xs
xsm
sm
md
lg

นายแบงก์ชี้การอัดฉีดแสนล้านเข้าชนบทถือเป็นยาแรงที่สุด และถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ซีอีโอ “เคแบงก์” หนุนรัฐใช้ยาแรงอัดฉีดเงินสู่ชนบท ชี้เป็นการช่วยเพิ่มกำลังซื้อได้ถึงมือรากหญ้า เพราะภาวะ ศก.ปัจจุบันต้องมีหัวเชื้อเข้าไปกระตุ้นก่อน แนะรัฐดูแลการใช้เงินตรงตามวัตถุประสงค์

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เห็นด้วยต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.3 แสนล้านบาท ของรัฐบาล โดยเฉพาะเงินกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 5 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นยาแรงที่สุด และสามารถอัดฉีดถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด เพราะในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันต้องมีเงินหัวเชื้อเพื่อกระตุ้นให้ผู้มีรายได้น้อยมีเงินใช้จ่าย กระตุ้นการค้าขายให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโดยเร็วโดยผ่านทางธนาคารของรัฐซึ่งสามารถรับความเสี่ยงได้สูง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อเพื่อไม่ให้มีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ รวมทั้งต้องมีการตรวจสอบอย่างรัดกุมเพื่อให้เกิดผลกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมั่นใจว่ามาตรการนี้จะไม่ทำให้เกิดปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเงินดังกล่าวเป็นเงินที่รัฐบาลรับภาระแทนประชาชนไว้ทั้งหมดเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยอยู่ได้

“มาตรการนี้ถือเป็นยาแรงที่สุดเพราะฉีดเงินได้ถึงที่ ลงถึงผู้มีรายได้น้อยในระดับตำบล ซึ่งก็หวังว่าจะสามารถกระตุ้นได้ระดับหนึ่งหากการใช้เงินไม่ผิดประเภท” นายบัณฑูร กล่าว

นายบัณฑูร กล่าวว่า ยังมีความหวังว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.5-3.0 โดยคาดมาตรการต่างๆ จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นตามลำดับในระหว่างที่ภาวะการส่งออกชะลอตัว เราต้องกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนอื่นๆ ไปก่อน โดยภาคการส่งออกจะต้องมีการปรับปรุงความสามารถในการผลิตให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เพราะค่าเงินบาทไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกแล้ว

ส่วนการขยายตัวของสินเชื่อในปีนี้ ธนาคารกสิกรไทยคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 5-6 ขณะที่จีดีพีโตร้อยละ 2.5-3.0 ถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่มีเสถียรภาพ โดยการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของสภาพคล่องในระบบช่วงระหว่างรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในปี 2559

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL นั้นยอมรับว่าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองหนี้เสียไว้ในระดับหนึ่งแล้ว และคาดว่าในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้จะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีการกันสำรองเพิ่มขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้เข้ามาดูแลสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพ และให้การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบเพื่อประคองให้สามารถปรับตัวได้ ปัจจุบัน NPL ของธนาคารอยู่ที่ร้อยละ 2.39 และคาดว่าสิ้นปีนี้จะรักษาระดับอยู่ที่ร้อยละ 2.7-2.8
กำลังโหลดความคิดเห็น