xs
xsm
sm
md
lg

"สมคิด"ขึ้นเวทีปลุกความเชื่อมั่น ยันศก.ไม่วิกฤตเหมือนปี40

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"สมคิด"ขึ้นเวที กกร. เรียกความเชื่อมั่น ยันเศรษฐกิจไทยไม่เกิดวิกฤต ต่างจากปี 40 มาก ขออย่ากังวลเกินเหตุ รับที่ชะลอตัว เหตุสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งออกถดถอย รับใบสั่งนายกฯ เข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าครม.สัปดาห์หน้า เน้นดูแลผู้มีรายได้น้อย และช่วย SMEs พร้อมวางรากฐานประเทศระยะยาว ยึดเศรษฐพอเพียงเป็นแนวทาง เล็งฟื้น OTOP วิสาหกิจชุมชน ปั้นแบรนด์ไทย เชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรมและเร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยในการบรรยายพิเศษ "นโยบายเศรษฐกิจและทิศทางประเทศไทย" จัดโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอชน 3 สถาบัน (กกร.) วานนี้ (27 ส.ค.) ว่า เศรษฐกิจไทยไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจแน่ เมื่อเทียบกับวิกฤติปี 2540ยังห่างไกล และต่างกัน แต่ที่ชะลอตัว เพราะความกังวลจากภาวะแรงซื้อของคนส่วนใหญ่ในประเทศถดถอยจากสินค้าเกษตรตกต่ำ การส่งออกที่ถดถอยจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จึงกระทบมายังวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs)

ทั้งนี้ ปัญหาหลักของไทย เกิดจากขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศถดถอย เพราะการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) พึ่งส่งออกมากไป สิ่งเหล่านี้ต้องแก้ไขใหม่ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ จะเน้นดูแลใน 2 เรื่องหลัก คือ 1.มาตรการระยะสั้น เพื่อช่วยเหลือคนมีรายได้น้อยและ SMEs และ 2.การวางรากฐานประเทศในอนาคต

"การส่งออกคิดเป็น 60% ของ GDP สิ่งนี้ไม่ถูกต้อง เมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา เศรษฐกิจจึงส่อแววจะอ่อนแอ เราต้องสร้างใหม่ และเตรียมอนาคตข้างหน้า อะไรที่ต้องแก้ ก็ต้องรีบ และสร้างในสิ่งที่ควรสร้าง อย่ากังวลจนเกินเหตุ แต่ก็อย่าประมาท ซึ่งผมเข้าพบนายกฯ ท่านก็ยืนยันให้ทำ 2ภารกิจดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วนในการดูแลคนที่มีรายได้น้อยที่กำลังลำบาก"นายสมคิดกล่าว

ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าจะมีการนำเสนอ ครม. ในเรื่องของมาตรการทางการคลัง ซึ่งยังคงไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ แต่จะเน้นดูแล 2 ส่วนสำคัญ คือ 1.กลไกเงินลงทุนที่จะต้องไปถึงชาวบ้านให้เร็วที่สุด 2.สร้างความเข้มแข็งให้กับชาวบ้านที่สามารถช่วยเหลือตนเองให้เข้มแข็งโดยยึดเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ

ขณะเดียวกัน จะมีการผลักดันจูงใจการใช้งบประมาณขนาดเล็กให้ออกมาเร็วสุดในช่วง 2-3 เดือน เพื่อสร้างการลงทุนและจับจ่าย รวมถึงมาตรการช่วยเหลือ SMEs ซึ่งในระยะแรก จะออกมาในลักษณะการบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องสภาพคล่อง โดยมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปดูแลเร่งด่วนร่วมกับสถาบันการเงิน

นายสมคิดกล่าวว่า สำหรับมาตรการในการวางรากฐานประเทศในอนาคต จะต้องเร่งขจัดอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะด้านกฏหมาย และขจัดการทำงานไม่มีประสิทธิภาพออก เพื่อที่จะทำให้เกิดการขยายการลงทุน โดยภาระกิจที่จะต้องเร่งสร้าง คือ

1.การกลับมาเน้นสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศให้มากขึ้นจากที่พึ่งการส่งออก เพราะระยะ 4-5 ปี จากนี้ไป เชื่อว่าเศรษฐกิจประเทศขนาดใหญ่ของโลก จีดีพีคงจะไม่โตเกิน 5% ดังนั้น จึงต้องเน้นพัฒาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นทั้งหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด โดยมุ่งที่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวนำร่อง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับกลไกกองทุนหมู่บ้านให้เกิดศักยภาพในการสร้างวิสาหกิจชุมชน ต้องพัฒนาสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (OTOP) โดยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด ผู้ว่าจังหวัดจะต้องมีบทบาทมากขึ้นเป็นต้น

2.ต้องโฟกัสการสร้างแบรนด์สินค้าไทย ซึ่งเรื่องนี้มอบให้กระทรวงพาณิชย์ไปดำเนินการในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ต้องพัฒนาให้เป็นการเชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster) และกำหนดโปรดักส์แชมเปี้ยน รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรม 7 อุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ ไอที อาหาร พร้อมดึงมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยและระดับโลกเข้ามาร่วมมือ เพื่อพัฒนาบุคคลากรในการรองรับการพัฒนาเหล่านี้ และต้องสร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่ให้มากขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามา ส่วนการลงทุนขนาดใหญ่จะต้องร่วมกันระหว่างเอกชนและรัฐ รวมถึงรัฐวิสาหกิจ ต้องปฏิรูปตลาดเงินและตลาดทุนให้โปร่งใส เป็นต้น

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน กกร.กล่าวว่า เอกชนฟังแล้วรู้สึกเห็นชัดถึงนโยบายมากขึ้น แต่ความเชื่อมั่นต้องใช้เวลา 3-6เดือน สิ่งที่ต้องการเสนอ คือ ไทยมีจุดแข็งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงควรที่จะจูงใจการลงทุนในรูปแบบClusterที่จะเชื่อมไปยังตลาด AEC เหล่านี้

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เอกชนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจ และหากจะสร้างเศรษฐกิจภายในให้เข้มแข็ง ผู้นำชุมชนเองควรจะมีแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนให้มากขึ้นแทนการรอแต่งบประมาณจากรัฐเพียงด้านเดียว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เอกชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หลังจากที่ได้รังฟังนโยบายจากนายสมคิด และต้องการเสนอเรื่อง SMEs ที่ขณะนี้ยังมีเป็นจำนวนมากที่เสียภาษีไม่ถูกต้อง จึงเห็นว่าควรปรับโครงสร้างภาษีให้เหมาะสม ขณะเดียวกันควรส่งเสริมสินค้าไทย หรือ Made in Thailand เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น