xs
xsm
sm
md
lg

“ปิยสวัสดิ์” ขู่สูญ 7.15 แสนล้านบาท-ค่าไฟขึ้น 90 สต./หน่วย หากสิ้นปีไม่ชัดต่ออายุเอราวัณ-บงกช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ปิยสวัสดิ์” แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนจี้รัฐเร่งสรุปแนวทางภายในสิ้นปีนี้กรณี 2 แหล่งปิโตรเลียมจะหมดอายุสัมปทานลงในปี 65-66 ไม่เช่นนั้นไทยต้องสูญเงิน 7.15 แสนล้านบาท ค่าไฟทยอยขึ้นอีก 90 สต./หน่วย เหตุผู้ลงทุนจะลดการผลิตลงเพราะไม่แน่ใจว่าจะได้ต่อหรือไม่

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) เปิดเผยในการแถลงผลการดำเนินงานของกลุ่มในรอบ 1 ปีว่า สิ่งที่ทางกลุ่มกำลังติดตามและมีความเป็นห่วงสำหรับพลังงานไทยขณะนี้คือความชัดเจนถึงการบริหารสัมปทานปิโตรเลียม โดยเฉพาะแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุลงของ 2 แหล่งใหญ่ คือ แหล่งเอราวัณ (ของเชฟรอน) กับแหล่งบงกช (ของ ปตท.สผ.) ในอ่าวไทยที่จะหมดอายุสัมปทานลงในช่วงปี 2565-66 หากไม่มีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร และต้นปี 2559 ต้องลงนามสัญญากับภาคเอกชนไทยจะสูญเสียคิดเป็นเงินสูงถึง 7.15 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ เนื่องจากหากไม่ชัดเจนผู้ผลิตก็จะลดการลงทุนเนื่องจากหลุมดังกล่าวต้องเจาะเพิ่มต่อเนื่องเพื่อให้ได้แหล่งก๊าซฯ เมื่อรัฐไม่ชัดเจนก็จะไม่ลงทุนปริมาณก๊าซฯ จะทยอยลดลงและอาจหายไปทั้งหมด 2.3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ไทยจะสูญเสียรายได้ซึ่งประกอบด้วยค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ 3.5 แสนล้านบาท ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 2.65 แสนล้าน ต้องนำเข้าวัตถุดิบปิโตรเคมี 1 แสนล้านบาท และเมื่อไทยต้องนำเข้า LNG ราคาแพงก็จะกระทบให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ปรับขึ้นทันที 90 สตางค์ต่อหน่วย

“สิ่งที่ห่วงก็เพราะแปลงสัมปทาน 2 แหล่ง คือ แหล่งผลิตก๊าซฯ ที่ใหญ่สุดของไทยคิดเป็นการผลิตถึงเกือบ 50% ของการใช้ของประเทศ หรือ 2,000 ล้าน ลบ.ฟ.ต่อวัน ซึ่งเมื่อแปลงนี้หมดอายุกฎหมายคือต้องกลับมาเป็นของรัฐก็ต้องปลดล็อกว่าจะเดินหน้าอย่างไรให้เร็วสุดสิ้นปีนี้ เพราะต้องเข้าใจว่าแหล่งผลิตของไทยเป็นกระเปาะต้องขุดเพิ่มต่อเนื่อง หากไม่มีการสรุปล่วงหน้าการผลิตจะทยอยลดลงจนเหลือเพียง 500 ล้าน ลบ.ฟ.ต่อวัน ว่าจะกระทบต่อประเทศอย่างมหาศาล” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

สำหรับแนวทางนั้น ความเห็นของกลุ่มฯ เห็นว่ารัฐควรจะต่ออายุสัมปทานให้รายเดิมที่มีความชำนาญการผลิตอยู่แล้ว แต่ให้เจรจาเงื่อนไขเพื่อแลกเปลี่ยนด้วยการเปิดให้รัฐเข้าไปถือหุ้น และให้มีส่วนแบ่งรายได้ที่มากขึ้นเพื่อให้กลไกการขุดเจาะก๊าซฯ ได้ดำเนินต่อไปไม่หยุดชะงักงัน ส่วนแนวทางการเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ก็เห็นว่าควรจะเดินหน้าและให้สรุปรูปแบบของการเปิดสำรวจว่าจะเป็นแบบไหนโดยเร็วเพื่อให้การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศเดินหน้าต่อไปแม้ว่าโอกาสจะไม่มากก็ตามแต่จำเป็น รวมถึงความชัดเจนในการเจรจาพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
กำลังโหลดความคิดเห็น