย้อนหลักฐานไปได้ว่าเคยคิดจะขุดคอคอดกระ หรือคลองกระมากว่า 300 ปี หรือในสมัยพระนารายณ์มหาราชโน้น แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีการขุดคลองดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแผ่นดินไม่ได้ติดต่อกันแบบต่อเนื่อง โดยมีถึง 3 ช่องแคบทางทะเลให้เรือเดินสมุทรผ่านได้คือ ช่องแคบมะละกา ช่องแคบซุนดา และช่องลอมบอก

ในส่วนของช่องแคบมะละกา ที่อยู่ระหว่างประเทศสิงคโปร์ กับรัฐยะโฮร์บารูของประเทศมาเลเซีย หรือที่มีคนจำนวนมากนิยมเรียกว่า ช่องแคบสิงคโปร์ เนื่องจากอยู่ตอนเหนือสุดจึงย่นระยะทางที่เรือบรรทุกสินค้า น้ำมัน และก๊าซจะใช่บริการข้ามผ่าน 2 ฟากฝั่ง คือ มหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ จึงส่งผลให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลที่สำคัญของโลก

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ สิงคโปร์นับเป็นศูนย์กลางพลังงานที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกในช่วงหลายสิบปีมานี้ โดยเฉพาะในด้านการกลั่น และส่งผ่านน้ำมันข้ามโลก

สิงคโปร์ นอกจากจะมีท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่แล้ว ความเป็นศูนย์กลางพลังงานที่สำคัญของโลก ทำให้ประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กแห่งนี้เป็นฐานที่ตั้งของโรงกลั่นน้ำมัน และโรงแยกก๊าซมากมาย

มีข้อมูลระบุว่า หลายปีมานี้ช่องแคบมะละกามีเรือเดินสมุทรผ่านประมาณ 900 ลำต่อวัน หรือประมาณ 50,000 ลำต่อปี ซึ่งเมื่อเทียบแล้วมีปริมารเรือที่วิ่งผ่านมีมากกว่าคลองสุเอชถึงประมาณ 2 เท่าตัว และมากกว่าคลองปานามาถึงกว่า 3 เท่าตัว จึงเกิดวิกฤตการณ์ตามมามากมาย ทั้งด้านการจราจรทางเรือที่ติดขัด ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การขาดแคลนน้ำจืด ฯลฯ ไม่เพียงเท่านั้น ปัญหาโจรสลัดคอยดักปล้นเรือสินค้า และเรือขนน้ำมันที่ผ่านช่องแคบแห่งนี้ก็เกิดขึ้นถี่ยิบ ซึ่งก็เป็นข่าวประจานไปทั่วโลกอยู่บ่อยครั้ง

เมื่อเป็นเช่นนี้กลุ่มทุนจากทั่วโลก และแม้กระทั่งกลุ่มทุนไทยเอง จึงต่างก็เล็งแลมายังพื้นดินด้ามขวานของไทย ด้วยเห็นศักยภาพ และช่องทางสร้างกำไรมหาศาล หากสามารถแจ้งเกิดโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่จะไปเสริมศักยภาพ อันมิใช่ไปแย้งชิงความเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้า และแหล่งพลังงานข้ามโลกของช่องแคบมะละกาได้

เมื่อยุคสมัยปัจจุบันโครงการขุดคลองที่ไม่ว่าจะเรียกคอคอดกระ คลองกระ หรือคลองไทยไม่เหมาะสมที่จะทำได้แล้ว การทำโครงการสะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) เชื่อมระหว่างฝั่งทะเลอันดามัน กับอ่าวไทย ซึ่งก็คือการเชื่อมมหาสมุทรอินเดียเข้ากับมหาสมุทรแฟซิฟิกเหนือ จึงถูกคิดค้นขึ้นมาแทนที่การขุดคลอง ซึ่งก็สามารถตอบโจทย์ของการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าและศูนย์กลางพลังงานข้ามโลกแห่งใหม่ได้ดีทีเดียว

ถึงวันนี้แลนด์บริดจ์ภาคใต้ได้ถูกกำหนดเป็นแผนและเดินหน้าผลักดันกันมาแล้วนับสิบปี โดยมีส่วนประกอบหลัก ได้แก่ ท่าเรือนำลึก 2 ฝั่งทะเลหัว-ท้าย ฟากอันดามัน กำหนดสร้างขึ้นที่บริเวณชายฝั่งบ้านปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ส่วนฟากอ่าวไทย ให้สร้างที่ชายฝั่งบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา แล้วให้เชื่อมต่อกันด้วยถนนมอเตอร์เวย์ รถไฟขนตู้คอนเทนเนอร์แบบรางคู่ รวมถึงระบบท่อน้ำมัน และท่อก๊าซ

ที่จริงแล้วโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่คือส่วนประกอบสำคัญของโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด (Southern Seaboard : SSB) ซึ่งตามแผนนอกจากอภิมหาโครงการอย่างแลนด์บริดจ์แล้ว ยังประกอบไปด้วยนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่จะไว้รองรับการเกิดขึ้นของโรงกลั่นน้ำมัน และโรงแยกก๊าซ อันจะส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดมหึมาตามมา ซึ่งเป็นเหมือนต้นธารให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าต่างๆ ทั้งด้านอุปโภคบริโภคตามมามากมาย

ทั้งนี้ โครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดก็คือ การยกเอาโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด (Estern Seaboard : ESB) หรือโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เอามาไว้ที่ภาคใต้นั่นเอง ถือเป็นโครงการต่อเนื่องเพื่อขยับขยายลงมา จึงเห็นได้ว่าขนาดของเซาเทิร์นซีบอร์ดจะใหญ่โตกว่าอีสเทิร์นซีบอร์ดหลายเท่า จึงไม่แปลกที่ในห้วงเวลานับสิบปีมานี้ คนภาคใต้จึงได้สัมผัสถึงบรรยากาศที่ทุกรัฐบาลเร่งรัดการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มากมาย

ไล่เรียงตั้งแต่การสร้างโรงแยกก๊าซ และโรงไฟฟ้าจากก๊าซขนาดใหญ่ 2 โรงที่จะนะ ซึ่งจะตามมาด้วยโรงไฟฟ้าถ่านหินนับสิบโรง โรงไฟฟ้าชีวมวลอีกมากมาย โรงถลุงเหล็ก ถนนมอเตอร์เวย์ไทย-มาเลเซีย ถนนบายพาส หรือวงแหวนอ้อมเมืองต่างๆ อีกทึ้งยังมีท่าเรือทั้ง 2 ฟากฝั่งทะเลภาคใต้ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ยันนราธิวาส ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมตามมาในทุกพื้นที่ของทุกจังหวัด

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้การผลักดันให้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่กระจายทั่วแผ่นดินด้ามขวานเพื่อรองรับการเกิดอุตสาหกรรมมากมายก็จริง แต่ทั้งหมดทั้งปวงได้ยึดเอาแนวแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล เป็นศูนย์กลาง ซึ่งตามแนวแลนด์บริดจ์นี้จะเกิดโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ และฐานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดยักษ์ ซึ่งในเนื้อแท้ก็คือ การพัฒนาตามยุทธศาสตร์ให้เกิดศูนย์กลางพลังงานโลกแห่งใหม่ โดยใช้ภาคใต้เป็นฐานการผลิต และส่งผ่านพลังงานข้ามโลกนั่นเอง

ถ้ายุทธศาสตร์การพัฒนานี้ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ในอนาคตภาคใต้ของไทยจะช่วยแบ่งเบาเรือขนสินค้าให้ไม่ต้องไปผ่านช่องแคบมะละกาได้บางส่วน แต่โดยหลักๆ แล้วเรือขนส่งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางจำนวนมหาศาลฟากมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งต้องวิ่งไปขึ้นน้ำมันดิบที่สิงคโปร์ แล้วผ่านกระบวนการกลั่นเป็นเบนซิน ดีเซล และอื่นๆ ก่อนนำลงเรือส่งต่อไปยังประเทศเศรษฐกิจใหม่แถบเอเชียในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือนั้น ต่อไปสามารถมาขึ้นน้ำมันดิบที่ฝั่งอันดามัน แล้วผ่านกระบวนการผลิตก่อนจะส่งต่อเป็นน้ำมันสุกฟากอ่าวไทยประเทศในแหล่งความเจริญใหม่ดังกล่าว ซึ่งนั่นเท่ากับช่วยแบ่งเบาภารกิจของช่องแคบมะละกาได้มหาศาล

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากประเทศไทยถูกขับเคลื่อนให้เป็นศูนย์กลางพลังงานแห่งใหม่ของโลก ภาคใต้กลายเป็นฐานอุตสาหกรรมเคมีขนาดใหญ่ ส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตสินค้ากระจายเต็มพื้นที่ ถึงวันนั้น ปตท.จะเป็นกลุ่มทุนที่มีพลังอำนาจมากมายมหาศาลขนาดไหน 

ยิ่งถ้าให้มีการปล่อยผีสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 อีกทั้งไม่สามารถกดดันให้เดินหน้าปฏิรูปประเทศชาติ โดยเฉพาะด้านการปฏิรูปพลังงานได้อย่างที่ภาคประชาชนวาดหวัง ประกอบกับผู้คนในสังคมไม่สนใจไยดีกับกระบวนการพัฒนานำพาไทยไปสู่ความเป็นศูนย์กลางพลังงานโลกแล้ว

แม้จะยังไม่มีคำตอบในเวลานี้ แต่ในจินตนาการของคนไทยจำนวนหนึ่งก็เชื่อว่า อย่างน้อย ปตท.น่าจะสามารถสยายปีกทะยานขึ้นไปยิ่งใหญ่ได้คับฟ้าเลยทีเดียว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น