ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเผยที่ประชุม ผบ.เหล่าทัพ เน้นสนับสนุนงานรัฐและ คสช.ทำความดี แก้ภัยแล้ง ยากจน และสินค้าเกษตร บอกโจรสลัดมะละกามีแต่ไม่มาก ปัดคุยเรื่องรัฐมนตรีนายพลลาออกเพื่อเปิดทางโยกย้าย ระบุทยอยถอนทหารชายแดนใต้เป็นสัญญาณดี ยันจัดซื้ออาวุธตามแผน ไม่น่านำงบกลางมาใช้ ชี้รัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำยังไงให้ชาติมั่นคง
วันนี้ (2 มี.ค.) ที่กองทัพเรือ เวลา 12.00 น. พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) กล่าวภายหลังการประชุมเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยมีผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม ว่าได้หารือถึงการดำเนินงานในภาพรวมของแต่ละเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยแต่ละส่วนก็ทำงานให้ดีที่สุด และปีนี้มีงานในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล และสนับสนุนงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เน้นย้ำสนองนโยบาย และสนับสนุนงานของรัฐบาล และ คสช.ในการปฏิบัติงานให้ดีที่สุดให้เป็นไปตามแผนงานตามที่ได้กำหนดไว้ ส่วนเรื่องที่ตนได้เน้นย้ำคือการจัดทำแผนงานโครงการทำความดีปีมหามงคล และการช่วยเหลือปัญหาภัยแล้ง ปัญหาความยากจน และราคาสินค้าเกษตร
พล.อ.วรพงษ์กล่าวว่า ผบ.ทร.ได้รายงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาโจรสลัดในช่องแคบมะละกา และพื้นที่ทะเลจีนใต้ซึ่งปัญหามีไม่มากนัก แต่บริเวณช่องแคบมะละกาเรามีการดำเนินการร่วมกับมิตรประเทศในน่านน้ำอาณาเขตอยู่แล้ว แต่ปัญหาออกไปนอกช่องแคบมะละกาไปทางฝั่งทะเลจีนใต้ โดยประเทศที่มีอาณาเขตก็มีแนวคิดที่จะหารือกันในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ผู้ประกอบการ ลูกเรือ เจ้าของเรือ ปลอดภัยในการประกอบอาชีพของตัวเอง
ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกล่าวอีกว่า ในที่ประชุมไม่ได้มีการหารือเรื่องการจัดทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารระดับชั้นนายพลกลางปี เพราะได้มีการคุยนอกรอบมาก่อนหน้านี้ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้นัดประชุมไปเรียบร้อยแล้ว โดยให้นโยบาย แนวทางและการดำเนินการซึ่งเป็นไปตามปกติคือใช้หลักอาวุโส ความสามารถ และเป็นไปตามกรอบระเบียบที่มีไว้
เมื่อถามว่า นายพลที่ไปเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลจะมีการลาออกหรือมีการเปิดอัตราเฉพาะตัวรองรับคนเหล่านี้ พล.อ.วรพงษ์กล่าวว่า ไม่มีการพูดถึง ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล และ คสช.จะพิจารณา และเรื่องนี้ก็ไม่มีกฎกติกาห้ามไว้ คิดว่าใครจะอยู่หรือใครจะไปอยู่ที่ผลงานมากกว่า ไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นใคร ตนคงตอบแทนไม่ได้ เพราะเกินหน้าที่ ต้องเป็นเรื่องของระดับที่สูงขึ้นไป ส่วนกรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน มีแนวทางจะถอนทหารกองทัพภาคอื่นออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ถือเป็นสิ่งบอกเหตุที่ดีว่าสถานการณ์ดีขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินการคงเป็นไปตามขั้นตอน ค่อยๆ ทยอยในการถอนทหารออกมา
พล.อ.วรพงษ์ยังกล่าวถึงแผนพัฒนากองทัพในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ว่า การจัดซื้อ จัดหายุทโธปกรณ์เป็นไปตามแผนเสริมสร้างและพัฒนากองทัพอยู่แล้ว ในกรอบ 10-15-20 ปี แต่ที่ผ่านมาเราอาจไม่สามารถทำตามแผนได้ ด้วยปัญหาเรื่องงบประมาณ ทำให้แผนต้องยืดระยะเวลาไป เพราะฉะนั้นการปฏิบัติในปัจจุบัน หรืออนาคตจะดำเนินการตามแผนที่เราได้วางไว้ และคุยกันมาอย่างดีแล้ว ไม่ใช่เป็นเพราะว่าทหารมาอยู่ในส่วนของรัฐบาล ใครเป็นรัฐบาลก็ขอตามนี้ ส่วนจะให้หรือไม่ก็แล้วแต่รัฐบาล และ มีงบประมาณหรือไม่ ถ้าไม่มีเงินก็ชะลอไว้ก่อน และค่อยๆ ซื้อเพิ่ม ยืนยันว่าไม่ได้ตั้งความหวังแม้รัฐบาลจะมีทหารเข้าไปบริหาร เพียงแต่เราทำหน้าที่ตามปกติ หากรัฐบาลเห็นว่ามีประโยชน์ ช่วยรัฐบาลได้ในยามคับขันอาจจะให้อะไรเพิ่มเติมมา แล้วแต่ความกรุณาของรัฐบาล
ส่วนจะมีการจัดงบกลางมาเพื่อใช้ในการจัดซื้ออาวุธหรือไม่นั้น พล.อ.วรพงษ์กล่าวว่า ถ้าใจตนคิด รัฐบาลน่าจะใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหา และช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนมากกว่าที่จะให้กองทัพ ถ้ากองทัพจะซื้ออาวุธต้องอยู่ในแผน และปรับแผนงบประมาณประจำปี
นอกจากนี้ ผู้บัญชาทหารสูงสุดได้กล่าวถึงกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการร่างอยู่ในขณะนี้ว่า กองทัพเราดูแลในภาพรวม มีบุคคลเข้าไปตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วย เรื่องการการทำงานแต่ละส่วนก็คงตอบแทนไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องแต่ละบุคคลไปสังกัดในองค์กรนั้นๆ กองทัพเพียงแค่ทำตามนโยบายในภาพรวม คือทำอย่างไรก็ได้ให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ส่วนความคาดหวังต่อร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะร่างเสร็จเรียบร้อยนั้น ตนคิดว่าทุกคนก็อยากได้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด เพราะร่างฉบับล่าสุดต้องดีที่สุดกว่าฉบับที่ผ่านมา โดยดีที่สุด เหมาะกับคนไทยมากที่สุด ทำให้ประเทศชาติ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนมากที่สุด ความจริงรัฐธรรมนูญแก้ไขได้ทั้งนั้น อย่าไปซีเรียส จะแก้ไขด้วยวิธีใดก็ตาม แต่ที่เราร่างอยู่เป็นฉบับล่าสุด