รองศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
Email: pongpiajun@gmail.com
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
Email: pongpiajun@gmail.com
ผมกำลังเขียนบทความนี้ขณะที่กำลังเข้าร่วมการประชุมวิชาการในระดับนานาชาติด้าน ไดออกซิน หรือ Dioxin 2015 ที่กรุงเซาเปาโล ประเทศบราซิล ซึ่งจัดว่าเป็นหนึ่งในการรวมตัวของนักวิชาการที่ทำวิจัยเกี่ยวกับสารอินทรีย์ย่อยสลายยากที่ใหญ่หรือสาร POPs (Persistent Organic Pollutants) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกรายการหนึ่ง ในช่วงเกือบหนึ่งสัปดาห์หลังจากเกิดเหตุก่อวินาศกรรมที่ราชประสงค์สังเวยชีวิตประชาชนไปกว่า 20 รายและบาดเจ็บอีกนับร้อย คงไม่ต้องกล่าวถึงผลกระทบเชิงลบที่มีต่อภาพลักษณ์ทางด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่งก็ได้แต่เอาใจช่วยฝ่ายความมั่นคงให้เร่งล่าตัวคนร้ายมาดำเนินคดีทางกฏหมายโดยเร็วพร้อมกับขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับญาติของผู้ที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุโศกนาฏกรรมนี้อีกครั้ง
เป้าหมายหลักของการก่อการร้ายคือการสร้างความหวาดกลัวให้กับสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการวางระเบิด ยิงกราด จับเฉลยมาตัดศีรษะ จับถ่วงน้ำแล้วอัดคลิปวิดีโอเผยแพร่ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค ฯลฯ พฤติกรรมต่างๆเหล่านี้ล้วนมุ่งเป้าไปที่ผลทางด้านจิตวิทยาด้วยกันทั้งสิ้น พวกเขาพยายามทุกวิถีทางที่จะแย่งพื้นที่สื่อเพื่อให้เป็นจุดสนใจของผู้คนมากที่สุด จนมันได้กลบข้อเท็จจริงหลายประการที่เหล่าหน่วยงานหรือองค์กรสากลได้พยายามตีฆ้องร้องป่าวให้คนส่วนใหญ่ตื่นตัวและหันมาตระหนักกับ “มัจจุราชเงียบ” ที่ร้ายแรงกว่าผู้ก่อการร้ายหลายเท่าแต่มันกลับอยู่ใกล้ตัวเรามากและแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเราเลยก็ว่าได้เพราะ
*มันซ่อนอยู่ในฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กจิ๋ว หรือตามศัพท์ทางการที่นักวิชาการขนานนามมันว่า PM2.5 หรือ PM10
*มันคือไอระเหยที่ออกมาจากโซฟาในบ้าน อาคารสำนักงาน เบาะรถยนต์ พลาสติกโครงคอมพิวเตอร์
*มันจะอุบัติขึ้นมาทันทีที่เกิดการสันดาปที่ไม่สมบูรณ์จาก เชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทต่างๆไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน ถ่านหิน หรือแม้แต่ ชีวมวลจากการเกษตร และ ขยะประเภทต่างๆ
และเราจะพบมันได้ทุกเมื่อเพราะมันอยู่ในอากาศที่เราหายใจเข้าออกตลอดเวลาทั้ง “ใน” และ “นอก” อาคาร ไม่ว่าท่านจะไปออกกำลังกายวิ่งตามสนามกีฬาหรือสวนสาธารณะ เดินทอดน่องช้อปปิ้งในห้างหรู หรือแม้แต่ช่วงเวลาที่พยายามอย่างสุดฤทธิ์ในการฝ่าฝูงรถติดให้ออกจากใจกลางกรุง
จากรายงานของสำนักงานวิจัยโรคมะเร็งสากล หรือ IARC (International Agency for Research on Cancer) ซึ่งเป็นองค์กรหน่วยย่อยหนึ่งขององค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) มีสำนักงานอยู่ที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส และทำหน้าที่หลักในการพัฒนา สนับสนุน การวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “โรคมะเร็ง” เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้คนทั่วโลก และมีแนวโน้มว่าจำนวนจะเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆด้านโดยล่าสุดในปี พ.ศ. 2555 จำนวนของผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั่วโลกมีจำนวน 8.2 ล้านคนและมีแนวโน้มว่าในปี พ.ศ. 2573 จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนถึง 13 ล้านคนอีกด้วย สอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขที่ตอกย้ำว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายสูงเป็นอันดับ 1 ของคนไทย ต่อเนื่องมานานกว่า 13 ปี นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมาโดยคร่าชีวิตผู้คนกว่า 60,000 รายต่อปี หากจะกล่าวถึงปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งตามที่ทราบกันดีว่ามีอยู่สามส่วนนั้นคือ “สิ่งแวดล้อม” “พฤติกรรม” และ “พันธุกรรม” โดยสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้คือสองห้วข้อแรกและเป็นส่วนที่ทางภาครัฐควรสนับสนุนและรณรงค์ให้มีการทำกิจกรรมสร้างจิตสำนึกกันอย่างต่อเนื่อง เสมือนหนึ่งเป็นการตัดไฟแต่ต้นล้มแทนที่จะแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุ ทุ่มงบประมาณไปกับการรักษาพยาบาลโรคมะเร็งซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เหตุใดเราจึงไม่ยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีซึ่งนอกจากจะเป็นการขับเคลื่อนแนวคิดด้าน เวชศาสตร์การป้องกัน (Preventive Medicine) หรือศาสตร์ที่เน้นหนักไปในเรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทนการรักษาโรค เท่ากับเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขในโรงพยาบาลไปในเวลาเดียวกัน?
ประเด็นที่สาธารณะควรตระหนักให้มากขึ้นนั้นคือภัยเงียบที่มาจากการได้รับสารไดออกซิน เนื่องจากมันเป็นสารพิษที่มีฤทธิ์ในการ
• ก่อให้เกิดมะเร็ง
• สร้างความผิดปกติต่อระบบสืบพันธุ์
• เป็นพิษต่อภูมิคุ้มกันและระบบประสาท
• รวมทั้งความผิดปกติในทารก
ที่สำคัญคือเมื่อมันได้เข้าไปในร่างกายแล้ว ยากที่จะถูกขับออกมาด้วยคุณสมบัติที่เป็น ไฮโดรฟอบิก (Hydrophobic) ซึ่งหมายถึงเป็นสารเคมีที่ไม่ชอบน้ำหรือละลายในน้ำได้ไม่ดี เลยทำให้ สารไดออกซิน ส่วนใหญ่มักสะสมอยู่ในชั้นไขมันโดยเฉพาะมนุษย์ซึ่งยืนอยู่บนยอดปิระมิดของห่วงโซ่อาหารย่อมได้รับปริมาณการสะสมมากที่สุดเมื่อเทียบกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆในระบบนิเวศ ความน่ากลัวที่ร้ายแรงยิ่งกว่าคือผลร้ายที่ได้รับอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวท่านโดยตรง แต่มันอาจกระทบถึงอัตราการตายที่สูงของทารกในครรภ์ การพัฒนาการที่ช้าผิดปกติของทารกแรกเกิด การที่ทารกมีโครงสร้างและการทำงานของอวัยวะและเนื้อเยื่อบางประเภทที่ผิดปกติ หรือขั้นร้ายสุดคือมีรูปร่างผิดปกติไม่สมประกอบ!! ในกรณีที่ท่านได้รับสารไดออกซินในระดับความเข้มข้นที่ไม่สูงมาก ความเลวร้ายที่ได้กล่าวไปแล้วในเบื้องต้นอาจไม่เกิดขึ้นกับตัวท่านโดยตรง แต่มันจะรอเวลาเพื่อส่งมอบคำสาปไปยังบุคคลที่ท่านรักและห่วงแหนมากที่สุดนั้นคือ บุตรหลานของท่านเอง!
แล้วเราจะจัดการกับมันอย่างไรได้บ้าง? ตอนต่อไปผมจะเจาะลึกในประเด็นนี้ครับ
รองศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ผู้จัดการโครงการการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคนิคที่ดี่สุดและแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับหน่วยงานที่ใช้พลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและหม้อต้มไอน้ำอุตสาหกรรมในประเทศไทย องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ
กรรมการที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติมลพิษทางอากาศ ประจำสถาบันเทคโนโลยีเวสเซ็กส์ สหราชอาณาจักร
นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมโลก สภาวิทยาศาสตร์สาธารณรัฐประชาชนจีน เมืองซีอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
Email: pongpiajun@gmail.com
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ผู้จัดการโครงการการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคนิคที่ดี่สุดและแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับหน่วยงานที่ใช้พลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและหม้อต้มไอน้ำอุตสาหกรรมในประเทศไทย องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ
กรรมการที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติมลพิษทางอากาศ ประจำสถาบันเทคโนโลยีเวสเซ็กส์ สหราชอาณาจักร
นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมโลก สภาวิทยาศาสตร์สาธารณรัฐประชาชนจีน เมืองซีอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
Email: pongpiajun@gmail.com