xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐคุมเข้มอัดฉีดรากหญ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บิ๊กแบงก์กสิกรฯเผยมาตรการอัดฉีดรากหญ้าของรัฐ ช่วยพยุงเศรษฐกิจรอปรับโครงสร้างใหญ่เสร็จ แต่จุดสำคัญต้องดูแลให้เป็นไป พร้อมกันนั้นต้องพัฒนาด้านศักยภาพของผู้ผลิตเพื่อส่งออกไปด้วย ส่วนสินเชื่อแบงก์คาดโตได้5-6% หากจีดีพีโต 2.5-3%

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)(KBANK)กล่าวถึงมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้านของรัฐบาลว่า เป็นมาตรการที่ทำให้ประชาชนหรือธุรกิจรายย่อยๆมีเงินทุนเข้าไปหล่อเลี้ยงก่อนในขณะที่โครงสร้างใหญ่กำลังปรับโครงสร้างอยู่ ซึ่งก็น่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นมาตรการที่ทำได้เป็นครั้งคราว และสิ่งที่สำคัญต้องมีการกำกับดูแลให้การใช้เงินถูกต้องตามวัตถุประสงค์คือนำไปค้าขาย หรือประกอบอาชีพ ที่จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียน หรือรายได้เพิ่ม ไม่ใช่นำไปใช้หนี้นอกระบบ หรือรีไฟแนนซ์

"มาตรการนี้ก็ถือว่าเป็นยาแรงที่สุดแล้ว และส่งตรงถึงปลายทางเลย คือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ได้ก่อหนี้ไประดับหนึ่งแล้ว และไม่มีกำลังที่จะใช้จ่ายเพิ่ม ให้สามารถใช้จ่ายเพิ่มได้ แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องดูแลไม่ให้ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ สิ่งที่รัฐบาลทำก็คืออัดฉีดเงินเข้าไปให้พอมีเงินพออยู่กันได้ เพื่อซื้อเวลารอรับวงจรเศรษฐกิจฟื้น มีรายได้เพิ่ม ก็สามารถจับจ่ายใช้สอยได้เพิ่ม"

ในส่วนของธนาคารพาณิชย์เอง ก็ปล่อยสินเชื่อโดยรวมๆอยู่แล้ว แต่ในระดับรายย่อยมากแล้ว ก็คงต้องใช้เครื่องของรัฐ คือธนาคารรัฐเป็นหลัก เพราะมีระบบที่จะรองรับความเสี่ยงได้มากกว่า

สำหรับภาพเศรษฐกิจโดยรวมนั้น เศรษฐกิจไทยยังคงต้องพึ่งพาการส่งออกอยู่ แต่ขณะนี้มันไม่มีเพราะเศรษฐกิจโลกซบเซา ซึ่งก็เป็นไปเหมือนๆกันหมด ทำให้ต้องอาศัยส่วนอื่นมากระตุ้นก่อน และที่สำคัญคือจะต้องปลุกความสามารถด้านการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะขณะนี้ค่าเงินไม่ใช่อุปสรรคของการส่งออกแล้ว

คาดสินเชื่อกสิกรฯโตได้5-6%

ด้านสินเชื่อของธนาคารกสิกรไทยในปีนี้นั้น คาดว่าจะสามารถเติบโตได้ถึง 5-6% จากจีดีพีที่คาดว่าจะเติบโต 2.5-3% ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ก็ปรับตัวสูงขึ้นบ้างเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งธนาคารเองก็เตรียมความพร้อมโดยการกันสำรองเพิ่มเติมเป็นระยะๆตามความเหมาะสม และในไตรมาส 4 ก็คงจะประเมินเรื่องนี้กันอีกครั้ง

"เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มตามภาวะเศรษฐกิจ ไม่ได้เพิ่มจากการระเบิดของฟองสบู่แตกเหมือน 20 ปีก่อน ดังนั้น เมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นก็จะลดตามไปเอง"
กำลังโหลดความคิดเห็น