บอร์ด คปภ.เห็นชอบหลักการ “ใบเสร็จรับเงินชั่วคราว” หากซื้อประกันแบบไม่ตรวจสุขภาพจะได้รับการคุ้มครองทันทีตามใบเสร็จรับเงินชั่วคราว ส่วนกรณีที่ต้องตรวจสุขภาพจะได้รับความคุ้มครองทันทีที่บริษัทพิจารณาตกลงรับประกันภัย โดยบริษัทประกันต้องเร่งให้มีการตรวจสุขภาพ พร้อมขยายเวลาการกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ปัจจุบันกระบวนการทำประกันชีวิต เมื่อผู้ขอเอาประกันภัยกรอกใบคำขอเอาประกันชีวิต พร้อมชำระเบี้ยประกันภัยแล้วจะได้รับใบรับเงินชั่วคราว
โดยแต่ละบริษัทประกันชีวิตจะใช้ไม่เหมือนกัน มีทั้งระบุเงื่อนไข และไม่ได้ระบุเงื่อนไขการให้ความคุ้มครอง อีกทั้งกรอบระยะเวลาในการพิจารณารับประกันภัยที่ไม่ชัดเจน เป็นผลทำให้ผู้ขอเอาประกันภัยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันชีวิตแล้วหรือไม่
ทั้งนี้ คปภ.จึงได้เห็นชอบในหลักการกำหนดเงื่อนไขมาตรฐานในใบรับเงินชั่วคราวเพิ่มเติมในประกาศ คปภ. เรื่องกำหนดแบบ ขนาด ตัวอักษร ภาษาที่ใช้และข้อความของเอกสารแสดงการรับเงินของบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. 2553 ให้ชัดเจน ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. หากเป็นแบบคำขอเอาประกันภัยที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ความคุ้มครองตามใบรับเงินชั่วคราวจะเริ่มทันที ทั้งนี้ ความคุ้มครองจะสิ้นสุดลงเมื่อบริษัทประกันชีวิตพิจารณาแล้วไม่สามารถรับประกันภัยได้ และ/หรือยื่นข้อเสนอใหม่ ทั้งนี้ หากผู้ขอเอาประกันภัยไม่ยอมรับข้อเสนอใหม่ บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยเต็มจำนวน
และ 2. หากเป็นแบบคำขอเอาประกันภัยที่ต้องตรวจสุขภาพ ความคุ้มครองตามใบรับเงินชั่วคราว จะยังไม่มีผลจนกว่าบริษัทจะพิจารณาตกลงรับประกันภัย โดยบริษัทประกันชีวิตต้องเร่งจัดให้มีการตรวจสุขภาพ เพื่อให้ทราบผลการพิจารณารับประกันภัยว่ารับหรือไม่รับ กรณีไม่รับต้องแจ้งผู้ขอเอาประกันภัย กรณีที่รับอาจจะรับด้วยข้อเสนอเดิม หรืออาจจะรับด้วยข้อเสนอใหม่ (ถ้ามี)
อย่างไรก็ตาม กระบวนการทั้งหมดนี้บริษัทต้องพิจารณาออกกรมธรรม์ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับถัดจากวันที่บริษัทได้รับใบคำขอเอาประกันชีวิต พร้อมค่าเบี้ยประกันภัยข้างต้นนั้น ซึ่งไม่รวมระยะเวลาที่ผู้ขอเอาประกันภัยให้ข้อมูลสุขภาพ และเซ็นรับข้อเสนอใหม่ (ถ้ามี)
นายสุทธิพล กล่าวต่อว่า ตามที่ พ.ร.บ. ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้บริษัทประกันชีวิตส่งรายงานการคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ผ่านการรับรองโดยนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ที่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน และผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติตามที่ประกาศกำหนด ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาลได้กำหนดไว้ว่า เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 8 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ (ครบกำหนด 3 กุมภาพันธ์ 2559) นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของบอร์ด คปภ. อาจพิจารณาขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปได้ตามความจำเป็นแก่กรณี แต่ต้องไม่เกิน 2 ปี
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยทั้งหมด 67 คน มีสมาชิกระดับเฟลโลของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยตามที่นายทะเบียนกำหนด เพียง 25 คน สมาคมประกันชีวิตไทยจึงได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้พิจารณาขยายระยะเวลาการกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตออกไปอีก 2 ปี เนื่องจากบริษัทประกันชีวิตหลายแห่งอยู่ระหว่างการพัฒนาบุคลากรภายใน หรือสรรหาบุคลากรภายนอกที่มีคุณสมบัติเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย
โดยบอร์ด คปภ.จึงได้ขยายเวลาการกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในระดับเฟลโล ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เพื่อให้บริษัทประกันชีวิตมีระยะเวลาในการพัฒนาบุคลากรของบริษัทให้เป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่เป็นสมาชิกระดับเฟลโล ซึ่งจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพ และมาตรฐานการดำเนินงานของบริษัทประกันชีวิตในระยะยาว อันจะส่งผลให้ธุรกิจประกันชีวิตมีการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป