เอเอฟพี – ญี่ปุ่นเฉลิมฉลองการขึ้นทะเบียนพื้นที่อุตสาหกรรมยุคเมจิเป็นมรดกโลกของยูเนสโกในวันนี้ (6) แม้ว่าจะถูกโซลคัดค้านในตอนแรกจากกรณีการบังคับใช้แรงงานชาวเกาหลีในช่วงต้นศตวรรษที่ 20
คณะกรรมาการมรดกโลกขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เพิ่มสถานที่ 23 แห่งที่ถูกพิจารณาว่าเป็นตัวแทนของการปฏิวัติอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นช่วงรัชสมัยจักรพรรดิเมจิ (1868-1912) ลงในรายชื่อมรดกโลกเมื่อวันอาทิตย์ (5)
สถานที่ดังกล่าวประกอบด้วยโรงงานเหล็ก , อู่ต่อเรือ และเหมืองถ่านหิน
ในทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองฟุกุโอกะ ที่ตั้งของเหมืองมิอิเกะ ผู้ว่า ฮิโรชิ โองาวะ ให้คำมั่นว่า “ผมจะใช้มรดกโลกอันทรงคุณค่าแห่งนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและรักษามันไว้ให้กับลูกหลานสืบไป”
การได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกของยูเนสโกสามารถนำมาซึ่งผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ เพราะว่ามันจะเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างดี แหล่งมรดกโลกมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อการอนุรักษ์
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของโตเกียวที่จะทำให้สถานที่ดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนได้จุดชนวนข้อพิพาททางการทูตขึ้น เนื่องจากเกาหลีใต้และจีนระบุว่า สถานที่ดังกล่าวมีอยู่ 7 แห่งที่เคยเป็นศูนย์กลางสำหรับการเนรเทศและการบังคับใช้แรงงานในช่วงที่พวกเขาถูกญี่ปุ่นยึดครอง
ญี่ปุ่นควบรวมคาบสมุทรเกาหลีในปี 1910 และปกครองอยู่จนพวกเขาพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 ขณะที่การรุกรานแมนจูเรียมีขึ้นในปี 1931 ซึ่งพวกเขาได้จัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดและฐานทัพแห่งหนึ่งเพื่อสร้างความปั่นป่วนในจีน
ความพยายามขึ้นทะเบียนมรดกโลกดังกล่าวยิ่งสั่นคลอนความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเพื่อนบ้านทั้งสองที่ตึงเครียดอยู่แล้วจากข้อพิพาททางประวัติศาสตร์ช่วงสงคราม โดยเฉพาะเรื่องระบบทาสกามของโตเกียว
ถึงกระนั้นก็ยังมีความพยายามที่จะลดความตึงเครียดดังกล่าว โดยคณะผู้แทนของญี่ปุ่น กล่าวว่า พวกเขาพร้อมน้อมรับข้อกังวลบางข้อ
ญี่ปุ่นจะ “จะจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อจดจำผู้ที่เคยเป็นเหยื่อนในพื้นที่ดังกล่าว” พวกเขากล่าว ซึ่งเป็นการให้คำมั่นที่ทำให้โซลยกเลิกการคัดค้านการขึ้นทะเบียนดังกล่าว
กระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ยินดีกับความเคลื่อนไหวดังกล่าวที่พวกเขามองว่าเป็นการยอมอ่อนข้อของโตเกียว
“เป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นพูดถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ชาวเกาหลีถูกบังคับใช้แรงงานภายใต้สภาพแวดล้อมอันเลวร้ายในช่วงทศวรรษ 1940” กระทรวงฯ ระบุในถ้อยแถลง
อย่างไรก็ตาม ฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของโตเกียวไม่ได้เปลี่ยนจุดยืนโดยพื้นฐานของพวกเขา
“จุดยืนของรัฐบาลเกี่ยวกับผู้ที่ถูกเกณฑ์จากเกาหลีไม่ได้เปลี่ยนแปลง” โยชิฮิเดะ สุกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวในวันนี้ (6)
โตเกียวยืนกรานว่าประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการชดเชยให้กับบุคคลและสิทธิของพวกเขาในการเรียกร้องการชดเชยจากรัฐได้รับการสะสางไปทั้งสิ้นแล้ว เมื่อทั้งสองประเทศปรับความสัมพันธ์สู่ระดับปกติในปี 1965