xs
xsm
sm
md
lg

วิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง เรียนอะไร เรียนไปทำงานอะไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

แฟ้มภาพเอพี
อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
สาขาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
http://as.nida.ac.th/th/


วิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง (Insurance, Actuarial Science and Risk Management) เรียนอะไรกันแน่ เรียนแล้วไปทำงานอะไร ต้องไปทำงานบริษัทประกันภัยเท่านั้นหรือไม่ เรียนยากมากหรือไม่ ได้ข่าวว่ารายได้ดีมากจริงหรือไม่ คำถามเหล่านี้อาจจะเป็นสิ่งที่หลายๆ คนสงสัย

สำหรับวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงนั้นเป็นศาสตร์ที่ประยุกต์ใช้ คณิตศาสตร์ สถิติ และการเงิน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการวัดและการทำนายความน่าจะเป็น ความถี่และความรุนแรงในการเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหาย ว่ามีปัจจัยใดเกี่ยวข้องบ้าง โดยอาศัยข้อมูลในอดีต บริหารและบรรเทาป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเหล่านั้น พยายามลดความเสียหายจากการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา หรือหากเกิดความเสียหายดังกล่าวแล้วจะต้องมีเงินสำรองเพื่อเยียวยาแก้ไขให้เหตุการณ์ร้ายเหล่านั้นทุเลาลงไปได้ (และต้องลงทุนเงินสำรองดังกล่าวให้งอกเงยด้วยในเวลาเดียวกัน เพื่อให้เกิดผลสูงสุดในขอบเขตของความเสี่ยงที่ยอมรับได้ตามกฎหมาย) เหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาดังกล่าวได้แก่ อุบัติเหตุ ไฟไหม้ หายนะภัยจากธรรมชาติ การล้มละลายทางการเงิน การขาดสภาพคล่อง การเจ็บป่วย การเสียชีวิต เป็นต้น

สำหรับผู้ที่เรียนทางวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงสามารถเลือก Track ความเชี่ยวชาญของตนได้สามเส้นทาง

เส้นทางแรกคือ คณิตศาสตร์ประกันชีวิต (Life Actuary) ซึ่งจะมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับประกันชีวิต ประกันสุขภาพ คำนวณอัตราการเจ็บการตาย บำนาญที่ต้องใช้หลักการเกษียณอายุ คำนวณเบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันสุขภาพ ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันบำนาญเพื่อการเกษียณอายุราชการ เป็นต้น

เส้นทางที่สองคือ คณิตศาสตร์ประกันวินาศภัย (Casualty Actuary) จะมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการประกันวินาศภัย หายนะภัยต่างๆ เช่น ประกันไฟไหม้บ้านหรือโรงงาน การประกันหายนะภัยใหญ่ๆ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ประกันอุบัติเหตุต่างๆ เช่น ประกันรถยนต์ ประกันรถจักรยานยนต์ เป็นต้น วัด ทำนาย ความรุนแรงและความเสียหายดังกล่าว ตลอดจนคำนวณเบี้ยประกันและสำรองป้องกันเงินไว้ชดเชยความเสียหายดังกล่าว

เส้นทางที่สามคือ การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ทำหน้าที่ด้านการบริหารจัดการและป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ให้ กับหน่วยงาน องค์การ หาทางป้องกันความเสี่ยงทั้งทางปฏิบัติการ ทางการเงิน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในโลกปัจจุบัน นำความรู้ด้านการบริหารความเสี่ยงมาใช้ในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายในระดับสูง

ผู้ที่มีความรู้ด้านวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงไม่จำเป็นต้องทำงานในบริษัทประกันภัยเพียงอย่างเดียว ทุกหน่วยงานต่างก็มีความเสี่ยงทั้งนั้น และต้องบริหารความเสี่ยงดังกล่าว สำหรับธนาคารพาณิชย์นั้นต้องทำตาม Basel III ซึ่งเป็นกรอบความคิดในการกำกับควบคุมความเสี่ยง ความเพียงพอของเงินทุน และความเสี่ยงจากการล้มละลายเพื่อคุ้มครองลูกค้าต้องอาศัยคนมีความรู้ทางด้านการบริหารความเสี่ยงเป็นจำนวนมาก บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน หรืออาจจะสมัครงานในภาครัฐที่ต้องอาศัยคนมีความรู้ด้านวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงก็ได้ เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงานประกันสังคม หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งทำหน้าที่เป็น regulator ของอุตสาหกรรมประกันภัย

สำหรับคนที่อยากทำงานในบริษัทประกันภัยก็ไม่ได้จำเป็นต้องทำงานเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแต่อย่างเดียว สามารถทำงานด้านอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน เช่น ทำงานด้านการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยทำหน้าที่ศึกษาความต้องการทางการตลาด ออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยชนิดต่างๆ ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า Underwriter ทำหน้าที่พิจารณาความเสี่ยงในการพิจารณาทำหรือต่อสัญญากรรมธรรม์ประกันภัยต่างๆ หรือไปทำงานในแผนกเรียกร้องสินไหม พิจารณาอนุมัติการจ่ายสินไหมทดแทนต่างๆ หรือทำงานด้านการลงทุนสำหรับบริษัทประกันภัยก็ได้เช่นกัน

สำหรับนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นเป็นวิชาชีพ และต้องมีการสอบเพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เช่นสอบให้เป็น Fellow ของ Society of Actuary (Fellow of Society of Actuary: FSA) หรือเป็น Fellow ของ Casualty Actuary Society เป็นต้น หากสอบได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเหล่านี้จะทำให้มีมูลค่าและเป็นที่ต้องการของตลาดสูงมาก เนื่องจากสอบผ่านได้ยาก และใช้เวลาหลายปี มีคนสอบผ่านไม่มากนัก หลายคนในประเทศไทย ได้เงินเดือน 6 หลักขึ้นไป เช่นเดียวกันกับในสหรัฐอเมริกานักคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นอาชีพที่ขาดแคลนมาโดยตลอด และได้ค่าตอบแทน 100 K$ ต่อปีขึ้นไปกันเป็นส่วนใหญ่ นับว่าเป็นงานที่ได้รายได้ดีมาก

เนื้อหาวิชาที่เรียนในสาขาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง อาจจะต้องใช้ความรู้ความสามารถทางคณิตศาสตร์และสถิติสูง สำหรับสาขาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงที่คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้จัดหลักสูตรให้สอดคล้องกับเนื้อหาของการสอบเพื่อให้ได้ประกาศนียบัตรของสมาคมวิชาชีพทางประกันภัยต่างๆ เช่น SOA, CAS, AICPCU/IIA เป็นต้น อันได้แก่ ทฤษฎีความน่าจะเป็น หลักการประกันภัย ระเบียบวิธีทางสถิติประยุกต์ คณิตศาสตร์การเงิน การบริหารความเสี่ยง การเงินองค์การ คณิตศาสตร์ประกันชีวิต คณิตศาสตร์ประกันวินาศภัย ทฤษฎีความเสี่ยง ทฤษฎีความน่าเชื่อถือและแจกแจงความสูญเสีย การบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ เป็นต้น

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มตัว อุตสาหกรรมประกันภัยจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และบุคลากรด้านวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงจะยิ่งขาดแคลนหนักมากขึ้น จะยิ่งทำให้งานด้านนี้ยิ่งมีความสำคัญ ต้องการบุคลากรมากยิ่งขึ้น จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาต่อที่มีพื้นความรู้ทางคณิตศาสตร์ค่อนข้างดี แต่ไม่จำเป็นต้องจบมาทางด้านคณิตศาสตร์หรือสถิติโดยตรงแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น