xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนแนะปฏิรูปศก.ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน –ภาคเอกชนชี้ถึงเวลาต้องปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง หลังตลอดช่วง 5ปี จีดีพีไทยโตต่ำ จากการด้อยประสิทธิภาพแม้ว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่งอยู่ ย้ำจำเป็นที่ถึงเวลาต้องปรับทัศนคติใหม่ให้ความสำคัญด้านด้านR&Dเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ดันเศรษฐกิจไทยโตอย่างมั่นคง มั่นใจ 15ปีไทยเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูง แย้มรัฐเตรียมออกกฎหมายควบคุมการซื้อสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานรัฐ หลังถลุงปีละ 8พันล้านเพื่อซื้อสื่อ

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ "ศาสตราจารย์สังเวียนฟอรั่ม 2015" หัวข้อสัมมนา”ก้าวไปข้างหน้า...กับทิศทางเศรษฐกิจไทย “ ว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำมาตลอด เป็นผลมาจากประสิทธิภาพการผลิตของประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้น
หรือเพิ่มขึ้นน้อยกว่าต้นทุนผลิต โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และธนาคารแห่งประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่าไทยเข้าสู่เศรษฐกิจโตต่ำ (New Normal) เพราะประเทศมีการใช้ทรัพยากร และแรงงานเต็มที่ รวมทั้งเข้าสู่สังคมสูงอายุ
แม้ว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่ง มีการกระจายตัวดีทั้งภาคอุตสาหกรรมและตลาด สถาบันการเงินเข้มแข็ง ภาคเอกชนมีงบดุลที่ดีและหนี้สินต่ำ ขณะที่ภาครัฐเองก็มีหนี้สาธารณะอยู่ 40กว่า%สามารถบริหารหนี้ได้ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยกลับต่ำมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสังคมไทยเป็นระบบอุปภัมป์ที่ยังต้องพี่งพาภาครัฐ ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในรอบ 10ปีนี้มาจากภาครัฐ ซึ่งการทำประชานิยมที่สร้างความเสียหายมากในช่วงที่ผ่านมา อาทิ โครงการรับจำนำข้าวที่ขาดทุนถึง 5.2 แสนล้านบาท ในช่วง 3 ปีคิดเป็น 5%ของจีดีพี โดยช่วงเวลา 3ปีนั้น จีดีพีไทยโตรวม 9.5%หากหักความเสียหายจากโครงการนี้เท่ากับเศรษฐกิจไทยโตแค่ปีละ 1.5%เท่านั้น
ดังนั้นหากต้องการให้เศรษฐกิจไทยโตในระดับ 5%จำเป็นต้องปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่( Reform) เพื่อให้ปัญหาต่างๆถูกแก้ไข และให้ตลาดทำงานได้สมบูรณ์เหมือนกับสิงคโปร์ โดยที่ผ่านมา รัฐมีการขยายบทบาท ขนาดและอำนาจ ดังนั้นทำอย่างไรจะลดบทบาทอำนาจรัฐลง เช่น การออกพ.ร.บ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ทำให้อุดช่องโหว่และสร้างความโปร่งใส ทำให้มีต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำลง
นอกจากนี้ยังต้องเร่งให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ โดย 10ปีที่ผ่านมา รัฐวิสาหกิจมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจากเดิม 4 ล้านล้านบาทเพิ่มเป็น 12 ล้านล้านบาท แต่ไม่มีประสิทธิภาพ จะเห็นได้จากอัตราผลตอบแทนต่อทรัพย์สิน(ROA)ต่ำมากไม่ถึง 4 % ดังนั้นการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจนั้นจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากรให้มากขึ้นสร้างองค์กรให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน การดำเนินกิจการปราศจากทุจริต และลดการพึ่งพารัฐ
ส่วนปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศนั้น จะต้องไม่มีการคอร์รัปชั่น ซึ่งถือเป็นนตัวถ่วงเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องเร่งแก้ไข ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้มีการตั้งคณะกรรมการต่อต้านการคอร์รัปชั่นแห่งชาติขึ้นมาเพื่อลดการใช้อำนาจรัฐและลดการใช้ดุลยพินิจ ซึ่งเป็นตัวที่นำมาซึ่งการคอร์รัปชั่นได้ โดยใน1-2 สัปดาห์นี้ รัฐจะออกกฎหมายควบคุมการซื้อสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งแต่ละปีพบว่ารัฐใช้งบประมาณถึง 8พันล้านบาทในการซื้อสื่อโดยไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการรั่วไหล
"ตัวอย่างที่ดีในการปฏิรูปเศรษฐกิจ คือ สิงคโปร์ ที่ไช้ระยะเวลา 50 ปีในการปฏิรูปเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ จนเป็นประเทศชั้นนำของโลก และมีรายได้ประชากรต่อหัวสูงแซงอเมริกาแล้ว เพราะเขามีการปล่อยให้กลไกทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาดมากที่สุด ภาครัฐเป็นคนวางกฏกติกา และเขาไม่รังเกียจต่างชาติมีการเชื้อเชิญให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ทำให้ประเทศพัฒนาขึ้นได้"นายบรรยง กล่าว
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะก้าวผ่านกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)จำเป็นที่ภาครัฐและเอกชนจะต้องให้ความสำคัญเรื่องการลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D)เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ไทยใช้งบR&Dเพียง 0.2%ของจีดีพี ต่างจากเกาหลีมีการใช้งบ R&D ถึง 3%ของจีดีพี
ซี่งภาครัฐเองก็มีความเข้าใจในเรื่องนี้ และตั้งเป้าหมายให้มีการลงทุนด้านR&D เพิ่มขึ้นเป็น 1%ของจีดีพีภายในปี 2559 โดยรัฐจะคืนภาษีให้กับผู้ลงทุนR&D300% เชื่อว่าถ้าทุกฝ่ายให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ภายใน 15ปีข้างหน้าไทยจะหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้อย่างแน่นอน จากเดิมที่มีการคาดการณ์ว่าไทยจะหลุดพ้นในปี 2590
ทั้งนี้ บริษัทได้ให้ความสำคัญในเรื่องR&D โดยปีนี้ตั้งงบประมาณR&D ไว้ที่ 4.9 พันล้านบาท ปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.8 พันล้านบาท และปีถัดไปเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 1.5%ของยอดขาย
ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องลงทุนในเรื่อง R&D และเพิ่มนวัตกรรมต่างๆ เนื่องจากต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียนจะเห็นได้จากค่าไฟของไทยในภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 3.4-3.5 บาท/หน่วย แต่เวียดนามและอินโดนีเซีย ค่าไฟอยู่ที่ 2 บาทเศษ/หน่วย และอีก 5ปีข้างหน้า ค่าไฟไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 บาทเศษ/หน่วยเพราะมีการนำเข้าก๊าซLNGจากต่างประเทศมาผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซฯในอ่าวไทยที่ลดลง
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)(ปตท.) กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีค่านิยมที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยเห็นประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตัว รวมทั้งสังคมที่แตกยก ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นตัวฉุดการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศซึ่งการเติบโตของประเทศในช่วง 10ปีที่ผ่านมา เราเติบโตช้ามาก จำเป็นต้องมีการหาS Curve ใหม่เพื่อให้ไทยเติบโตต่อไปได้
จึงได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 20ปี เพื่อพัฒนาS Curve ใหม่ เพื่อให้ไทยก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ลดความเหลื่อมล้ำ ก้าวสู่การเป็นสังคมGreen ดูแลประชากรอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และสร้างความมั่นคงของประเทศในด้านต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น