ASTVผู้จัดการรายวัน-"ปิยสวัสดิ์"แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ขู่ไทยสูญเงิน 7.15 แสนล้านบาท พ่วงค่าไฟฟ้าขึ้นหน่วยละ 90 สตางค์ หากรัฐไม่ชัดเจนบริหารสัมปทานปิโตรเลียม 2 แหล่งใหญ่ ทั้งเอราวันและบงกช ที่จะหมดอายุในปี 65-66 เหตุผู้ลงทุนจะลดการผลิตลง เหตุไม่แน่ใจจะได้ต่อหรือไม่ เสนอแนวทางให้เชฟรอน ปตท.สผ. รายเดิมทำต่อ แต่ให้รัฐเข้าถือหุ้นบางส่วน
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ แกนนำกลุ่มปฎิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) เปิดเผยว่า สิ่งที่ทางกลุ่มกำลังติดตามและมีความเป็นห่วงสำหรับพลังงานไทยในขณะนี้ คือ ความชัดเจนถึงการบริหารสัมปทานปิโตรเลียม โดยเฉพาะแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุลงของ2 แหล่งใหญ่ ได้แก่ แหล่งเอราวัน (ของเชฟรอน) กับแหล่งบงกช (ของปตท.สผ.) ในอ่าวไทย ที่จะหมดอายุสัมปทานลงในช่วงปี 2565-66 หากไม่มีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร และต้นปี 2559 ต้องลงนามสัญญากับภาคเอกชนไทยจะสูญเสียคิดเป็นเงินสูงถึง7.15 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นห่วงก็เพราะแปลงสัมปทาน2แห่ง เป็นแหล่งผลิตก๊าซฯ ที่ใหญ่สุดของไทย คิดเป็นการผลิตถึงเกือบ50% ของการใช้ของประเทศหรือ2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเมื่อแปลงนี้หมดอายุ กฏหมายคือต้องกลับมาเป็นของรัฐ ก็ต้องปลดล็อคว่าจะเดินหน้าอย่างไรให้เร็วสุดสิ้นปีนี้ เพราะต้องเข้าใจว่าแหล่งผลิตของไทยเป็นกระเปราะ ต้องขุดเพิ่มต่อเนื่อง หากไม่มีการสรุปล่วงหน้า การผลิตจะทยอยลดลงจนเหลือเพียง500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก็จะกระทบต่อประเทศอย่างมหาศาล
"หากไม่ชัดเจน ผู้ผลิตก็จะลดการลงทุน เนื่องจากหลุมดังกล่าวต้องเจาะเพิ่มต่อเนื่องเพื่อให้ได้แหล่งก๊าซฯ เมื่อรัฐไม่ชัดเจนก็จะไม่ลงทุน ปริมาณก๊าซฯ จะทยอยลดลง และอาจหายไปทั้งหมด 2.3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ไทยจะสูญเสียรายได้ ซึ่งประกอบด้วยค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ 3.5 แสนล้านบาท ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 2.65 แสนล้าน ต้องนำเข้าวัตถุดิบปิโตรเคมี 1 แสนล้านบาท และเมื่อไทยต้องนำเข้าLNGราคาแพง ก็จะกระทบให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ปรับขึ้นทันที 90สตางค์ต่อหน่วย"นายปิยสวัสดิ์กล่าว
นายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า สำหรับแนวทางแก้ไข ความเห็นของกลุ่มเห็นว่ารัฐควรจะต่ออายุสัมปทานให้รายเดิมที่มีความชำนาญการผลิตอยู่แล้ว แต่ให้เจรจาเงื่อนไขเพื่อแลกเปลี่ยนด้วยการเปิดให้รัฐเข้าไปถือหุ้น และให้มีส่วนแบ่งรายได้ที่มากขึ้น เพื่อให้กลไกการขุดเจาะก๊าซฯ ได้ดำเนินต่อไปไม่หยุดชะงักงัน
ส่วนแนวทางการเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ เห็นว่าควรจะเดินหน้าและให้สรุปรูปแบบของการเปิดสำรวจว่าจะเป็นแบบไหนโดยเร็ว เพื่อให้การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศเดินหน้าต่อไป แม้ว่าโอกาสจะไม่มากก็ตาม แต่จำเป็น รวมถึงความชัดเจนในการเจรจาพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
นายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า ERS ได้แถลงครบรองการดำเนินงานของกลุ่มที่ผ่านมา1 ปี และะได้เปิดตัวแนวร่วมเพิ่มเติมทุกภาคส่วนพร้อมกับเปิดหน้า Facebook เพื่อเผยแพร่ข้อเท็จจริง ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา นับว่ามีหลายเรื่องที่รัฐบาลได้ดำเนินการตามที่ทางกลุ่มได้เคยเสนอ โดยเฉพาะการปรับบโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุน เป็นต้น
"โครงสร้างราคาพลังงานถือว่าเดินมาถูกทาง เหลือเพียงอย่างเดียว คือ NGV ที่ควรจะต้องปรับขึ้นอีกเล็กน้อย เพื่อให้สะท้อนต้นทุนจริง แต่ในอนาคต หากการเมืองเข้ามา เกรงว่าการดำเนินงานอาจกลับมาสู่แบบเดิม จึงเห็นว่าหากออกกฏหมายเขียนให้ชัดเจนในการดูแลกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ก็จะดีสุด โดยต้องเขียนให้ชัดเจนว่าควรจะใช้เงินอย่างไร ไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซง"นายปิยสวัสดิ์กล่าว
นายบรรยง พงษ์พานิช กรรมการกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนกล่าวว่า รัฐบาลจะต้องเลือกว่าจะเดินแนวทางปฏิรูปพลังงานไปสู่กลไกตลาดเพื่อความอยู่รอดในอนาคตหรือจะเดินตามแนวทางชาตินิยม สังคมนิยม ประชานิยม ซึ่งแนวทางหลังนี้ ได้มีข้อพิสูจน์แล้วว่าจะนำความเสียหายมาสู่ประเทศได้ตัวอย่างก็มีให้เห็น คือ เวเนซูเอล่า