xs
xsm
sm
md
lg

2016 ซูเปอร์แล้ง...คำอธิบายจากวิทยาศาสตร์ / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
1. คำนำ

นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นมา เราคงได้ยินข่าวว่าลมหนาวได้เริ่มขึ้นแล้วในบางพื้นที่ของภาคเหนือ และภาคอีสาน นั่นเป็นสัญญาณว่าฤดูฝนประจำปีกำลังจะสิ้นสุดลง พร้อมๆ กันนี้ทางรัฐบาลก็ได้ประกาศขอร้องไม่ให้ชาวนาทำนาปรังเพราะเกรงว่าจะขาดน้ำในปีหน้า สื่อบางสำนักได้นำเสนอเชิงเปรียบเทียบในทำนองว่า “ปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง” ซึ่งหมายความว่าในปีหน้าจะแล้งมากกว่าปีนี้

ในบทความนี้ ผมจะพยายามอธิบายด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์อย่างง่าย พร้อมกับภาพประกอบว่า ทำไมในปีหน้าจึงน่าจะแล้งมากกว่าปีนี้ ซึ่งผมจะขอเรียกว่าเป็น “ซูเปอร์แล้ง” เพื่อให้สอดคล้องต่อความเป็นไปได้ที่จะเกิด Super El Nino หรือ เอลนีโญขั้นรุนแรงมากและน่าจะรุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่มีการศึกษา และบันทึกอย่างเป็นระบบในช่วง 65 ปีที่ผ่านมา

2.ประวัติความแห้งแล้งในประเทศไทย

แต่ก่อนจะมองไปข้างหน้า เรามาย้อนดูข้อมูลความแห้งแล้งในอดีตกันก่อน ความจริงแล้วข้อมูลความแห้งแล้งที่ตรงที่สุดคือ ข้อมูลปริมาณน้ำฝน แต่เนื่องจากการจัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลน้ำฝนที่ผ่านมามีความยากที่จะนำมาอธิบายต่อเรื่องนี้ได้ ในที่นี้ผมจึงขอใช้ข้อมูลปริมาตรน้ำในเขื่อนต่างๆ โดยคิดเป็นร้อยละของปริมาตรการกักเก็บสูงสุดในสภาพปกติ

เนื่องจากข้อมูลโดยภาพรวมของโลกในปัจจุบันนี้ระบุว่า ความแห้งแล้งในปีหน้า (2016) น่าจะรุนแรงกว่าในช่วงปี 1997-1998 ซึ่งทั้งสองช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (ซึ่งช่วงเวลาการเกิดจะนานประมาณ 12 ถึง 18 เดือน) ผมจึงได้นำเสนอข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อนในพื้นที่ภาคต่างๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว ดังแสดงในตาราง
 

 
จากตารางเราพบว่า ปริมาตรน้ำที่กักเก็บใน 5 เขื่อนเป็นไปในทางเดียวกัน (ยกเว้นเขื่อนบางลางในจังหวัดยะลา ซึ่งผมไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้) กล่าวคือ ก่อนเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งรุนแรงที่สุด (ปี 1997-1998) ปริมาตรน้ำในเขื่อนมีมากถึงระดับ 79 ถึง 101% แต่ในปี 1997 ปริมาตรน้ำได้ลดลงเหลือประมาณ 36 ถึง 73% เท่านั้น (หมายเหตุ : การใช้น้ำในเขื่อนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้ำเหลือน้อย แต่ในที่นี้สมมติว่าการใช้น้ำเหมือนกับทุกปีที่ผ่านๆ มา)

ในช่วงปี 2014 ถึง 2015 ซึ่งปรากฏการณ์เอลนีโญได้เกิดขึ้นแล้ว (แต่ยังไม่จบ) ก็มีลักษณะเดียวกัน คือ ปริมาตรน้ำลดลง แต่ที่น่าตกใจมากก็คือ ปริมาตรน้ำในปี 2015 น้อยกว่าปี 1997-1998 ซึ่งถือว่าแล้งมากที่สุดแล้วอย่างชัดเจน แต่ที่น่าตกใจมากกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์คาดว่าในปีหน้าคือ 2016 จะแล้งหนักกว่าปีนี้ เพราะปรากฏการณ์เอลนีโญยังไม่ถึงจุดรุนแรงสูงสุด ภาพข้างล่างนี้เป็นระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1997 ซึ่งขณะนี้ (2015) รัฐนี้กำลังประสบภัยแล้งอย่างรุนแรง
 

 
3.ระบบการไหลเวียนของกระแสลมและกระแสน้ำในมหาสมุทรยามปกติ

ก่อนอื่นกรุณาดูแผนที่โลกเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยก่อนว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ตรงไหน ซึ่งบริเวณที่ประเทศเราตั้งอยู่เขาเรียกว่าแปซิฟิกตะวันตก โดยอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรเล็กน้อย ในขณะที่ทางขวามือสุดเขาเรียกว่า แปซิฟิกตะวันออกเหนือเส้นศูนย์สูตรเป็นทวีปอเมริกาเหนือ และใต้เส้นดังกล่าวเป็นทวีปอเมริกาใต้
 

 
ที่เห็นเป็นกลุ่มสีแดงในบริเวณแปซิฟิกตะวันตก เหนือประเทศปาปัวนิวกินี และอินโดนีเซีย แสดงถึงอุณหภูมิของผิวน้ำทะเลที่ร้อนกว่าบริเวณอื่นๆ ในแถบเส้นศูนย์สูตร ผมเข้าใจว่าสาเหตุสำคัญเกิดจากโลกเอียง (23.5 องศาไปทางขวามือ) จึงได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากันลักษณะของภูมิอากาศดังกล่าวมาแล้วถือว่าเป็นสภาพปกติ (Normal) หรือเป็นกลาง (Neutral) ของโลก เป็นเช่นนี้มาอย่างยาวนานแล้ว เมื่อน้ำทะเลในบริเวณสีแดงร้อนขึ้น ได้เกิดปรากฏการณ์อีก 2 อย่างตามมา คือ (1) อากาศในบริเวณนั้นก็ร้อนขึ้น และเบากว่าจึงลอยขึ้นสู่อากาศ มวลของอากาศที่เย็นกว่า และหนักกว่าจึงไหลมาแทนที่ จึงเกิดเป็นกระแสลมที่เรียกว่า ลมสินค้า (Trade Wind) พัดมาจากทิศตะวันออก (ทางขวามือ) (2) เมื่อลมพัดจากทิศตะวันออก (จากบริเวณเปรู) ไปสู่ทิศตะวันตก (บริเวณอินโดนีเซีย) ก็จะพัดเอาน้ำทะเลที่อยู่ผิวน้ำให้ไหลไปด้วย

เกิดเป็นการไหลของ 2 วงจรในแนวดิ่ง (VerticalRing) ใหญ่มหึมา วงจรแรกเกิดในอากาศหมุนตามเข็มนาฬิกา เรียกว่า Walker Circulation (ตามชื่อ Gilbert Walker (1868-1958) นักคณิตศาสตร์ที่สังเกตพบเป็นคนแรก) วงจรการไหลที่สองเกิดขึ้นใต้มหาสมุทร เป็นการไหลของกระแสน้ำในแนวดิ่งตามความลึก หมุนทวนเข็มนาฬิกา ดังแสดงในภาพ
 

 
ขอย้ำอีกครั้งว่า นี่คือสภาพภูมิอากาศตามปกติใน และเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก โปรดสังเกตว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เกิด (1) ฝนตกในบริเวณประเทศอินโดนีเซีย และบริเวณใกล้เคียง และ (2) กระแสน้ำจากส่วนที่ลึกของมหาสมุทรใกล้ๆ ประเทศเปรูจะไหลขึ้นสู่ผิวบน (Upwelling) ซึ่งจะนำสารอาหารจากท้องทะเลมาเป็นอาหารของปลา บริเวณนี้จึงมีปลากะตัก (Anchovy) ชุกชุมมากซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหารที่สำคัญของปลาขนาดใหญ่

4.ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino phenomenon)

คำว่า El Nino เป็นภาษาสเปน แปลว่า เด็กผู้ชาย เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นร้อยปีแล้ว ซึ่งมักจะเกิดขึ้นทุก 3 ถึง 5 ปี ถือว่าเป็นสภาพไม่ปกติ

ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้กระแสลมสินค้าที่พัดจากทิศตะวันออกไปตะวันตกไม่มีความแรงพอ ทำให้วงจรการไหลของอากาศ (Walker Circulation) ไม่เป็นวงใหญ่เหมือนสภาพปกติ และทิศทางการไหลก็ตรงกันข้ามกับสภาพปกติ คือ เปลี่ยนจากตามเข็มนาฬิกา ก็มาทวนเข็มนาฬิกาโดยที่วงมีขนาดเล็กลง (ดูภาพประกอบ) วงที่อยู่ทางขวามือก็อยู่ในทิศตามเข็มนาฬิกา ฝนที่เคยตกในบริเวณตะวันตกก็ถูกพัดมาตกในกลางมหาสมุทรแปซิฟิก

ส่งผลให้ประเทศอินโดนีเซีย (รวมทั้งประเทศไทยด้วย) เกิดสภาพแห้งแล้งมากกว่าในสภาพปกติในขณะที่ฝนบางส่วนก็จะไปตกในแถบประเทศเปรูมากกว่าปกติ

ขณะเดียวกัน กระแสน้ำอุ่นที่เคยไหลมุดท้องทะเลจากฝั่งตะวันตกแล้วไปโผล่หัวที่ฝั่งตะวันออก (เปรู) ก็จะเปลี่ยนรูปแบบไป กลายเป็นไหลตามผิวน้ำแทน สารอาหารจากท้องทะเลก็ขึ้นมาสู่ผิวน้ำได้น้อยลง ปลากะตักซึ่งเป็นปลาผิวน้ำก็คงจะหิวโหยไปตามระเบียบ
 

 
โดยสรุป ปรากฏการณ์เอลนีโญไม่ได้นำผลเสียมาสู่โลกเพียงอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับความปกติของพื้นที่ แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งต้องการน้ำเพื่อการเกษตรก็ได้รับกระทบอย่างรุนแรงดังที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อที่ 2 นอกจากนี้ อุณหภูมิของอากาศก็ร้อนขึ้นดังที่เราสามารถรับรู้ได้ในช่วงที่ผ่านมา แม้กระทั่งถึงวันนี้

5.เปรียบเทียบอุณหภูมิของผิวน้ำทะเลระหว่างปี 1997 กับ 2015

ภาพข้างล่างนี้เป็นการเปรียบเทียบอุณหภูมิของผิวน้ำทะเลในส่วนต่างๆ ของโลกในปี 1997 กับปี 2015 ผมได้อธิบายสาระสำคัญเอาไว้ในภาพแล้วครับ กรุณาดูและทำความเข้าใจได้อย่างง่ายๆ สรุปก็คือ ร้อนขึ้นอย่างชัดเจนเกือบทั่วโลก

นักวิทยาศาสตร์เคยคำนวณไว้ว่า ถ้าอุณหภูมิของผิวน้ำทะเลสูงขึ้น 0.5 ถึง 1 องศาเซลเซียส จะทำให้โอกาสในการเกิดพายุระดับรุนแรงจะเพิ่มขึ้นถึง 30% แต่นี่มันได้เลยระดับที่ว่าไปแล้ว แต่มันยังเป็นสภาวะชั่วคราวอยู่ เพราะปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดตลอดเวลา
 

 
6.ตัวชี้วัดความรุนแรงของ El Nino (Ocean Nino Index, ONI)

การตรวจวัดอุณหภูมิของผิวน้ำทะเล (Sea Surface Temperature, SST) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้ผลลัพธ์เป็นภาพรวมในวงกว้าง แต่เพื่อให้ชัดเจนกว่านี้ นักวิทยาศาสตร์จึงใช้วิธีการคำนวณในบางพื้นที่สำคัญ ผมได้นำผลการคำนวณตั้งแต่ปี 1950 จนถึงเดือนมกราคมปี 2015 มาลงให้ดูด้วย

แผ่นภาพนี้อาจจะดูรกตาไปสักหน่อยสำหรับคนที่ไม่ค่อยถนัด แต่เอาอย่างนี้ครับ สิ่งแรกดูลูกศรสีแดง 5 ดอก แต่ละดอกชี้ไปที่ค่าสูงสุดของ SST เราจะเห็นว่า ลูกศรสีแดงสูงขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลในบริเวณเส้นศูนย์สูตรของพื้นที่ที่ถูกล้อม และแสดงให้เห็นในภาพ (ที่เรียกว่า Nino 3.4) สูงขึ้นเรื่อยๆ
 

 
ในปี 1997-1998 ซึ่งค่า SST สูงที่สุดเท่ากับ 2.4 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นระดับที่เรียกว่า “รุนแรงมาก (Very Strong)” แต่อย่าลืมว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งนี้เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน มันยังไม่ถึงจุดสูงสุด

และข้อมูลแต่ละเดือนตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงเดือนสิงหาคม 2015 พบว่า มันมากกว่าปี 1997-1998 ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่า ค่า SST ของเอลนิโญในคราวนี้จะต้องสูงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาตลอด 65 ปีอย่างแน่นอน บางคนเรียกว่าเป็น Super El Nino ดังนั้น ผมจึงขอเรียกว่า “ซูเปอร์แล้ง”

7.สรุป

ผมคิดว่าเรื่องที่ผมได้นำมาเขียนเป็นเรื่องสำคัญมาก และจำเป็นที่ประชาชนควรรับรู้ และทำความเข้าใจรู้ล่วงหน้า แล้วก็ไม่ใช่เรื่องยากที่ผู้อ่านทั่วๆ ไปจะทำความเข้าใจไม่ได้ ถ้าท่านเห็นว่าสำคัญก็กรุณาอ่านอีกรอบ เดี๋ยวก็เข้าใจเองครับ

ขอเรียนตามตรงว่า ผมเห็นด้วยต่อคำเตือนของรัฐบาลในเรื่องการใช้น้ำเพื่อการเกษตร แต่ถ้ากระทำเพียงแค่นี้ก็ยังถือว่าเป็นรัฐบาลที่ดีไม่ได้ครับ อาจถือว่าเป็นการรังแกเกษตรกรที่อ่อนแออยู่แล้วด้วย

รัฐบาลที่ดีต้องมีนโยบายที่ถูกต้องสอดคล้องต่อระบบนิเวศ และเป็นธรรมทั้งในระยะสั้น และระยะยาว รวมทั้งการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

การชูคำขวัญว่า “ไทยเป็นครัวของโลก” เพื่อจะผลิตอาหารไปเลี้ยงคนทั้งโลกนั้นเป็นสิ่งที่ผิดพลาดถือว่าเป็นนโยบายที่อันตรายมากๆ ครับ เพราะไม่ได้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การผลิตข้าวโพดเพื่อเลี้ยงไก่ไปป้อนคนทั้งโลกนั้นได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของประเทศไทยอย่างเป็นลูกโซ่ การผลิตข้าวมากจนเกินไปก็เช่นเดียวกัน ไม่เพียงแต่กระทบต่อระบบนิเวศ แต่ยังกระทบต่อสังคม และการเมืองด้วย ดังที่เห็นกันอยู่ ดังนั้น เราจำเป็นต้องนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างแท้จริงไม่ใช่แค่การอ้างลอยๆ ให้ดูดี ซึ่งหลักปรัชญาดังกล่าวมีเรื่องของความเป็นธรรม และความยั่งยืนเป็นกรอบความคิดหลักรวมอยู่ด้วย
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น