โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินเรื่องราวข้อพิพาทระหว่างโรงงานกับชุมชนหรือนิคมอุตสาหกรรมกับเอ็นจีโอเกี่ยวกับปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเรียกได้ว่าแทบจะกระทบกับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทุกเพศทุกวัยโดยไม่มีข้อยกเว้น ปัญหากลิ่นรบกวนจากโรงงานคือตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากที่สุด ยังไม่รวมถึงความขัดแย้งเรื่องการแย่งทรัพยากรท้องถิ่นเช่นน้ำบาดาลซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนโดยรวม การรั่วไหลของสารพิษสู่สิ่งแวดล้อมทั้งโดยเจตนาและเกิดขึ้นด้วยเหตุสุดวิสัย ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลกลใดสิ่งหนึ่งที่มิอาจปฏิเสธได้เลยคือความสัมพันธ์ระหว่าง “อุตสาหกรรม” กับ “สิ่งแวดล้อม” สองสิ่งที่เปรียบเสมือนน้ำกับน้ำมันซึ่งไม่มีวันลงรอยผสานเป็นเนื้อเดียวกันได้ตลอดระยะเวลาเกือบสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เมืองเบอร์มิงแฮมประเทศอังกฤษ อีกด้านหนึ่งของความจริงที่แม้แต่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบสุดขั้วจำต้องกัดฟันก้มหน้ายอมรับ นั้นคือวิถีชีวิตของมนุษย์หลังคลื่นลูกที่สามได้หล่อหลอมพฤติกรรมการเสพติดอุตสาหกรรมให้กับคนรุ่นใหม่ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ค่านิยมในการบริโภคเทคโนโลยีได้ฝังตัวลงไปในก้นบึ้งแห่งจิตวิญญาณของมนุษย์ยุคไอทีสังเกตได้จาก ช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาโรงงานจำนวนมากทั้งในจีนและประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง
แล้วประเทศไทยควรเบนเข็มไปในทิศทางใด? กลับคืนสู่ธรรมชาติแบบภูฏานจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเลิกสนใจอุตสาหกรรมในขณะที่เพื่อนบ้านรอบตัวเราแข่งกันพัฒนางานวิจัยพร้อมกับต่อยอดผลลัพธ์ที่นำไปสู่นวัตกรรม หรือ ตะบี้ตะบันเร่งเพิ่มกำลังการผลิตอย่างเดียวโดยไม่ต้องใส่ใจคุณภาพชีวิตของชุมชนที่อยู่อาศัยรอบข้าง? แน่นอนทางออกไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การเลือกคำตอบประเภทสุดขั้วข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าว เนื่องจากแต่ละประเทศย่อมมีอัตลักษณ์แห่งภูมิหลังซึ่งมีความจำเพาะและพิเศษเฉพาะตัว ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศหนึ่งอาจกลับก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบกับอีกประเทศหนึ่งก็เป็นได้เนื่องจากสภาวะแวดล้อมทางภูมิศาสตร์รวมทั้งโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมนั้นแตกต่างกัน
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เป็นต้นมาทางสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญมากขึ้นกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ในความหมายคือ ทุกการพัฒนาต้องมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ไม่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ และสิ่งที่สำคัญปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องได้รับการแก้ไขด้วยการพัฒนาสถาบันทางสังคมและการบังคับใช้กฏหมายเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม มิใช่มุ่งเน้นไปแต่ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุผลดังกล่าวทางองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติหรือ UNIDO จึงได้ส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกมีการนำเอาแนวคิดของเทคนิคที่ดี่สุด (Best Available Technique: BAT) และแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (Best Environmental Practice) มาประยุกต์ใช้กับหม้อต้มไอน้ำอุตสาหกรรมเนื่องจากเป็นแหล่งผลิตความร้อนหลักที่แทบจะเรียกได้ว่าแซกซึมอยู่ในเกือบทุกประเภทของอุตสาหกรรม ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้หม้อไอน้ำในโรงงานอุตสาหกรรม จำนวนทั้งสิ้นประมาณ8,000 เครื่อง แยกเป็นหม้อไอน้ำแบบท่อไฟประมาณ 6,000 เครื่อง และหม้อไอ้น้ำแบบท่อน้ำประมาณ 2,000 เครื่อง ซึ่งมีหลากหลายขนาดแตกต่างกันไป ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน และเป็นที่ทราบกันดีว่าผลค้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากกระบวนการสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ในหม้อต้มไอน้ำคือมลพิษที่ปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศทั้งในรูปแบบของก๊าซและอนุภาคไม่ว่าจะเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์, มีเทน , ไนตรัสออกไซด์, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, โอโซน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของก๊าซเรือนกระจกแล้วยังมีพวกโลหะหนัก สารก่อมะเร็งโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน และ สารไดออกซินซึ่งมีฤทธิ์ในการก่อการกลายพันธุ์ ปนออกมาอีกด้วย
แม้ว่าผลกระทบจากหม้อต้มไอน้ำที่มีต่อการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม “กระแสหลัก” ที่สาธารณะรับรู้ แต่ องค์ความรู้เรื่องค่าสัมประสิทธิ์ในการปล่อยสารไดออกซินหรือที่เรียกกันสั้นๆว่าค่า EF (Emission Factor) จากแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆ (นอกเหนือจากหม้อต้มไอน้ำแล้ว ไฟป่า การเผาขยะในที่โล่งแจ้ง และ เตาเผาขยะคือแหล่งกำเนิดที่สำคัญของสารไดออกซิน) โดยเฉพาะจากหม้อต้มไอน้ำอุตสาหกรรมกำลังได้รับความสนใจจากนักวิชาการทั่วโลกเนื่องจากปัจจัยต่างๆเช่น อายุของหม้อต้มไอน้ำ ชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ ประเภทของหม้อต้อมไอน้ำ เงื่อนไขในการเดินเครื่อง (เช่นค่าออกซิเจนที่เติมเข้าไป) อัตราการใช้เชื้อเพลิง ความชื้นในเชื้อเพลิงประเภทชีวมวล สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่า EF และท้ายสุดปริมาณการปลดปล่อยของสารไดออกซินสู่สิ่งแวดล้อมด้วยกันทั้งสิ้น
สัปดาห์หน้าผู้เขียนจะเล่าเรื่องความร้ายกาจของสารไดออกซินที่เรียกได้ว่าน่ากลัวกว่าสารพิษประเภทอื่นหลายเท่าเพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นมันส่งไปถึง “ลูกหลาน” ของท่าน และทางองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติมีแนวคิดในการที่จะจัดการและควบคุมมันอย่างไร โปรดติดตามได้ในตอนต่อไปครับ
โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ผู้จัดการโครงการการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคนิคที่ดี่สุดและแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด สำหรับหน่วยงานที่ใช้พลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและหม้อต้มไอน้ำอุตสาหกรรมในประเทศไทย
องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ
กรรมการที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติมลพิษทางอากาศ ประจำสถาบันเทคโนโลยีเวสเซ็กส์ สหราชอาณาจักร
นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมโลก สภาวิทยาศาสตร์สาธารณรัฐประชาชนจีน เมืองซีอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
Email: pongpiajun@gmail.com
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ผู้จัดการโครงการการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคนิคที่ดี่สุดและแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด สำหรับหน่วยงานที่ใช้พลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและหม้อต้มไอน้ำอุตสาหกรรมในประเทศไทย
องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ
กรรมการที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติมลพิษทางอากาศ ประจำสถาบันเทคโนโลยีเวสเซ็กส์ สหราชอาณาจักร
นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมโลก สภาวิทยาศาสตร์สาธารณรัฐประชาชนจีน เมืองซีอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
Email: pongpiajun@gmail.com