คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
ช่วงที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา ได้มีบทความ และข้อมูลด้านความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมดีๆ เยอะมาก เรียกว่าอ่านกันไม่ทันเลยครับ แต่ผมประทับใจข้อความในแผ่นโปสเตอร์หนึ่งมากที่สุด ผมหยิบมาจากบทความของ Margaret Klein Salamon ใน Ecowatch
ข้อความเขียนว่า “สงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามโลกคาร์บอนไดออกไซด์ การเคลื่อนไหวเพื่อสภาพภูมิอากาศ”
ความจริงแล้วผมเคยเขียนเปรียบเทียบเรื่องภัยของโลกร้อนหลายครั้งแล้วว่ามันรุนแรงกว่าสงครามโลกเสียอีก ผมเคยยกคำพูดของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่พูดทีเล่นทีจริงมาวิจารณ์ว่า “สิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ที่มีอานุภาพทำลายล้างมากที่สุดคือ สูตรดอกเบี้ยทบต้น” แต่ในเวลานั้นโลกเรายังไม่มีปัญหาเรื่องโลกร้อน ไอน์สไตน์ ยังไม่รู้จักโลกร้อน แต่ในฐานะนักคณิตศาสตร์ผมเองยอมรับว่า “สูตรดอกเบี้ยทบต้น” นั้นอันตรายเกินคาดจริงๆ แต่ก็ยังสู้สงครามที่ผมกำลังพูดถึงไม่ได้ เพราะสูตรดอกเบี้ยทบต้นนั้นถ้าเราไม่กู้ก็ไม่โดน แต่สงครามโลกคาร์บอนไดออกไซด์ เราอยู่เฉยๆ ก็ยังโดนครับ ถ้าไม่อยากจะโดนต้องอพยพไปอยู่ดาวดวงอื่น
ในเรื่องสงคราม เคยมีคนถามไอน์สไตน์ ว่า “ในสงครามโลกครั้งที่สาม มนุษย์จะนำอาวุธชนิดใดมาสู้กัน” ท่านตอบว่า “ผมไม่ทราบ แต่มั่นใจว่าในสงครามโลกครั้งที่สี่ มนุษย์จะรบกันด้วยก้อนหินและธนู” และอีกครั้งหนึ่งท่านพูดว่า “สงครามโลกครั้งที่สามนั้นได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองยังไม่จบโน่น”
ผมประทับใจในประโยคหลังสุดนี่แหละครับ สงครามโลกครั้งที่สามได้เกิดมานานแล้ว และยังไม่จบเสียด้วย และเมื่อได้เห็นข้อความในแผ่นโปสเตอร์ดังกล่าว ผมถูกใจมากๆ ถ้าพูดกันตามสำนวนคนปักษ์ใต้ว่า “ถูกรัดดวง” หรือ “โดนใจอย่างแรง”
ผมไม่มีเวลาถามกูเกิลว่า ในสงครามโลกทั้งสองครั้งมีคนเสียชีวิตจำนวนเท่าใด แต่กล่าวเฉพาะคลื่นความร้อนที่เพิ่งผ่านทวีปเอเชียไปหยกๆ คราวนี้ได้ทำให้ชาวอินเดียเสียชีวิตไป 2,300 คน ยังไม่นับปากีสถาน และถ้าใช้ตัวเลขในช่วงปี 2000 ถึง 2014 พบว่า เฉพาะชาวเอเชียเสียชีวิตไปกับภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งเป็น “สงครามโลกคาร์บอนไดออกไซด์” ไปแล้วถึง 7 แสนคน น่าจะมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในสงครามโลกทั้งสองครั้งรวมกัน ภัยแล้งในบ้านเราเองก็รุนแรงมากเป็นประวัติการณ์
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ได้ตรัสถึงปัญหาผู้อพยพจากภัยสงครามให้ชาวอเมริกันยอมรับผู้อพยพซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก และเป็นโอกาสหากินของผู้ค้ามนุษย์ แต่ Elon Musk มหาเศรษฐี และนักธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนชาวอเมริกันกล่าวได้อย่างน่าสนใจ (หรือถูกรัดดวง) ว่า
“ปัญหาผู้อพยพในวันนี้อาจจะเป็นตัวชี้วัดเล็กๆ อันหนึ่งเท่านั้นในอนาคตอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเราไม่ลงมือทำอะไรเลยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปัจจุบันนี้ผู้อพยพมีจำนวนแค่หลักล้านคน แต่ในอนาคตนักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะมีเป็นหลักร้อยล้านคน และมีความรุนแรงกว่านี้ด้วย”
มหาเศรษฐีผู้มีวิสัยทัศน์ยังกล่าวต่อไปว่า “ในอีก 20, 30 หรือ 40 ปีข้างหน้า คุณจะตอบลูกหลานของเราอย่างไร เมื่อเขาถามว่า ทำไมคนรุ่นก่อนไม่ทำอะไรเลย” บทความอีกชิ้นหนึ่งที่เพิ่งออกมาเมื่อวันที่ 25 กันยายน (โดย Lorraine Chow, Ecowatch) ได้ความว่า ประเทศสวีเดน ได้ประกาศว่า “สวีเดนจะเป็นหนึ่งในประเทศแรกของโลกที่ปลอดพลังงานฟอสซิล” ผู้เขียนได้อ้างถึง Science Alert แล้วสรุปว่า “คำประกาศดังกล่าวเป็นผลมาจากประเทศสวีเดนได้รับความเดือดร้อนจากคลื่นความร้อนที่รุนแรงสุดๆ ในช่วงฤดูร้อนที่เพิ่งผ่านมา รวมทั้งไฟป่าที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ รัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะปกป้องพลเมืองจากผลกระทบของสภาวะโลกร้อนในอนาคต”
ในการนี้รัฐบาลได้วางแผนที่จะหยุดพลังงานฟอสซิล (ซึ่งเป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้เกิดโลกร้อน) โดยในปีงบประมาณ 2016 ได้จัดสรรเงิน จำนวน 4,500 ล้าน kronorหรือ 546 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่พลังงานหมุนเวียน ในจำนวนนี้จะใช้ไปกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ปีละ 390 ล้าน kronor ในระหว่างปี 2017 ถึง 2019 และอีก 1 พันล้าน kronor จะใช้ไปกับการปรับปรุงบ้านพักอาศัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการใช้พลังงาน
พูดมาถึงตอนนี้ ถ้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เงินสัก 2-3 พันล้านบาท แล้วจ้างให้นักศึกษารณรงค์เรื่องการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ คล้ายๆ กับตอนรณรงค์ประชาธิปไตยเมื่อตุลาคม 2516 คงจะทำให้เงินหมุนไปได้เร็ว และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ไม่น้อยเลย แต่เขาคงไม่ทำหรอกเพราะพ่อค้าพลังงานฟอสซิลใหญ่กว่ารัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย
ผมได้เคยเล่าในคอลัมน์นี้ว่า มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เรียกว่า “ถอนการลงทุนจากพลังงานฟอสซิล (Divest from Fossil Fuels)” กลุ่มนี้ทำงานได้ผลมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ยุคสงครามโลกคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะเขาหวังพึ่งผู้นำประเทศไม่ได้ เขาจึงรวมตัวกันเอง สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ก็เป็นพันธมิตรของกลุ่มดังกล่าวด้วย
เมื่อเดือนกันยายน 2014 มีองค์กรเข้าร่วม 181 องค์กร 656 บุคคล มีการถอนการลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์ แต่หนึ่งปีผ่านไป เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกระจายไปทั่วโลก โปรดดูจากแผนที่นะครับโปรดสังเกตว่ามีประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ แต่ยังไม่มีในประเทศไทยครับ
จำนวนองค์กรเพิ่มขึ้นเป็น 430 หรือกว่า 2 เท่าตัว จำนวนเงินที่ถอนการลงทุน 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นถึง 560 เท่าตัว
หลายคนอาจจะยังไม่เชื่อว่า พลังงานแสงอาทิตย์มีศักยภาพมากพอที่จะตอบสนองความต้องการใช้ได้ แต่ลองดูนี่ครับ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัย Stanford พบว่า ในปี 2050 มีความเป็นไปได้ที่รัฐแคลิฟอร์เนียจะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% จากพลังงาน 3 ชนิด คือ ลม น้ำ และแสงแดด โดยที่พลังงานแสงอาทิตย์มีส่วนร่วมถึง 55% ดูภาพประกอบนะครับ
นี่เป็นแค่การศึกษาและในอีก 35 ปีข้างหน้า แต่เมื่อปี 2014 ประเทศเยอรมนีใช้พลังงานทั้ง 3 อย่างไปแล้วถึง 19.1%, http://www.volker-quaschning.de/datserv/ren-Strom-D/index_e.php)
ผมเชื่อมั่นมากๆ ว่า กระแสของโลกต้องเดินไปในแนวทางนี้อย่างแน่นอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมเคยกล่าวเล่นๆ แต่แฝงไว้ด้วยหลักวิชาการว่า “ผมไม่มั่นใจว่าโลกนี้จะมีศตวรรษที่ 22 หรือไม่”
ผมยังจำคำพูดของพ่อผมเองได้ดี เมื่อเกือบ 60 ปีก่อน หลังจากพ่อกลับมาจากการรักษาตัวที่กรุงเทพฯ พ่อได้เล่าให้เพื่อนบ้านฟังอย่างตื่นเต้นว่า “ที่กรุงเทพฯ แม้แต่น้ำล้างก้นให้ลูกสักขันก็ยังต้องซื้อ” ผมจำได้ว่าชาวบ้านซึ่งเป็นชาวชนบทรับฟังอย่างไม่ค่อยจะเชื่อ ผมเองก็ยังเล็กเกินไปที่จะเถียง แต่วันนี้มันเป็นจริงไปเกือบทั่วประเทศแล้วอ้อ ขอแถมอีกสักนิด เมื่อเกือบ 90 ปีก่อน พ่อถูกสุนัขบ้ากัด ต้องเดินเท้าเป็นระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร เพราะไม่มีถนน เพื่อไปฉีดยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่โรงพยาบาลสงขลาตามคำบัญชาของปู่
เรื่องสงครามโลกคาร์บอนไดออกไซด์ก็เถอะ มันได้เกิดขึ้นแล้ว หลังจากที่ไอน์สไตน์เสียชีวิตไปแล้วหลายปี มันเพิ่งเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อ 30 ถึง 40 ปีนี้เอง แต่เราไม่ค่อยได้สังเกตกัน ไม่เชื่อดูก็ข้อมูลจากกราฟสิครับ
ขอบคุณนะครับที่ได้กรุณาอ่านจนจบ ผมเองก็เขียนครบทุกสัปดาห์ติดต่อกันอย่างน้อยก็ 9 เดือนเต็มตามคำขอร้องของผู้อ่านสองท่านซึ่งผมเองก็ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว